วันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ข้อเปรียบเทียบระบบดับเพลิงด้วยแก๊ส

ต้องขอกล่าวสวัสดีปีใหม่ก่อนนะครับ ปีหน้าเฮงๆ รวยๆ กันทุกคนนะครับ
สืบเนื่องจากมีหลายคุณเมล์มาหาผมสอบถามในส่วนของเรื่องข้อดีและข้อจำกัดของระบบดับเพลิงด้วยแก๊ส
ผมเลยลัดคิว Fire Pump มาเขียนเรื่องนี้ก่อน ไว้เรื่องหน้าจะกลับไปเรื่อง Fire Pump ต่อ

โดยวันนี้จะขอหยิบยกมาเปรียบเทียบ กันในส่วนของระบบดับเพลิงด้วย FM-200 และ Inergen (รวมถึง Nitrogen ด้วยนะครับ) โดยแยกเป็นประเด็นเพื่อประกอบการพิจารณา เป็นเรื่องๆ ดังนี้


ระบบ FM-200



1. มาตรฐานการออกแบบ NFPA 2001

2. กระบวนการดับเพลิง
เป็นแบบ Chemical Suppression โดย FM-200 ที่ฉีดเข้าไปใน Protected Room จะทำหน้าที่เป็นตัวยับยั้งปฏิกริยาของกระบวนการเผาไหม้ระหว่างเชื้อเพลิงและออกซิเจนทำให้เพลิงไหม้ดับลง ซึ่งมีระยะเวลาในการดับเพลิงสั้นมาก แต่จะเกิดสาร By Product ปริมาณเล็กน้อยจากกระบวนการยับยั้งปฏิกริยา

3. ข้อกำหนดในการออกแบบทั่วไป
จะกำหนด Design Concentration ประมาณ 7% - 9% ซึ่งทำให้ความต้องการในการใช้พื้นที่ในการติดตั้งน้อย

4. ความดันในระบบประมาณ 360 - 600 PSIG

5. การควบคุมการทำงานของระบบ
ใช้ระบบ Detection, วงจร Appliance Circuit วงจร Releasing Circuit ที่ใช้ในการควบคุมและสั่งการระบบ

6. การทดสอบ
เป็นการทดสอบ Function test ของ Fire Suppression Control Panel ตามขั้นตอนที่กำหนดใน Concept การออกแบบ

7. งบประมาณ
ต่ำกว่าระบบระบบ Inergen (ประเมินราคาของระบบโดยประมาณ 4,500 บาท/ลบ.ม. ห้อง)



ระบบ Inergen


1. มาตรฐานการออกแบบ NFPA 2001

2. กระบวนการดับเพลิง
เป็นแบบ Physical Suppression โดย Inergen ที่ฉีดเข้าไปใน Protected Room จะทำหน้าที่ absorb พลังงานความร้อนที่เกิดจากการเผ่าไหม้ของเชื้อเพลิงและแทนที่ออกซิเจนในอากาศให้ลดต่ำลงกว่า 12% กระบวนการเผาไหม้ก็จะสิ้นสุด โดยไม่เกิดสาร By Product จากกระบวนการดับเพลิง

3. ข้อกำหนดในการออกแบบทั่วไป
จะกำหนด Design Concentration ประมาณ 30% - 50% ซึ่งทำให้ความต้องการในการใช้พื้นที่ในการติดตั้งมากกว่าระบบ FM-200
4. ความดันในระบบประมาณ 2000 PSIG

5. การควบคุมการทำงานของระบบ
ใช้ระบบ Detection, วงจร Appliance Circuit วงจร Releasing Circuit ที่ใช้ในการควบคุมและสั่งการระบบ

6. การทดสอบ
เป็นการทดสอบ Function test ของ Fire Suppression Control Panel ตามขั้นตอนที่กำหนดใน Concept การออกแบบ

7. งบประมาณ
สูงกว่าระบบ FM-200 (ประเมินราคาของระบบโดยประมาณ 6,000 บาท/ลบ.ม. ห้อง)


