วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2552

ปัญหาตะกอนลอยในถังตกตะกอน


ระบบบำบัดน้ำเสียขั้นที่สอง (Secondary Treatment) ที่มีใช้กันอยู่แพร่หลายในบ้านเราคงหนีไม่พ้นระบบบำบัดน้ำเสียทางชีวภาพแบบเติมอากาศ ชนิดระบบตะกอนเร่งหรือ Activated Sludge เนื่องจากเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพในการบำบัดสูง(มากกว่า 90%) แต่เนื่องจากกลไกการทำงานหลักจะใช้จุิลินทรีย์ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ที่มีอยู่ในน้ำเสีย (ใช้จุลินทรีย์กำจัดความสกปรกในน้ำเสีย) ซึ่งผมมักจะบอกใครๆเสมอว่าถ้าเปรียบเทียบจุลินทรีย์แล้วผมว่ามันก็คล้ายคนเรานี่แหละมีอะไรซับซ้อนพอกันแต่คงไม่วุ่นวายเท่า คนเราทานข้าวเป็นอาหาร จุลินทรีย์ก็ทานน้ำเสียเป็นอาหาร มีเกิดแก่เจ็บตายเหมือนกันและก็มีความละเอียดอ่อนต้องทำความเข้าใจพอๆกัน ดังนั้นคนที่ควบคุมดูแลระบบบำบัดน้ำเสียชนิดนี้นอกจากที่จะต้องเข้าใจกระบวนการการทำงานของระบบแล้วจะต้องเข้าใจการทำงานของจุลินทรีย์ด้วย แต่วันนี้คงไม่ได้พูดเรื่องจุลินทรีย์ นะครับ 555 (ไว้วันหลังจะหาเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของจุลินทรีย์มาฝากแล้วกัน) เข้าเรื่องดีกว่า ระยะหลังนี้ได้มีโอกาสไปตรวจสอบสำรวจระบบบำบัดน้ำเสียชนิด Activated Sludge มาหลายที่และปัญหาที่เจอบ่อยและดูแล้วจะเจอกันทุกที่เพียงแต่ที่ใดจะมีปัญหามากน้อยต่างกันเท่านั้นเอง ปัญหานั้นคือ "ปัญหาตะกอนลอยภายในถังตกตะกอน" ซึ่งถ้าจะพูดถึงสาเหตุของปัญหาแล้วจะบอกว่ามีอยู่ด้วยกันหลายอย่าง แต่วันนี้ขอหยิบยกมาซักประเด็นแล้วกัน
โดยปัญหาตะกอนที่พบในถังตกตะกอนสาเหตุหนึ่งที่พบกันมากคือการที่เราควบคุมการนำตะกอนภายในถังตกตะกอนไปทิ้งน้อยเกินไปทำให้เกิดการสะสมของตะกอนที่ก้นถังเมื่อถึงจุดหนึ่งจะเกิดก๊าซไนโตรเจนขึ้นและก๊าชเหล่านี้แหละก็จะพาตะกอนที่ก้นถังให้ลอยขึ้นมา ตอนเริ่มต้นก็จะไม่มากเท่าไหร่แต่ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขตะกอนก็จะสะสมที่ผิวหน้าในปริมาณที่มากขึ้น และก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพน้ำทิ้งที่ออกจากระบบบำบัดน้ำเสียซึ่งจะสูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งค่า BOD,SS(ค่าตะกอนแขวนลอยในน้ำ) เหล่านี้เป็นต้น สำหรับการแก้ปัญหานะครับ


สมมติถ้าเป็นอย่างรูปข้างบนที่มีชั้นตะกอนหนามากก็ต้องตักตะกอนที่ผิวหน้าออกให้หมดจากนั้นก็ให้ระบายตะกอนภายในถังตกตะกอนออกให้หมด แล้วเริ่มควบคุมกันใหม่นะครับโดยให้ควบคุมอัตราการหมุนเวียนตะกอนกลับจากบ่อตกตะกอนไปยังบ่อเติมอากาศและปริมาณตะกอนที่จะนำไปทิ้ง โดยสามารถคิดคำนวณได้ดังนี้
Q (R) = {Q (W) x MLVSS(A)} /{MLVSS (R) - MLVSS(A)}

