วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2552

การติดตั้งอุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้อัตโนมัติ (2)

เรื่องที่แล้วพูดถึงอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนมาคราวนี้เป็นเรื่องตรวจจับควันกันบ้าง


1. พื้นที่ที่เลือกใช้อุปกรณ์ตรวจจับความควัน ได้แก่ พื้นที่หลับนอน ช่องเปิดแนวดิ่งของงานระบบ ห้องเก็บสารไวไฟชนิดเหลว อีกอย่างนะครับอุปกรณ์ตรวจจับควันถือว่าเป็นอุปกรณ์เพื่อป้องกันชีวิต ส่วนอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนถือว่าเป็นอุปกรณ์เพื่อป้องกันทรัพย์สินเป็นหลัก

2. อุปกรณ์ตรวจจับควันต้องติดตั้งในระดับความสูงไม่เกิน 10.50 เมตร (สำหรับชนิดจุด) และ 25 เมตร (สำหรับชนิดลำแสง)

3. ระยะห่างจากฝ้าเพดานหรือหลังคาจะต้องไม่น้อยกว่าตัวเลขในตารางที่ระบุไว้ด้านล่าง โดยพิจารณาจากระยะความสูงที่มีการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับควัน

4. ระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ตรวจจับโดยทั่วไป ให้ติดตั้งห่างไม่เกิน 9.00 เมตร


5. สำหรับบริเวณช่องทางเดินที่มีความกว้างน้อยกว่า 3.60 เมตร ให้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับห่างกันไม่มากกว่า 12.0 เมตร


เรื่องหน้าเป็นเรื่องของอุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ด้วยมือนะครับ

วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552

การติดตั้งอุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้อัตโนมัติ (1)

ช่วงปลายปีหลายๆบริษัท เริ่มจะจัดทำงบประมาณสำหรับการปรับปรุงอาคารในปีหน้ากัน ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ก็ถือได้ว่าเป็นระบบหนึ่งที่มีความสำคัญ และที่ผ่านมาพบว่ามีหลายที่จะมีการปรับปรุงกัน นอกจากการเพิ่มเติมอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ตรวจจับควัน,อุปกรณ์ตรวจจับความร้อน หรืออุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ด้วยมือให้ครอบคลุมพื้นที่อาคารแล้ว การพิจารณาติดตั้งอุปกรณ์ให้ได้ตามมาตรฐานก็เป็นเรื่องที่จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงด้วย จึงขอสรุปข้อแนะนำในประเด็นสำคัญๆของการติดตั้งอุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้มาฝากกัน วันนี้ขอเป็นอุปกรณ์ตรวจจับความร้อน (Heat Detector) กันก่อนแล้วกันนะ


1. พื้นที่ที่เลือกใช้อุปกรณ์ตรวจจับความร้อน ได้แก่ ห้องซักผ้า ห้องน้ำ ห้องครัว ที่จอดรถ ห้องหม้อไอน้ำ เหล่านี้เป็นต้น

2. อุปกรณ์ตรวจจับความร้อนต้องติดตั้งในระดับความสูงไม่เกิน 4.00 เมตร

3. อุปกรณ์ตรวจจับความร้อนที่ติดตั้งใต้เพดานหรือหลังคาที่ได้รับความร้อนจากแสงแดด ต้องติดตั้งให้ส่วนตรวจจับอยู่ห่างจากเพดานหรือหลังคาในแนวดิ่ง ไม่น้อยกว่า 180 mm. แต่ไม่เกิน 350 mm.

4. ระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ตรวจจับโดยทั่วไป ให้ติดตั้งห่างไม่เกิน 7.20 เมตร

5. สำหรับบริเวณช่องทางเดินที่มีความกว้างน้อยกว่า 3.60 เมตร ให้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับห่างกันไม่มากกว่า 9.50 เมตร
ตอนต่อไปจะเป็นส่วนของอุปกรณ์ตรวจจับควันนะครับ ติดตามอ่านกันได้เด้อ

วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2552

การพับสายฉีดน้ำดับเพลิง

มาวันนี้ขอนำเรื่องสบายๆมาฝากกันดีกว่า เรื่องนี้ไม่ยากแต่ว่าเหนื่อยสำหรับคนอย่างผมที่ชอบรื้อแต่ไม่ชอบเก็บ 5555 ล้อเล่นนะครับ วันนี้นำวิธีการพับสายฉีดน้ำดับเพลิงมาฝากกัน แบบเดิมที่ผมเคยถูกสอนมาก็จะม้วนปลายมายังต้นสายประมาณว่าม้วนทีก้อต้องตามระยะสาย 30 เมตร คนไม่ชอบเก็บอย่างผมเลยชอบแบบใหม่ที่ม้วนแค่ครึ่งเดียวมากกว่า ดูวิธีการม้วนแบบใหม่ที่ว่าดีกว่า หรือว่าเก่าแล้วก็ไม่รู้นะ เอามาฝากเป็นรูปจะได้เห็นภาพกันชัดๆ

ม้วนแบบนี้ที่เห็นข้อดีก็มีอยู่หลายอย่างนะครับ ถ้าเป็นสายฉีดน้ำภายในตู้ฉีดน้ำดับเพลิงประเภท Hose Rack ซึ่งการใช้งานต้องดึงสายออกมาจนหมดการม้วนแบบนี้ผมว่าจะใช้งานง่ายกว่าแบบที่เก็บไว้ใน Rack นะ ดูภาพหลังม้วนแบบพร้อมใช้งาน


สำหรับสายฉีดน้ำดับเพลิงขนาด 2.5 นิ้วนั้นการม้วนแบบพับครึ่งแล้วจึงทำการม้วนเก็บนั้น จะทำให้เวลาคลี่สายแล้วโอกาสที่สายจะม้วนเป็นเกลียวน้อยกว่าการพับสายแบบเดิม นอกจากนี้แล้วการม้วนแบบเดิมนั้นพอเวลาใช้สายฉีดไปนานๆ สายมีโอกาสขาดบริเวณรอยพับได้ง่าย

ก็ลองเอาไปพิจารณาใช้กันนะครับ

และอีกตามเคยวันนี้มีรูปมาฝากกันเป็นเสื้อกันแดดของถังดับเพลิงมือถือ ลิขสิทธฺ์โดย ปตท. แต่ว่าคงไม่ห้ามถ้าจะลอกเลียนแบบ (ถ้าดีก้อต้องส่งเสริมว่าป่าว) เสื้อตัวนี้สำหรับแก้ปัญหาถังดับเพลิงที่ต้องติดตั้งอยู่ภายนอกอาคารแล้วโดนแดดทำให้สายฉีดชำรุดเสียหาย