มีอีกประเด็นที่อาจจะต้องพิจาณานั่นคือค่า GWP (Global Warming Potential) หรือค่าศักยภาพที่ทำให้โลกร้อน โดย FM-200 จะมีค่าที่สูงกว่า ระบบ Inergen อยู่มาก ซึ่งไม่แน่ว่าในอนาคตอาจจะมีคนหันมาใช้สารทดแทนระบบ FM-200 กันมากขึ้น โดยไปเลือกใช้สารที่ไม่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน แต่ที่ผมทราบสารใหม่ๆ ราคาก็ยังถือว่าสูงอยู่ และที่ขาดไปเสียไม่ได้นะครับสำหรับการติดตั้ง ต้องดู Service หลังการขายของผู้ติดตั้งด้วยนะครับ ไม่อย่างนั้นถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาจะวุ่นวายกันได้ ไว้เจอกันเรื่องหน้านะครับ

สวัสดีปีใหม่ครับผม................

วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ตำแหน่งการติดตั้งวาล์วระบายแรงดัน

ใกล้ปีใหม่แล้วมีแผนจะไปเที่ยวไหนกัน ถ้าอย่างไรเที่ยวเผื่อกันบ้างนะครับ ผมปีใหม่คงไม่ได้เที่ยวตามฟอร์ม เพราะว่าอยากนอนมากกว่า 555 เข้าเรื่องดีกว่า

วันนี้ก็มาพูดเรื่องการติดตั้งระบบเครื่องสูบน้ำดับเพลิงกันต่อ โดยวันนี้เป็นส่วนของวาล์วระบายแรงดัน สำหรับการติดตั้งนั้นตำแหน่งการติดตั้งจะต้องต่อก่อนที่จะเข้า Check Valve รวมทั้งจะต้องไม่ต่อเชื่อมร่วมกับท่อของ Test Line นะครับ


ติดก่อน Check Valve


Relief Valve กับ Test Line ไม่ต่อร่วมกันนะครับต้องแยกท่อต่างหาก

นอกจากนั้นแล้วขนาดให้ยึดตามมาตรฐาน NFPA หรือ วสท. นะครับ


วันนี้เน้นรูปกับตาราง แต่น่าจะโออยู่นะครับ เพราะว่าปกติออกแบบตารางนี้ใช้บ่อยครับ

วันนี้แค่นี้ก่อนนะครับงานจ่อก้นอยู่ ไปละครับ

วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ด้านดูดของเครื่องสูบน้ำดับเพลิง

หายไปซักพัก แต่กลับมาต่อเรื่องเครื่องสูบน้ำดับเพลิงกันนะครับ กะว่าจะเขียนตั้งแต่ด้านดูดของเครื่องสูบน้ำต่อจนไปถึงด้านจ่ายเลย วันนี้เลยเริ่มตั้งแต่ด้านดูดกันก่อน

สำหรับด้านดูด (Suction Line) มีข้อที่ต้องพิจารณาอยู่หลายประเด็น แต่พอสรุปได้ดังนี้

1. วาล์วที่ด้านดูดจะต้องใช้เป็น OS&Y Gate Valve ข้อนี้สำคัญนะครับ อย่าใช้ Butterfly Valve เนื่องจากเป็นการเพิ่ม Loss ให้กับระบบ รวมทั้งจะทำให้เกิดการปั่นป่วนในท่อด้านดูด (อย่างที่เห็นในรูปก็ถือว่าผิดมาตรฐานนะครับ เพราะท่อที่ต่อจากถังน้ำ นั้นเป็น Butterfly Valve)

2. ความยาวของท่อด้านดูดนั้น จะต้องไม่ยาวกว่า 10 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางของท่อด้านดูด สมมติว่าท่อด้านดูดขนาด 8" (20 cm.) ท่อด้านดูดก็ไม่ควรยาวมากกว่า 200 cm. (2 m.) ดังนั้นการออกแบบถังสำรองน้ำดับเพลิงกับเครื่องสูบน้ำก็ไม่ควรให้ห่างกันมาก เหตุผลก็เพื่อไม่ให้ Loss ทางด้านดูดสูง ถ้าสังเกตจากรูปด้านล่าง จะเห็นว่าท่อด้านดูดเดินค่อนข้างยาว