Q (E) = {MLVSS(A) x Vol.(A)} /{Sludge Age x MLVSS(R)}

โดยที่
Q (R) = อัตราการสูบตะกอนย้อนกลับ (ลบ.ม./วัน)
Q (E) = อัตราการสูบตะกอนทิ้ง (ลบ.ม./วัน)
Q (W) = อัตราการไหลของน้ำเสียเข้าระบบ (ลบ.ม./วัน)
MLVSS(A) = ความเข้มข้นของตะกอนจุลินทรีย์ภายในบ่อเติมอากาศ (มก./ลิตร)
MLVSS (R) = ความเข้มข้นของตะกอนจุลินทรีย์ของตะกอนย้อนกลับ (มก./ลิตร)
Vol.(A) = ปริมาตรของบ่อเติมอากาศ (ลบ.ม.)
Sludge Age = อายุตะกอนจุลินทรีย์ในระบบ (วัน)

จากข้างต้นจะเห็นว่าค่าต่างๆที่จะใช้เพื่อการคำนวณหาปริมาณของตะกอนที่จะสูบกลับไปยังบ่ิอเติมอากาศและตะกอนที่จะต้องสูบไปทิ้งนั้นต้องอาศัยค่าจากการตรวจวัดสภาพต่างๆของระบบรวมทั้งค่าที่ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่การออกแบบ ซึ่งหากไม่ทราบก็คงต้องคำนวณย้อนกลับจากขนาดของบ่อที่สร้างไว้
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้วในการควบคุมระบบบำบัดน้ำเสียคงจะต้องดูสภาพต่างๆของทั้งระบบประกอบกันไป ไม่ว่าจะเป็น ปริมาณน้ำเสียที่เข้าระบบ, ค่าความสกปรกของน้ำเสีย (BOD,COD)และประสิทธิภาพการเติมอากาศ เหล่านี้เป็นต้น ดูแล้วเหมือนจะยุ่งนะ แต่ถ้าใส่ใจมันซักหน่อยก็ไม่มีอะไรยุ่งหรอก ไว้พบกันใหม่นะครับ

วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2552

ระบบดับเพลิงอัตโนมัติ FM-200

ระบบสารสะอาดดับเพลิงที่นิยมใช้กันในปัจจุบันนั้นมีด้วยกันหลายชนิดแต่ที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายนั้นคงจะเป็นสารที่ชื่อว่า "FM-200" หรือมีชื่อทางเคมีว่า Heptafluoropropane ซึ่งถือว่าเป็นสารที่มีประสิทธิภาพในการดับเพลิงสูงตัวหนึ่งและชื่อก็บ่งบอกแล้วว่าเป็นสารสะอาดดังนั้นจะพบว่าเรามักจะใช้ FM-200 สำหรับดับเพลิงที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่ที่ติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าอิเลคโทรนิคที่มีมูลค่าสูง และบริเวณพื้นที่ห้องที่มีความสำคัญๆ ได้แก่ ห้องคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ ห้องควบคุมระบบโทรคมนาคม หรือห้องที่เก็บสินค้าหรือทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง โดยเจ้า FM-200 นั้นจะไม่ทำให้อุปกรณ์และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย พูดกันภาษาชาวบ้านก็คือห้องไหนกลัวน้ำถ้าเกิดใช้เป็นระบบสปริงเกลอร์ดับเพลิงด้วยน้ำแล้วอาจทำให้เกิดความเสียหายในด้านทรัพย์สินก็เลือกใช้เป็นสารสะอาดดับเพลิง ส่วนค่าใช้จ่ายก็จะสูงขึ้นแต่ถ้าเทียบเรื่องราคาค่าติดตั้งระบบกับมูลค่าทรัพย์สินแล้วยังไงก็คุ้ม เนื่องจากเมื่ออาทิตย์ก่อนมีคนถามเรื่องเกี่ยวกับเจ้า FM-200 มาก็เลยถือโอกาสนำมาเล่าให้ฟังแต่ขอพูดในส่วนของส่วนประกอบของระบบและวิธีการทำงานแล้วกันส่วนวิธีการออกแบบใครสนใจก็ฝาก e-mail ไว้แล้วกันนะครับแล้วจะส่งไปให้อีกที

