วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ทำอย่างไรเมื่อลิฟต์ค้าง

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาไปเดินสำรวจห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง พอดีขึ้นลิฟต์พนักงาน ได้ยินเขาพูดกันว่าเมื่อวานลิฟต์ค้าง กว่าจะช่วยกันงัดได้ ก็เลยคิดๆอยู่ว่าจริงๆแล้วถ้าเราเจอสถานะการณ์อย่างนี้แล้วเราจะต้องทำอย่างไร พอดีได้อ่านวรสารของสมาคมลิฟต์แห่งประเทศไทย ฉบับหนึ่งซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนแนะนำไว้ในกรณีที่เราเจอลิฟต์ค้าง เห็นว่ามีประโยชน์ก็เลยเอามาฝากทุกคนกัน


ข้อควรปฏิบัติแก่ผู้ใช้งานอย่างถูกวิธี กรณีลิฟต์ค้าง

1. เมื่อลิฟต์ค้าง อย่าตกใจจนเกินเหตุ ควรตั้งสติให้ดี เพราะจะไม่มีอันตรายใดๆโดยเฉพาะระบบระบายอากาศที่เพียงพอ เนื่องจากจะมีการไหลเวียนของอากาศในบ่อลิฟต์กับห้องลิฟต์อยู่ตลอดเวลา

2. ในขณะที่ลิฟต์ค้าง ชุดไฟสำรองฉุกเฉินจะทำงานให้มีแสงสว่างเพียงพอ เพื่อให้กดปุ่มสัญญาณ EMERGENCY CALL ที่แผงปุ่มกด และสามารถติดต่อพูดคุยกับผู้ที่อยู่ด้านนอกได้

3. พยายามสังเกตชั้นที่ใกล้เคียงที่สุดในขณะที่ลิฟต์ค้าง เพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้ที่กำลังให้การช่วยเหลือ

4. จากนั้นให้รอเจ้าหน้าที่มาช่วยเหลือคุณให้ออกจากลิฟต์อย่างสะดวกและปลอดภัย

5. อย่าพยายามงัดประตูลิฟต์โดยพลการอย่างเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายได้

6. ห้ามผู้ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการช่วยเหลือคนติดลิฟต์กระทำการใดๆ อย่างเด็ดขาดเพราะการช่วยเหลือจำเป็นต้องทำตามหลักการและขั้นตอนที่ถูกต้อง

7. เจ้าหน้าที่ทำการช่วยเหลือ จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่ทางบริษัทฯ อบรมให้อย่างเคร่งครัด


ก็ลองจำไว้ปฏิบัติกันนะครับ แต่ผมว่าถ้ารอนานแล้วไม่มีใครมาช่วย จะห้ามไม่ให้งัดลิฟต์คงจะยากเหมือนกันนะ

วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2552

การตรวจเช็คการตกตะกอนของสลัดจ์ SV30


วันก่อนได้เขียนเรื่องการแก้ปัญหาเบื้องต้นสำหรับตะกอนลอยในถังตกตะกอนไว้ วันนี้ก้อเลยเอาเรื่องการตรวจสอบมาฝากกันดีกว่าเพราะว่าถ้าเราตรวจสอบพบปัญหาก่อนที่จะเกิดก็จะดีกว่าการแก้ไขจริงไหมครับ สำหรับวิธีการตรวจสอบนั้นมีวิธีง่ายๆ ที่ทำกันก็คือการตรวจวัดค่า SV30


SV30 เป็นค่าปริมาตรของสลัดจ์ที่อ่านได้จากการนำน้ำจากบ่อเติมอากาศมาตกตะกอนใน Imhoff Cone ขนาด 1,000 มล. (1 ลิตร) เป็นระยะเวลา 30 นาที ซึ่งค่าที่ได้จะสามารถนำมาประเมินลักษณะการตกตะกอนของสลัดจ์ได้ว่ามีสภาพอย่างไร โดยเมื่อระบบบำบัดน้ำเสีย (ระบบแบบ Activated Sludge) ทำงานปกติค่า SV30 จะมีค่าอยู่ระหว่าง 200-300 มล. นอกจากนี้ถ้าเราสังเกตการตกตะกอนของตะกอนระหว่างทดสอบ ก็สามารถทำให้ทราบปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาในเบื้องต้นได้ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