3. ห้ามติดตั้งเครื่องสูบน้ำชนิดแรงเหวี่ยงหนีศูนย์ แบบ Split-Case หรือ End Suction สูบน้ำจากแหล่งน้ำ หรือถังสำรองน้ำดับเพลิง ที่มีระดับน้ำใช้งานต่ำสุดในถัง ต่ำกว่าตัวเครื่องสูบน้ำ ในประเด็นนี้นะครับจากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่า Foot Valve ทางด้านดูด รั่วเป็นประจำสม่ำเสมอ จะทดสอบกันทีก็ต้องล่อน้ำกันตลอด

4. ท่อด้านดูดต้องติดตั้ง Anti-Vortex Plate ไว้ด้วยนะครับ ส่วนขนาดนั้นก็ให้ไม่น้อยกว่า 3 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางของท่อด้านดูด ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการดูดอากาศเข้าไปในระบบ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าการติดตั้งถูกต้องทั้งหมดแต่ไม่ได้มีการบำรุงดูแลรักษา ก็เปล่าประโยชน์ครับ เพราะว่าพอถึงเวลาจะใช้งานเครื่องสูบน้ำดับเพลิงกลับสตาร์ทไม่ได้ ผิดกับบางที่ที่ถึงแม้จะติดตั้งไม่ถูกต้อง 100% แต่ถ้ามีการดูแล ความเสี่ยงที่จะใช้งานไม่ได้ก็น้อยลง แต่ถ้าติดตั้งใหม่ๆ ก็ขอให้ยึดถือมาตรฐานเป็นหลักก็จะดีนะครับ ยิ่งถ้าทำประกันภัยด้วยแล้ว รับรองครับว่ายังไงเสียก็ต้องโดน Comment แน่นอน

พบกันเรื่องหน้านะครับ วันนี้ขอตัวทำงานต่อ รู้สึกว่าไม่ทันแล้ว 5555

วันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เครื่องมือคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์

วันนี้ถือว่าเป็นของฝากแล้วกันนะครับ นั่งทำงานอยู่ พักหัวนิดก็ลองคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ผมมีส่วนปล่อยออกมา ดูหน่อยว่าเป็นเท่าไหร่ ก็เลยเอามาฝากกัน ลองเข้าไปดูนะครับ

http://thaicfcalculator.tgo.or.th/index.html

ส่วน ตัวผมชอบตรงที่มีข้อแนะนำด้วยว่าเราสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้อย่างไร เช่นของผม เขาแนะนำให้เปิดใช้คอมพิวเตอร์น้อยลงอีก 1 ชั่วโมง แต่น่าจะยาก มีแต่จะเพิ่มขึ้น 5555 แต่จะทำดูนะครับ

สำหรับผลจากการกรอกข้อมูลในเวป แสดงผลดังนี้ครับ

สำหรับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ นั้นหมายถึง ประมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์ ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การประกอบชิ้นส่วน การใช้งาน และการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังการใช้งาน โดยคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เที่ยบเท่าต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ (บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์)


ส่วนขนาดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่คำนวณโดยเว็บไซด์ หมายถึง ปริมาณการปลดปล่อย
ก๊าซเรือนกระจก อันเนื่องมาจากกิจกรรมที่ทำในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคไทยทั่วไป ได้แก่ กิจกรรมในบ้านเรือน กิจกรรมในสถานที่ทำงาน การเดินทางไปทำงานหรือ
สันทนาการ ตลอดจนกิจกรรมการบริโภคอาหาร แสดงผลเป็น กิโลกรัมคาร์บอน-
ไดออกไซด์เทียบเท่า พร้อมทั้งการแสดงผลในรูปกราฟบ่งชี้กิจกรรม ที่ก่อให้เกิด
การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด และพื้นที่ป่าที่ต้องการในการดูดซับก๊าซเรือน
กระจก เพื่อการชดเชยการปลดปล่อย ก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนทางเลือกในการช่วยลดปริมาณ การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

(http://thaicfcalculator.tgo.or.th/index.html)