FM-200 จัดเป็นสารสะอาดดับเพลิง ประเภทสารฮาโลคาร์บอน (Halocarbon Agent) เพราะว่ามีฟลูโอลีนเป็นองค์ประกอบหลัก (CF3CHFCF3) สำหรับส่วนประกอบของระบบที่สำคัญๆนั้นได้แก่

1. ถังบรรจุแก๊ส (Gas Cylinder)


ตัวถังผลิตจาก Carbon Steel Alloy สีแดง ที่หัวถังจะต้องมีมาตรวัดแรงดัน (Pressure Gauge) พร้อมอุปกรณ์เช็คแรงดันในถัง (Low Pressure Supervisory Switch) นอกจากนี้จะต้องมีอุปกรณ์ปล่อยแก๊ส (Release Device) เป็นแบบ Gas Valve Assembly ซึ่งถูกออกแบบให้ทำงานเพื่อฉีดแก๊ส FM-200 โดยผ่าน Solenoid Valve เท่านั้น โดยถังบรรจุจะต้องวางอยู่ในตำแหน่งที่สะดวกต่อการตรวจสอบ ทดสอบและการบำรุงรักษา นอกจากนี้ควรอยู่ใกล้กับพื้นที่ป้องกันนั้นๆทั้งนี้เพื่อให้ง่ายต่อการทดสอบ และการตอบสนองในสภาวะฉุกเฉิน

2. ท่อและอุปกรณ์ประกอบ (Pipe and accessories)

โดยท่อ ข้อต่อ และวาล์วต้องทำจากวัสดุที่แข็งแรงทนทานและจะต้องทนความดันใช้งานได้ไม่น้อยกว่าความดันภายในที่เกิดขึ้นภายในถังบรรจุที่อุณหภูมิไม่น้อยกว่า 55 องศาเซลเซียส

3. หัวฉีดแก๊ส (Discharge Nozzle)


หัวฉีดถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถปล่อยสารดับเพลิงภายในเวลาไม่เกิน 10 วินาที หัวสารดับเพลิงจะทำด้วยวัสดุที่ทนการกัดกร่อน เช่นอลูมิเนียม,เหล็กกล้าไร้สนิมและทองเหลือง สามารถฉีดได้รอบตัว 360 องศา หรือ 180 องศา

4. ระบบตรวจจับ สั่งการและควบคุม
(Detection,Actuation and Control System)


การควบคุมการทำงานของระบบใช้ระบบตรวจจับแบบอัตโนมัติ ซึ่งนิยมใช้เป็นอุปกรณ์ตรวจจับควันซึ่งการสั่งการให้สามารถทำได้ทั้งระบบอัตโนมัติและด้วยมือ นอกจากนี้แล้วจะต้องมีระบบเตือนทั้งเสียงและแสง ก่อนที่แก๊สจะถูกฉีดออกมาจากถังบรรจุ โดยตู้ควบคุมจะควบคุมการทำงานของระบบด้วย Microprocessor ซึ่งจะควบคุมการทำงานของ Detector แบบ Cross Zone เสียงสัญญาณแจ้งเตือน,Manual Station,Pressure Switch และชุดสั่งการฉีดแก๊ส






สำหรับการทดสอบระบบนั้นเนื่องจากว่าสาร FM-200 ที่บรรจุในถังจะมีราคาค่อนข้างสูงจึงไม่มีการทดสอบโดยการฉีดแก๊สจริงแต่จะทดสอบในลักษณะฟังก์ชั่นการทำงานเสียเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ตรวจดูการตอบสนองของอุปกรณ์ตรวจจับ,การตรวจวงจรหลักทั้งหมดว่าตอบสนองถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เหล่านี้เป็นต้น (สำหรับฟังก์ชั่นการทำงานดูจากไดอะแกรมด้านล่าง)