1. ลักษณะของสลัดจ์มีสีน้ำตาลเข้มตะกอนสามารถตกตะกอนได้เร็ว น้ำส่วนบนค่อนข้างใส และปริมาณสลัดจ์ มีค่าระหว่าง 200-300 มิลลิลิตร จากข้างต้นสรุปได้ว่าระบบทำงานเป็นปกติ

2. ลักษณะของสลัดจ์มีสีน้ำตาลเข้มมาก ปริมาณสลัดจ์ มีค่าระหว่าง 300-400 มิลลิลิตร จากข้างต้นสรุปได้ว่าระบบทำงานเป็นปกติ แต่สลัดจ์ภายในบ่อเติมอากาศค่อนข้างมากเกินไปจำเป็นต้องสูบตะกอนส่วนเกินไปกำจัดให้มากขึ้นเพื่อให้ค่า SV30 อยู่ระหว่าง 200-300 มิลลิลิตร

3. ลักษณะของสลัดจ์มีสีน้ำตาลเข้มและตกตะกอนได้เร็ว แต่เมื่อตั้งทิ้งไว้ 1-2 ชั่วโมง พบว่ามีสลัดจ์ลอยขึ้นที่ผิวหน้าน้ำ ซึ่งแสดงว่าเกิดปฏิกริยาดีไนตริฟิเคชั่น ภายในถังตกตะกอนอันเกิดจากมีการสะสมของสลัดจ์บริเวณก้นถังตกตะกอน จำเป็นต้องสูบตะกอนส่วนเกินไปกำจัดให้มากขึ้นเพื่อให้ค่า SV30 อยู่ระหว่าง 200-300 มิลลิลิตร

4. ลักษณะของสลัดจ์มีสีน้ำตาลและตกตะกอนช้า น้ำส่วนบนมีลักษณะขุ่น ลักษณะดังกล่าวอาจเกิดจากปริมาณน้ำเสียเข้าสู่ระบบมากเกินไป หรืออาจเกิดจากระบบการเิติมอากาศมีความบกพร่อง จำเป็นจะต้องลดการสูบสลัดจ์ส่วนเกินไปกำจัดเพื่อเพิ่มปริมาณสลัดจ์ในบ่อเติมอากาศ และให้ตรวจเช็คค่าปริมาณออกซิเจนละลายน้ำภายในบ่ิอเติมอากาศว่าเพียงพอหรือไม่ (ค่าปกติอยู่ที่ 1-2 มก./ลิตร)

5. ลักษณะของสลัดจ์มีสีน้ำตาลอ่อนและตะกอนตกช้า น้ำส่วนบนมีลักษณะขุ่น ลักษณะดังกล่าวมักพบตอนที่เริ่มมีการเดินระบบใหม่ๆ แต่ถ้าเป็นช่วงปกติแล้ว วัดค่า SV30 ได้ต่ำกว่า 200 มิลลิลิตร อาจเป็นเพราะว่า BOD Loading เข้าระบบต่ำเกินไป (ตรงนี้ให้ตรวจสอบกับค่าที่ออกแบบไว้)

ก็ลองเอาไปใช้ดูนะครับ ผมว่าค่า SV30 เป็นค่าที่ตรวจวัดได้ง่ายและบอกอะไรเราได้หลายอย่าง ที่จริงจะว่าไปแล้วการควบคุมดูแลระบบบำบัดน้ำเสียนั้นจะต้องตรวจวัดค่าพารามิเตอร์ในหลายๆตัว เพื่อที่จะได้นำมาประเมินระบบว่ามีปัญหาหรือมีสภาำพอย่างไร เหมือนอย่างกับไปหาหมอซึ่งการวัดไข้อย่างเดียวอาจไม่สามารถบอกอาการทั้งหมดได้ ต้องตรวจหลายๆอย่าง แต่ปัจจุบันใช่ว่าทุกที่จะมีความพร้อมในการตรวจวัดค่าต่างๆได้ครบเป็นประจำ แต่ถ้าจะให้ระบบมีประสิทธิภาพที่ดีในการทำงานผมว่าถ้าเป็นไปได้นำน้ำเสียไปตรวจวัดค่าพารามิเตอร์ เพื่อตรวจหาสภาพการทำงานของระบบบ้างก็ดีนะครับ อย่างเช่น ค่าออกซิเจนละลายน้ำ(DO) ค่าความเข้มข้นของตะกอนจุลินทรีย์ (MLSS) เหล่านี้เป็นต้น เพิ่มจากการน้ำทิ้งไปตรวจซึ่งเราจะต้องตรวจเป็นประจำอยู่แล้ว