ลองเข้าไปดูนะครับเผื่อว่าจะช่วยโลกเราจากปี 2012 ได้

วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2553

มาตรวัดความดัน (Pressure Gauge) ในระบบดับเพลิง




ตั้งใจว่าจะเขียนเกี่ยวกับการติดตั้งระบบเครื่องสูบน้ำดับเพลิง เพราะมีหลายคนอยากอ่านกัน แต่ถ้าจะเขียนรวดเดียวคงไม่ไหว เลยเอาเป็นเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยกันน่าจะดีกว่า เผื่อว่าตอนนี้ใครที่จะกำลังทำก็จะได้ทำถูกต้องส่วนคนที่ติดไปแล้วก็จะได้กลับไปดูว่าของเราเป็นอย่างไร แต่ถ้าใครมีความเห็นอย่างไรก็มาแชร์กันครับ

วันนี้เลยเอาเรื่องที่ดูเล็กๆ ก่อน แต่ก็น่าแปลกใจนะครับว่าจากที่เคยตรวจมา ข้อนี้เป็นข้อที่ติดตั้งผิดกันเยอะมาก น่าจะพอๆ กับการเลือกใช้ Pump ผิดประเภท (แซว เล่นนะครับ แต่ว่าเรื่องจริง 555)

วันนี้วันดี เริ่มด้วย มาตรวัดความดัน (Pressure Gauge) นะครับ สำหรับมาตรวัดความดันที่จะกล่าวถึง ขอยกในจุดที่สำคัญนะครับ คือบริเวณ ทางด้านดูด และทางด้านส่ง ของเครื่องสูบน้ำดับเพลิง ก่อนอื่นมาดูมาตรฐานกันก่อนครับว่าเขากำหนดกันอย่างไร

1. มาตรวัดความดันด้านดูด เป็นมาตรวัดที่อ่านค่าสูญญากาศได้ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 90 mm. พร้อมกับประตูน้ำขนาด 1/4 นิ้ว หน้าปัดสามารถอ่านค่าความดันได้ไม่น้อยกว่า 2 เท่าของความดันด้านดูดที่กำหนดของเครื่องสูบน้ำดับเพลิง หรือไม่เกิน 100 psi (มาตรฐาน วสท.)


นั่นหมายถึงว่าต้องดูครับว่าความดันด้านดูดของระบบเรามีค่าประมาณเท่าไหร่ แล้วก็ต้องเลือก Scale ให้มากกว่า 2 เท่า หรือเลือกค่าสูงสุดของ Scale ไม่น้อยกว่า 100 psi แต่จากที่ตรวจสอบพบว่าที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีการติดตั้งมาตรวัดแรงดัน ที่มี Maximum Scale เท่ากับ 300 psi กันเยอะมาก ซึ่งพอจะอ่านค่าจะบอกว่าเข็มของเกจน์ขึ้นมานิดเดียว ง่ายๆ ก็คือ Scale มันหยาบไปครับ ถ้าเราเลือกเกจน์ที่ละเอียดหน่อยจะได้อ่านค่าได้แม่นยำขึ้นครับ


2. มาตรวัดความดันด้านส่ง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 90 mm. พร้อมกับประตูน้ำขนาด 1/4 นิ้ว หน้าปัดสามารถอ่านค่าความดันได้ไม่น้อยกว่า 2 เท่าของความที่กำหนดของเครื่องสูบน้ำดับเพลิง หรือไม่น้อยกว่า 200 psi (มาตรฐาน วสท.)



ถ้าสมมติเครื่องสูบน้ำดับเพลิงเราออกแบบที่ 120 psi ค่าสูงสุดที่อ่านได้ของเกจน์ ก็ต้องอ่านค่าที่ 240 psi ได้ ซึ่งที่มีขายกันตามท้องตลาดก็จะเป็นเกจน์ ที่อ่านค่าได้ถึง 300 psi

สำหรับของฝากวันนี้เช่นเคยครับ เรื่องการติดต้้ง มาตรวัดความดัน ทั้งทางด้านดูดและด้านส่งของเครื่องสูบน้ำดับเพลิง โดยการติดตั้งจะต้องติดตั้งให้อยู่ใกล้ตัวเครื่องมากที่สุด ซึ่งตำแหน่งที่เหมาะสม ควรจะติดบริเวณด้านข้าง ซึ่งถ้าดูให้ดีนะครับทางผู้ผลิตเครื่องสูบน้ำดับเพลิงจะเตรียมปลั๊กอุดมาให้แล้ว แต่ก็ลองดูนะครับว่ามีที่ให้ติดเตรียมมาหรือเปล่า ทั้งนี้เพื่อให้ค่าที่อ่านได้มีความแม่นยำ