(คลิกที่รูปเพื่อดูรายละเอียด)

นอกจากทดสอบฟังก์ชั่นการทำงานแล้วทุกๆระยะเวลาประมาณ 10 ปี จำเป็นจะต้องนำถังบรรจุไปทดสอบความสามารถในการรับแรงดันด้วย รวมถึงจะต้องมีการตรวจเช็คสภาพการใช้งานของอุปกรณ์ประกอบต่างๆ เช่น วาล์วและระบบท่อเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้แน่ใจว่าอุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้นั้นพร้อมใช้งาน ยกตัวอย่างเช่นในทุกๆ 3 เดือนจะต้องตรวจสอบมาตรวัดแรงดันในถังทุกใบหาพบว่าความดัน ณ อุณหภูมิ 21 องศาเซลเซียส ลดต่ำกว่า 360 psig จะต้องถอดถังใบนั้นมาชั่งน้ำหนักและอาจต้องทำการบรรจุสารใหม่ (หากพบว่าน้ำหนักของสารลดลงมากกว่า 5% หรือความดันลดลงมากกว่า 10% ต้องนำถังไปบรรจุสารใหม่)

สุดท้ายนี้อยากจะฝากไว้หน่อยว่าสำหรับในอนาคตอันใกล้นี้ (อาจจะไม่ใช่บ้านเรานะ) ระบบ FM-200 คงจะถูกแทนที่ด้วยสารดับเพลิงชนิดอื่นเนื่องจากถ้าจะดูจากคุณสมบัติของสารแล้วจะพบว่า FM-200 มีค่าศักยภาพในการทำให้โลกร้อน (Global Warming Potential; GWP.) ที่ค่อนข้างสูงคือประมาณ 3,800 (ของช่วงระยะเวลา 100 ปี) ซึ่งค่า GWP. เป็นค่าที่วัดเทียบต่อหน่วยของของศักยภาพในการทำให้โลกร้อนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ยิ่งค่ามากแสดงว่ามีผลต่อสภาวะโลกร้อนมาก) ซึ่งในหลายประเทศก็ได้มีการลดการใช้งานสารที่จะก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนโดยเป็นไปตามพิธีสารเกียวโต ที่ว่าด้วยความร่วมมือในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (สำหรับประเทศไทยนั้นอาศัยความสมัครใจในการเข้าร่วมโครงการ) แล้วถ้าไม่ใช้ FM-200 แล้วจะใช้อะไรดีละก็ต้องบอกว่าก็มีหลายระบบนะแต่ละอย่างก็มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป ก็แล้วแต่การใช้งานนะถ้าใครมีปัญหาปรึกษาว่าจะใช้อะไรดีก็เมล์มาคุยกันได้นะครับ

วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2552

อาคารเก็บสารเคมีขนาดเล็กต้องมีอะไรบ้าง

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีโอกาสไปตรวจสอบโรงงานอยู่ 3 แห่ง ก็ได้เห็นการจัดเก็บสารเคมีของแต่ละที่แตกต่างกันออกไป ก็ถือว่าดีนะ แต่ก็มีข้อแนะนำกันไปบ้างเล็กน้อย ก็เลยนำเรื่องอาคารเก็บสารเคมีมาฝากกันเสียหน่อย แต่วันนี้จะขอหยิบยก ในส่วนของสถานที่เก็บสารเคมีขนาดเล็ก สำหรับนำมาปรับใช้ เพื่อให้เห็นในภาพรวมและอุปกรณ์พื้นฐานที่จะต้องจัดให้มี ส่วนรายละเอียดที่เกี่ยวกับการเก็บรักษาสารเคมีและวัตถุอันตราย สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลกันได้ในส่วนของ (คู่มือการเก็บรักษาสารเคมีและวัตถุอันตราย) (ซึ่งเป็นประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม)