วันพุธที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2552

กฎหมายใหม่เกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย

เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาทางกระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศกระทรวงฉบับหนึ่งมาเรื่อง การป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงาน พ.ศ.2552 และจากที่อ่านดูแล้วจะว่าไปผมว่าเกือบทุกโรงงานคงต้องทำเลยแหละ (ถ้าใครมีความเห็นอย่างไรก้อโพสต์มาคุยกันนะครับ) โดยวันนี้จะขอยกในประเด็นสำคัญสำหรับกรณีโรงงานที่เปิดดำเนินการอยู่ ว่าจะต้องมีอะไรเพิ่มเติมกันบ้างเพื่อให้สอดคล้องกับตัวกฎหมายที่ออกมาใหม่ เอาเป็นทีละประเด็นแล้วกัน

1. ภายในตัวอาคารโรงงานจะต้องจัดให้มีอุปกรณ์ตรวจจับและแจ้งเหตุเพลิงไหม้ครอบคลุมทั่วทั้งอาคารตามความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยการติดตั้งให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับ ซึ่งรายละเอียดในข้อนี้เจตนารมย์ของกฎหมายคือโรงงานที่อยู่ในข่ายที่กฎหมายนี้บังคับใช้จะต้องติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับควันหรือตรวจจับความร้อน รวมถึงอุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ด้วยมือ ซึ่งการเลือกใช้และการติดตั้งก็ให้เป็นไปตามมาตรฐานของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (ว.ส.ท.) มาตรฐานบ้านเราก็สากลนะครับเพราะสอดคล้องกับมาตรฐาน NFPA ใครอ่านข้อกฎหมายในหมวดนี้แล้วเห็นว่าอย่างไรก็แชร์กันได้นะครับ


2. โรงงานจะต้องจัดเตรียมเครื่องดับเพลิงมือถือ ขนาดบรรจุไม่น้อยกว่า 4.5 กิโลกรัม ส่วนการเลือกชนิดของเครื่องดับเพลิงก็ให้เหมาะสมกับประเภทของเชื้อเพลิงของแต่ละโรงงานนะครับ นอกจากนั้นระยะการติดตั้งจะต้องห่างกันไม่เกิน 20 เมตร และความสูงวัดจากส่วนบนสุดไม่เกิน 1.50 เมตร สำหรับข้อนี้ผมว่าแต่ละที่คงไม่น่าจะมีปัญหา


3. โรงงานจะต้องจัดเตรียมน้ำสำหรับดับเพลิงในปริมาณที่เพียงพอที่จะจ่ายให้กับอุปกรณ์ฉีดน้ำดับเพลิงต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 30 นาที โดยการติดตั้งให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับ สำหรับข้อนี้นะครับผมอึดอัดเล็กน้อยเพราะว่าถ้าฟันธงว่าให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำดับเพลิงและถังสำรองน้ำดับเพลิง ก็อาจจะมีข้อโต้แย้งกันได้ เอาเป็นว่าผมจะสอบถามไปที่หน่วยงานที่รับผิดชอบดูว่าข้อนี้เอายังไง แต่เบื้องต้นสำหรับโรงงานที่ไม่มีเครื่องสูบน้ำดับเพลิงนะครับ อย่างน้อยๆ ก็ต้องเตรียมถังสำรองน้ำดับเพลิงและหัวรับน้ำดับเพลิง ส่วนระบบจ่ายน้ำดับเพลิงจะเป็นอย่างไร แล้วจะมาบอกกันอีกทีนะครับว่าจะต้องติดให้เป็นไปตามมาตรฐาน NFPA เลยหรือเปล่า หรือว่าจะเป็นเครื่องสูบน้ำดับเพลิงขนาดเล็กก็เพียงพอสำหรับโรงงานที่อันตรายปานกลาง รวมถึงจะต้องติดตั้งตู้ฉีดน้ำดับเพลิงหรือหัวฉีดน้ำดับเพลิงในลักษณะใด