ไว้เจอกันเรื่องหน้าครับผม เกือบลืมต่อเรือกันด้วยนะครับ ระวังน้ำท่วม 5555

วันอังคารที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2553

การทดสอบประสิทธิภาพระบบดับเพลิงด้วยน้ำ


ในการทดสอบประสิทธิภาพของระบบดับเพลิงด้วยน้ำ ที่ทำกันอยู่ทั่วไปในตอนนี้ จะมีสองลักษณะคือ

1. การทดสอบระบบสายฉีดน้ำดับเพลิง


สำหรับการทดสอบนี้เป็นการประเมินความสามารถในการดับเพลิงของระบบ โดยตามมาตรฐาน NFPA 14 ระบุไว้ว่า สายฉีดน้ำดับเพลิงขนาด 2.5 นิ้ว จะต้องมีอัตราการไหลที่หัวฉีดไม่น้อยกว่า 250 แกลลอนต่อนาที และมีความดันไม่น้อยกว่า 100psi (สำหรับ วสท.ระบุไว้ที่ 65 psi)
สำหรับการทดสอบจะทำการ หาค่า Static Pressure, Residue Pressure และทำการวัดอัตราการไหลที่หัวฉีดน้ำดับเพลิงขนาด 2.5 นิ้ว จากนั้นจึงนำค่าที่ได้มีเขียนกราฟ เพื่อนำมาประเมินประสิทธิภาพของระบบ สำหรับหน้าตาของกราฟที่ Plot ออกมาหน้าตาจะประมาณนี้ครับ

2. การทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องสูบน้ำดับเพลิง


สำหรับการทดสอบลักษณะนี้เป็นการทดสอบ โดยวัดค่าความดันทางด้านส่งของเครื่องสูบน้ำดับเพลิงที่อัตราการไหล ณ จุดต่างๆ แล้วนำมาเขียนกราฟแสดงคุณลักษณะของเครื่องสูบน้ำดับเพลิง โดยทั่วไปจะเรียกว่าทำ Performance Curve ของเครื่องสูบน้ำดับเพลิง ซึ่งตามมาตรฐาน NFPA 20 ระบุไว้ว่าเครื่องสูบน้ำดับเพลิงจะต้องมีคุณลักษณะที่เมื่อสูบน้ำที่อัตราการไหลร้อยละ 150 ของอัตราสูบที่กำหนด ความด้นทางด้านส่งจะต้องไม่น้อยกว่า 65% ของความดันที่กำหนด และที่อัตราการไหลเท่ากับศูนย์ จะต้องมีความดันด้านส่งไม่เกิน 140% ของความดันที่กำหนด สำหรับหน้าตาของกราฟที่ Plot มีตัวอย่างตามรูปด้านล่างนะครับ

สำหรับใครต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก็สอบถามกันมาได้นะครับ ช่วงนี้งานน่าจะเริ่มลงตัวหน่อย ไว้จะหาเรื่องดีๆ มาฝากอย่างสม่ำเสมอ อีกเรื่องก็ต้องขอขอบคุณ คุณเอกรัชต์ มากเลยนะครับที่ส่งข้อมูลมาแชร์กัน เป็นเรื่องความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการหนีไฟและการป้องกันอัคคีภัย ถ้าใครอยากได้ไฟล์ก็เมล์มานะครับ ผมว่าไว้ใช้อบรมให้กับพนักงานได้เลยนะครับ วันนี้แค่นี้ก่อนนะะครับ

วันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2553

มาตรฐานความสว่างภายในอาคาร


พอดีช่วงนี้ออกตรวจตลอดไม่มีเวลานั่งโต๊ะเลย วันนี้ก็อยู่ต่างจังหวัด พอดีไปเจอมาตรฐานความสว่างภายในอาคาร (Indoor Lighting) ของ IES ก็เลยเอามาฝากไว้เป็นข้อมูลกัน แต่ก่อนดูตัวเลขมาทำความเข้าใจศัพท์บางตัวซักหน่อย