แต่ต้องขอบอกไว้ก่อนอย่างหนึ่งนะครับว่าที่จริงแล้วกรมควบคุมมลพิษ นั้นมีการจัดทำคู่มือเกณฑ์ปฏิบัติสำหรับสารเคมีสำหรับสถานที่เก็บสารเคมีขนาดเล็ก ไว้อยู่เหมือนกัน แต่ว่าคำจำกัดความของสถานที่เก็บสารเคมีขนาดเล็กในคู่มือระบุว่า " สถานที่เก็บสารเคมีขนาดเล็ก หมายถึง อาคารหรือสถานที่ที่เก็บสารเคมี เพื่อประโยชน์ในการใช้ ผลิต การจัดเก็บและการจำหน่าย ได้แก่ โกดังให้เช่า ร้านค้าส่ง และค้าปลีกสารเคมี หรือสถานที่เก็บสารเคมีขนาดเล็กที่ไม่เข้าข่ายตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 " ซึ่งจุดมุ่งหมายที่ออกคู่มือหลักเกณฑ์ขึ้นมาก็เพื่อให้ไว้เป็นเกณฑ์สำหรับอาคารที่ไม่เข้าข่ายการควบคุมตาม พ.ร.บ.โรงงาน แต่ที่ได้ศึกษาในรายละเอียดแล้วผมว่าหลายอย่างเหมือนกันนะ แต่อาจจะไม่เข้มเท่าและมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่เหมือนกันบ้างในบางรายการ ใครสนใจก็ไปหาอ่านกันได้นะครับ (คู่มือเกณฑ์ปฏิบัติสำหรับสถานที่เก็บสารเคมีขนาดเล็ก)
อย่างที่เกริ่นไว้ตั้งแต่ต้นแหละครับว่าวันนี้จะเอาเรื่องสถานที่เก็บสารเคมีขนาดเล็กมาฝาก ซึ่งสิ่งที่ต้องพิจารณาในจัดเตรียมนั้นมีรายการเบื้องต้นต่างๆ ได้แก่

1. สถานที่ตั้งและอาคารเก็บสารเคมี
โดยจะต้องเป็นสถานที่ที่สะดวกแก่การขนส่งและเข้าถึงได้เร็วเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ส่วนตัวอาคารจะต้องสร้างด้วยวัสดุไม่ติดไฟ พื้นอาคารก็จะต้องมั่นคงแข็งแรงไม่กักขังน้ำหรือลื่นซึ่งอาจเกิดอันตรายได้(ไม่อยู่ในบริเวณที่มีน้ำท่วมถึงได้)



2. การป้องกันการรั่วไหล
บริเวณพื้นที่จัดเก็บต้องมีท่อระบายน้ำทิ้งที่ระบายน้ำปนเปื้อนสารเคมีในกรณีเกิดการรั่วไหล หรือน้ำดับเพลิงที่ปนเปื้อนสารเคมีแยกออกจากท่อระบายน้ำฝน ซึ่งในเรื่องนี้เราอาจจะทำเป็นลักษณะเขื่อนกั้นและทำบ่อสูบไว้เพื่อจะได้นำเครื่องสูบน้ำมาสูบน้ำที่ปนเปื้อนไปกำจัดต่อไป สำหรับพื้นที่ที่เก็บสารเคมีที่ไม่ใช่ลักษณะอาคารปิด ก้ออย่าลืมดูแลบ่อเป็นประจำนะครับอย่าให้น้ำขังแล้วกัน เพื่อว่าจะได้พร้อมต่อการรับมือในกรณีเกิดการรั่วไหลขึ้น นอกจากนี้ต้องจัดให้วัสดุที่มีคุณสมบัติดูดซับของเหลวได้เพื่อดูดซับสารเคมีที่หกรั่วไหล เช่น ทราย หรือขี้เลื่อย เป็นต้น และที่สำคัญที่ขาดไม่ได้คือจะต้องจัดทำแผนปฏิบัติการในกรณีเกิดการรั่วไหลและฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง






3. การระบายอากาศ
ต้องมีการระบายอากาศที่เหมาะสมโดยพิจารณาการจัดเตรียมช่องระบายอากาศหรือพัดลมระบายอากาศแล้วแต่กรณีซึ่งกรณีที่ใช้พัดลมระบายอากาศจะเลือกอัตราการระบายอากาศอยู่ที่ 15-20Air Change และวัสดุของพัดลมควรใช้เป็นPVCเพื่อป้องกันการกัดกร่อนต่างๆ แต่ถ้าใช้เป็นแบบช่องระบายอากาศก็ให้มีพื้นที่เปิดของช่องระบายอากาศไม่น้อยกว่า15%ของพื้นที่อาคาร


4. อุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัย
ต้องติดตั้งเครื่องดับเพลิงและสารดับเพลิงที่เหมาะสมกับสารเคมีที่จัดเก็บ







5. ป้ายและอุปกรณ์ความปลอดภัย
บริเวณประตูทางเข้าภายในพื้นที่ต้องติดเครื่องหมายและสัญลักษณ์แสดงข้อความควรระวัง และสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตรายของสารเคมี ถ้าให้ดีก็ควรมีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลให้พนักงานได้สวมใส่ให้เหมาะกับสารเคมีที่จัดเก็บสำหรับในการปฏิบัติงาน ซึ่งก็ควรต้องดูความเหมาะสมของพื้นที่ประกอบกันด้วย รวมไปถึงอาจจัดให้มีที่อาบน้ำฉุกเฉินที่ล้างตาฉุกเฉินตามความจำเป็นและความเหมาะสมกับคุณสมบัติของสารเคมี


6. เอกสารความปลอดภัย
ให้แสดงข้อมูลความปลอดภัยเกี่ยวกับสารเคมี (MSDS) ให้พนักงานที่เกี่ยวข้องทราบรายละเอียดข้อมูลของสารเคมีแต่ละชนิดในส่วนของข้อมูลพื้นฐาน,ข้อควรระวังในขณะปฏิบัติงาน,การใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล,การปฐมพยาบาลเบื้องต้น,ข้อปฏิบัติกรณีหกรั่วไหลหรือเกิดเพลิงไหม้ โดยอาจจะจัดเก็บไว้ยังบริเวณพื้นที่เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน

และที่สำคัญอีกอย่างสำหรับบริเวณพื้นที่ที่จัดเก็บสารเคมีประเภทไวไฟ ต้องติดตั้งระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดป้องกันการระเบิด (Explosion Proof)



วันนี้ก็คงแค่นี้นะครับแต่ขอแจ้งข่าวดีไว้กับทุกคนที่ติดตามอ่าน Blog กัน ตอนนี้ผมได้ติดต่อเพื่อนๆหลายๆคนให้มาช่วยเขียนบทความที่เป็นประโยชน์มาให้พวกเราได้อ่านกัน เผื่อว่าจะเบื่อผมแล้ว 555+

วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2552

ว่าด้วยเรื่องประตูหนีไฟ

วันนี้มีเรื่องส่วนประกอบของเส้นทางหนีไฟมาฝากทุกๆคนครับ แต่ว่าคงไม่ได้พูดเรื่องทางหนีไฟต้องมีขนาดเท่าไหร่ บันไดต้องกว้างเท่าไหร่นะครับเพราะน่าจะทราบข้อมูลกันอยู่แล้วพอสมควร ว่าแล้วก้อเอาเรื่องประตูหนีไฟมาฝากเพื่อไว้เป็นข้อมูลกันดีกว่า เอ๊ะหรือว่าทราบกันหมดแล้ว ไม่เป็นไรครับลองอ่านดูนะครับ แต่ถ้าจะว่าไปแล้วส่วนประกอบของเส้นทางหนีไฟอย่างแรกที่เราจะต้องนึกถึงก่อนเลยก็คือประตูหนีไฟนี่แหละ แล้วถ้าเราจะต้องทำการปรับปรุงประตูหนีไฟเดิมที่มีอยู่ หรือว่าจะติดตั้งประตูใหม่เราต้องพิจารณาในรายละเอียดส่วนใดบ้างเพื่อที่จะได้ติดตั้งให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานที่กำหนด