4. โรงงานที่มีสถานที่จัดเก็บวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นวัตถุที่ติดไฟได้ ที่มีพื้นที่ต่อเนื่องกันตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตร และสถานที่จัดเก็บวัตถุไวไฟ ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 14 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติ เช่นระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิง (Sprinkler System) สำหรับโรงงานไหนที่มีคลังสินค้า หรือที่จัดเก็บวัตถุไวไฟ ตามรายละเอียดข้างต้น ยังไงก็ต้องมีเครื่องสูบน้ำดับเพลิง


สำหรับโรงงานเก่าก็มีคร่าวๆ ประมาณนี้สำหรับรายละเอียดทั้งหมดลองอ่านดูนะครับ เกือบลืมอีกอย่างกฎหมายฉบับนี้ระบุว่าให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสามปีนับจากวันที่ประกาศฉบับนี้มีคับใช้ ซึ่งก็หมายถึงว่าโรงงานก็จะต้องแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2555

สำหรับใครที่จะติดตั้งระบบเพิ่มเติมก้อเมล์มาปรึกษาได้นะครับ ไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่ถ้าอยู่ในกรุงเทพฯ ขอเป็นข้าวซักมื้อแล้วกัน 5555

วันพุธที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2552

วาล์วต่างๆในระบบดับเพลิง

ในระบบดับเพลิงมีวาล์วหรืออุปกรณ์ประกอบสำหรับระบบอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบและจากที่ผ่านมาพบว่ามีการเลือกใช้งานไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดอยู่ทั่วไปทั้งมาตรฐานของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยเองหรือของมาตรฐานสากลอย่าง NFPA วันนี้เลยขอถือโอกาสชี้ประเด็นในจุดที่สำคัญๆมาให้ได้ดูกันเผื่อว่าถ้าจะทำการติดตั้งใหม่หรือปรับปรุงระบบจะได้เลือกใช้กันได้ถูกต้อง

1. วาล์วทางด้านดูดของเครื่องสูบน้ำดับเพลิง ให้ใช้เป็น OS&Y Gate Valve จุดประสงค์เพื่อให้ด้านดูดมีความเสียดทานน้อยที่สุด


2. วาล์วทางด้าน Test Line ของเครื่องสูบน้ำดับเพลิง ให้ใช้เป็น Butterfly Valve จุดประสงค์เพื่อให้สามารถปรับค่าอัตราการไหลได้สะดวก ในช่วงที่จะต้องทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องสูบน้ำดับเพลิง


3. วาล์วด้านจ่ายของระบบท่อน้ำดับเพลิง จะใช้ OS&Y Gate Valve หรือ Butterfly Valve ก็ได้โดยที่ Butterfly Valve จะใช้พื้นที่ติดตั้งน้อยกว่านอกจากนี้ราคาก็ยังถูกกว่าด้วยก็เลือกใช้กันตามสะดวกนะครับ


4. Floor Control Valve ส่วนของ Test&Drain จะใช้เป็น Gate Valve หรือ Ball Valve ก็ได้แต่ถ้าเป็น Ball Valve ก็จะใช้งานสะดวกกว่า


5. หัวรับน้ำดับเพลิง ให้ใช้เป็นข้อต่อสวมเร็ว (Quick Coupling) ชนิดตัวผู้


6. Test Station ของระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิง (Automatic Sprinkler System) จะใช้เป็น Ball Valve หรือ Gate Valve ก็ได้แต่ Ball Valve จะใช้งานได้สะดวกกว่า


7. หัวฉีดน้ำดับเพลิงรอบอาคาร (Fire Hydrant) และหัวฉีดน้ำดับเพลิงทั่วไป ให้ใช้เป็นข้อต่อสวมเร็ว (Quick Coupling) ชนิดตัวเมีย


นอกจากการเลือกชนิดของวาล์วให้เหมาะสมกับการใช้งานแล้ว วาล์วที่นำมาใช้ควรจะต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจากสถาบันที่เป็นที่ยอมรับด้วย ได้แก่ UL (Underwriters Laboratories) และ FM