ความส่องสว่าง (อิลูมิแนนซ์) หมายถึงปริมาณแสงที่กระทบลงบนวัตถุต่อพื้นที่ มีหน่วยเป็น ลูเมนต่อตารางเมตร หรือ ลักซ์ (ถ้าหน่วยเป็น ลูเมนต่อตารางฟุต ความส่องสว่างก็เป็น ฟุตแคนเดิล)
ความสว่าง (ลูมิแนนซ์) หมายถึงปริมาณแสงที่สะท้อนออกมาจากวัตถุต่อพื้นที่ มีหน่วยเป็น แคนเดลาต่อตารางเมตร ปริมาณแสงที่เท่ากันเมื่อตกกระทบลงมาบนวัตถุที่มีสีต่างกันจะมีปริมาณแสงสะท้อนกลับต่างกัน นั่นคือ ลูมิแนนซ์ ต่างกัน สาเหตุที่ต่างกันก็เนื่องมาจากสัมประสิทธิ์การสะท้อนแสงของวัสดุต่างกัน

คราวนี้มาดูค่ามาตรฐานกันว่าเขากำหนดกันอย่างไรบ้าง

พื้นที่ทำงานทั่วไป 300-700 ลักซ์
พื้นที่ส่วนกลาง ทางเดิน 100-200 ลักซ์
ห้องเรียน 300-500 ลักซ์
ร้านค้า,ศูนย์การค้า 300-750 ลักซ์

โรงแรม (ทางเดิน) 300 ลักซ์
โรงแรม (ห้องครัว) 500 ลักซ์
โรงแรม (ห้องพัก,ห้องน้ำ) 100-300 ลักซ์

โรงพยาบาล (บริเวณทั่วไป) 100-300 ลักซ์
โรงพยาบาล (ห้องตรวจรักษา) 500-1000 ลักซ์

บ้านที่อยู่อาศัย
- ห้องนอน 50 ลักซ์
- หัวเตียง 200 ลักซ์
- ห้องน้ำ 100-500 ลักซ์
- ห้องนั่งเล่น 100-500 ลักซ์
- บริเวณบันได 100 ลักซ์
- ห้องครัว 300-500 ลักซ์

ก็เอาไว้เป็นข้อมูลกันนะครับ วันนี้ก็เพิ่งกลับมาจากสัมมนาเกี่ยวกับอาคารเขียวมา
ได้ข้อมูลทั้ง LEED และ EarthCheck ถ้าไงเดี๋ยวพรุ่งนี้จะหามาฝากซักเรื่อง
วันนี้มีภาพมาฝากจากพัทยา ปกติเห็นแต่มุมล่าง วันนี้เลยเอารูปมุมบนให้ดูกันเพลินๆ

วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การประหยัดพลังงานในระบบท่อไอน้ำ

เรื่องก่อนเขียนเกี่ยวกับ Boiler วันนี้เลยขอหยิบยกการประหยัดพลังงานในระบบท่อไอน้ำมาฝากกัน โดยข้อมูลนั้นมาจากเอกสารของ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ ซึ่งสามารถเอาไว้ใช้พิจารณาสำหรับการออกแบบในเบื้องต้นได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ควรมีการหุ้มฉนวน โดยที่เมื่อหุ้มฉนวนแล้วจะทำให้มีอุณหภูมิภายนอกไม่เกิน 60 C

2. การใช้ไอน้ำเพื่อให้ความร้อน ควรจะมีความดันต่ำที่สุด เนื่องจากไอน้ำที่ความดันต่ำจะมีค่าความร้อนแฝงต่อกิโลกรัมไอน้ำที่มากกว่า

3. ท่อไอน้ำควรจะมีขนาดที่เหมาะสม โดยไม่ทำให้ไอน้ำตกเกิน 10% และความเร็วของไอน้ำในท่อเมนควรอยู่ประมาณ 15-25 เมตร/วินาที หากสูงเกินไปจะทำให้มีการสูญเสียความดันมาก หากออกแบบให้มีค่าต่ำเกินไปจะทำให้ลงทุนสูง(ขนาดท่อจะใหญ่) และสูญเสียความร้อนมา