ประเด็นแรก ขนาดประตูต้องมีขนาดเท่าไหร่

ถ้าจะพูดถึงกฎหมายจะพบว่ามีการพูดถึงขนาดของประตูหนีไฟอยู่หลายฉบับด้วยกัน ในแต่ละฉบับก็จะระบุขนาดที่แตกต่างกันไป เช่น กฎกระทรวงมหาดไทยฉบับที่ 47 (2540) ระบุว่าต้องมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 80 cm. สูงไม่น้อยกว่า 2.00 เมตร ส่วนกฎกระทรวงมหาดไทยฉบับที่ 33 (2535) ระบุว่าต้องมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 90 cm. สูงไม่น้อยกว่า 1.90 เมตร ยังไม่หมดแค่นี้ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการป้องกันและระงับอัคคีภัยในสถานประกอบการฯ ระบุให้ช่องทางผ่านสู่ประตูทางออกสุดท้ายภายนอกอาคารต้องมีความกว้างอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 110 cm. และสำหรับมาตรฐานการป้องกันอัคคีภัย ของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) กำหนดให้ประตูที่อยู่ในเส้นทางหนีไฟต้องมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 80 cm. แล้วคราวนี้เราจะใช้เท่าไหร่กันดีละ ก็ต้องบอกกันก่อนนะครับว่าแล้วแต่ความเหมาะสมจริงๆ ไม่ใช่ว่ากฎหมายเขียนมาเท่านี้ก็ต้องทำเท่านี้ เพราะการกำหนดขนาดของประตูหนีไฟแล้วตัวเลขที่กล่าวมาข้างต้นผมเรียกว่าตัวเลขขั้นต่ำที่กำหนดไว้จะเหมาะสมกว่าเพราะถ้าจะพิจารณาถึงขนาดของประตูหนีไฟให้ถี่ถ้วนแล้วคงต้องพิจารณาจากองค์ประกอบในด้านอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยไม่ว่าจะเป็นจำนวนเส้นทางหนีไฟทั้งหมดในพื้นที่ รวมถึงจำนวนคนที่เราต้องการจะอพยพออกจากพื้นที่อาคารด้วยว่ามีจำนวนคนเท่าไหร่ สำหรับในรายละเอียดทั้งหมดแล้วผมแนะนำให้หาอ่านจากมาตรฐานการป้องกันอัคคีภัย ของวสท. เพราะจะได้รายละเอียดที่ครบถ้วน แต่ว่าถ้าอาคารของเราไม่พิเศษมากกันเกินไป คือเป็นอาคารที่ไม่ใช่อาคารชุมนุมคน อาคารโรงงานที่มีความเสี่ยงสูง หรืออาคารสถานพยาบาล ประตูขนาดกว้าง 90 cm. สูง 2.00 เมตร ก็สามารถอพยพคนออกจากพื้นที่ได้ประมาณ 180 คน (อ้างอิงตามหัวข้อ 3.2.2 ในมาตรฐานการป้องกันอัคคีภัย)
ก็น่าจะเหมาะครับสำหรับการพิจารณาในเบื้องต้น ซึ่งก็เป็นขนาดมาตรฐานที่มีขายกันตามท้องตลาด

ประเด็นที่สอง ส่วนประกอบของประตูหนีไฟ

(คลิกที่รูปเพื่อดูรายละเอียด)