4. ท่อไอน้ำต้องมีมุมลาดลงตามทิศทางการไหลของไอน้ำในสัดส่วน 1:100 เป็นอย่างน้อย

5. ท่อไอน้ำที่มีขนาดไม่เกิน 100 mm. ท่อดักไอน้ำควรมีขนาดเท่ากับท่อไอน้ำนั้น สำหรับท่อไอน้ำที่มีขนาดใหญ่กว่า 100 mm. ท่อดักไอน้ำควรมีขนาดไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของขนาดท่อไอน้ำแต่ต้องไม่เล็กกว่า 100 mm.

6. ท่อส่งไอน้ำที่ยาวมากกว่า 30 m. ต้องติดตั้งท่อดักและสตีมแทรประบายคอนเดนเสทและไล่อากาศอย่างเหมาะสม

7. มีการเลือกชนิดของสตีมแทรป โดยคำนึงถึงอัตราการระบายและความปลอดภัยตามความเหมาะสม รวมทั้งต้องติดตั้งให้ถูกต้อง

ถ้าพูดถึงระบบท่อไอน้ำถ้าจะไม่กล่าวถึงสตีมแทรปคงไม่ได้ วันนี้เลยเอาสรุปข้อมูลเปรียบเทียบของสตีมแทรปในแต่ละแบบ และการเลือกใช้สตีมแทรปกับการใช้งานบางประเภทมาฝากกัน



วันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2553

คำแนะนำในการใช้หม้อไอน้ำ


วันนี้พอมีเวลาเลยไปหาอ่านข้อมูลตามเวปต่างๆ ไปเจอมาเรื่องหนึ่งน่าสนใจ พูดถึงเรื่องคำแนะนำในการใช้หม้อไอน้ำ เลยเก็บมาฝากกัน

คำแนะนำในการใช้หม้อไอน้ำ
  1. ก่อนติดเตาทุกครั้งให้ตรวจก่อนว่า ในหม้อน้ำมีระดับที่เพียงพอหรือไม่ การตรวจนี้ เป็นการทดสอบไปในตัวด้วยว่า ทางเข้า - ออก ของหลอด แก้วตันหรือไม่
  2. หม้อน้ำที่ใช้ก๊าซ หรือน้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ให้ระบายลมภายในเตาก่อน เพื่อไล่ก๊าซที่อาจตกค้างอยู่ ในหม้อน้ำออกเสียก่อนจึงค่อยติดไฟ เพื่อป้อง กันการลุกไหม้โดยฉับพลันที่เกิดจากก๊าซที่ตกค้างอยู่ในเตา
  3. ถ้าเกิดรั่วที่ลิ้นนิรภัย โดยที่ยังอยู่ภายใต้ความดันปกติ ห้าม ใช้วิธี เพิ่มน้ำหนักถ่วง หรือตั้งลิ้นนิรภัยให้แข็งขึ้น
  4. ถ้าเกิดรั่วที่หม้อ น้ำ ให้หยุดใช้หม้อน้ำทันที และต้องแก้ไขก่อนใช้งาน ต้องได้รับการตรวจเพื่อความปลอดภัย จากเจ้าหน้าที่ตรวจหม้อน้ำ ของ กรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือจาก วิศวกรที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรม ตามพระราชบัญญัติควบคุมวิชาชีพวิศวกรรม
  5. ลิ้นนิรภัยที่ใช้ ควรเป็นแบบที่ทดสอบได้ง่าย อย่างน้อยควรมีการทดสอบเดือนละครั้ง ว่า ลิ้นนิรภัยยังทำงานได้ดีหรือไม่
  6. หลังเลิกงาน เมื่อหยุดใช้หม้อน้ำทุกวัน ควรระบายน้ำทิ้งบ้าง โดยเปิดวาล์วน้ำทิ้งแล้ว นับ 1 - 10 เร็ว ๆ แล้วปิด เฉพาะแหล่งที่มีตะกอนมากควรระบายให้ถี่กว่านี้
  7. ตรวจสอบความดัน ของเกจวัดความดันของน้ำที่สูบเข้าหม้อน้ำ ถ้าความดันขึ้นสูงผิดปกติแสดงว่าท่อสูบน้า เข้าหม้อน้ำจะตันแล้ว ต้องรีบแก้ไข ถ้าใช้ต่อไปน้ำอาจจะแห้งได้
  8. ให้ใช้หม้อน้ำไม่เกินความดันตามที่กำหนด
  9. หม้อน้ำที่มีตะกรัน เกาะหนา 1/ 8 นิ้ว อาจจะต้องเปลืองเชื้อเพลิงในการทำให้ร้อนไปเปล่า ๆ ถึง 15 % ดังนั้น ถ้าล้างหม้อน้ำบ่อย ๆ ก็จะดี
  10. ถ้าเกิดน้ำแห้งต่ำ กว่าระดับหลอดแก้ว ต้องรีบดับไฟ และ ห้ามสูบน้ำ เข้าหม้อน้ำอย่างเด็ดขาด ต้องปล่อยให้เย็นลง และตรวจทดสอบ เพื่อ ความปลอดภัยก่อนใช้งานต่อไป
  11. หม้อน้ำที่ใช้ น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ควันดำที่เกิดขึ้นเนื่องจากปรับหัวฉีด และส่วนของอากาศไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ จึงควร หมั่นปรับแต่ง หัวฉีด เพื่อให้เกิดการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์
  12. หม้อน้ำทุกลูกควรจะได้รับการตรวจทดสอบ เพื่อความปลอดภัยอย่างน้อยปีละครั้ง
ที่มา : วิฑูรย์ สิมะโชคดี หนังสือ วิศวกรรมและการบริหารความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรม สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย - ญี่ปุ่น (สสท)