ลักษณะของประตูทนไฟที่เหมาะสมมีข้อพิจารณาต่างๆ ดังนี้
  • ทำจากเหล็ก ไม้ หรือวัสดุอื่นๆซึ่งมีแกนประตูเป็นฉนวนหรือวัสดุที่ช่วยให้มีอัตราการทนไฟตามต้องการ และผ่านการทดสอบตามมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ
  • ต้องติดตั้งอุปกรณ์ดึงปิดประตูได้เอง (Self-Closing Device)
  • ส่วนประกอบประตู รวมถึง วงกบ บานพับ อุปกรณ์ล็อคและอุปกรณ์ดึงปิดประตู ต้องเป็นวัสดุไม่ติดไฟและไม่ทำให้อัตราการทนไฟของประตูทนไฟลดลง
  • กรณีไม่มีธรณีประตูจะต้องมีช่องว่างระหว่างขอบประตูกับพื้นไม่มากกว่า 5 มิลลิเมตร และหากเป็นประตูที่ใช้เพื่อการป้องกันควันช่องว่างระหว่างขอบประตูกับวงกบต้องติดตั้งแถบกันควัน (Smoke Strip) ต้องมีช่องว่างระหว่างประตูกับวงกบไม่มากกว่า 3 มิลลิเมตร
  • สำหรับบันไดที่มีการอัดอากาศซึ่งต้องติดตั้งธรณีประตู ธรณีประตูต้องมีความสูงไม่เกิน 13 มิลลิเมตร และทั้งสองด้านต้องมีขอบที่มีความลาดเอียงอย่างน้อย 1:2 ยกเว้นธรณีประตูสูงน้อยกว่า 6 มิลลิเมตร
  • ช่องมองผ่านประตู ให้ทำด้วยกระจกเสริมลวดแต่ต้องมีขนาดพื้นที่ไม่เกิน 600 ตารางเซ็นติเมตรและไม่มีด้านหนึ่งด้านใดยาวเกินกว่า 40 เซ็นติเมตร
  • ประตูต้องผลักไปในทิศทางการหนีไฟ และเปิดกว้างได้ไม่น้อยกว่า 90 องศาและไม่กีดขวางเส้นทางอพยพ โดยความกว้างของบาร์ผลัก(Panic Hardware)ต้องมีขนาดไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของความกว้างของบานประตู และให้ติดตั้งที่ระดับไม่ต่ำกว่า 80-120 เซ็นติเมตร วัดจากระดับพื้น
  • กรณีต้องการให้ประตูเปิดค้างต้องใช้อุปกรณ์ช่วยดึงประตูเปิดและปิดกลับโดยอัตโนมัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
  • ประตูหนีไฟของอาคารสูงต้องสามารถเปิดย้อนกลับไปในทิศทางเดิมได้ (Re-Entry) อย่างน้อยทุกๆ 5 ชั้น

ประเด็นที่สาม อัตราการทนไฟของประตู


ให้พิจารณาเกณฑ์ในเบื้องต้น ดังนี้
  • ประตูต้องมีคุณสมบัติทนไฟโดยไม่มีการสูญเสียรูปทรงและไม่ส่งความร้อนสูงเกินไป ซึ่งปกติจะพบว่าภายในประตูจะบุฉนวนทนไฟทั่วทั้งบาน โดยฉนวนที่นิยมใช้ได้แก่ Rockwool (ฉนวนใยหิน) ซึ่งจะสามารถทนความร้อนได้สูงถึง 1,000 องศาเซลเซียส
  • ประตูทนไฟต้องมีอัตราการทนไฟไม่น้อยกว่าอัตราการทนไฟของผนังที่ประตูทนไฟนั้นติดตั้ง ยกเว้นว่าจะกำหนดให้เป็นอย่างอื่น (สำหรับบางจุดที่ระบุไว้ในมาตรฐาน วสท.)
  • อัตราการทนไฟของประตูหนีไฟ กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง ยกเว้นว่าจะกำหนดให้เป็นอย่างอื่น (สำหรับบางจุดที่ระบุไว้ในมาตรฐาน วสท.)
แต่ถ้าให้ดีก็เลือกใช้ที่อัตราการทนไฟ 2 ชั่วโมง รับรองว่าครอบคลุมแน่นอน

และที่สำคัญที่สุดสำหรับการเลือกประตูหนีไฟนะครับ คือต้องขอใบรับรองจากผู้ขายว่าผลิตภัณฑ์ได้ผ่านการทดสอบจากหน่วยงานหรือสถาบันที่เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือได้ ซึ่งบ้านเราเท่าที่ทราบก็มีที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันนี้แค่นี้ก่อนนะคราบ..........