วันนี้เลยเอาประกาศกระทรวงเรื่องคุณสมบัติของน้ำสำหรับหม้อน้ำมาฝากกัน

ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง คุณสมบัติของน้ำสำหรับหม้อน้ำพ.ศ. ๒๕๔๙

วันอังคารที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การทดสอบระบบท่อน้ำดับเพลิง


วันนี้ถือว่าเป็นเรื่องแถมแล้วกันนะครับ เพราะว่าวันก่อนมีโอกาสไปตรวจงานผู้รับเหมา เหลือบไปเห็นวิธีการทดสอบของระบบท่อน้ำ แล้วก็คิดๆอยู่ว่า ใช่หรือ ก็ไปหาข้อมูลเพิ่ม เลยหยิบมาฝากกัน

สำหรับการทดสอบระบบท่อน้ำดับเพลิง นั้นในมาตรฐาน NFPA ระบุไว้ว่า ระบบท่อน้ำดับเพลิงที่ติดตั้งเสร็จแล้ว จะต้องได้รับการทดสอบด้วยความดันของน้ำ โดยอัดน้ำเข้าไปในระบบท่อทั้งหมดด้วยความดันไม่น้อยกว่า 200 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เป็นเวลา 2 ชั่วโมง หรือทดสอบที่ความดันที่สูงกว่าความดันสูงสุดในระบบ 50 psi ในกรณีที่ความดันสูงสุดในระบบมากกว่า 150 psi
(ถ้าความดันสูงสุดในระบบเท่ากับ 160 psi ก็ต้องทดสอบระบบท่อที่ความดัน 210 psi)

จะบอกว่าอ่านในมาตรฐาน วสท.แล้วงงๆ เลยไปหาใน NFPA ดูต้นฉบับแล้วกันนะครับ ถ้าแปลผิดก็บอกกันได้นะ 5555

"Hydrostatic tests at not less than 13.8-bar (200-psi) pressure for 2 hours, or at 3.4 bar (50 psi) in excess of the maximum pressure, where maximum pressure is in excess of 10.3 bar (150 psi), shall be conducted every 5 years on dry standpipe systems and dry portions of wet standpipe systems."

ก็เลยถือโอกาสเอารูปตอนทดสอบระบบท่อมาฝากกัน ต้องขอบคุณผู้อนุเคราะห์ที่ถ่ายรูปส่งมาให้นะครับ
(แต่ที่นี่ไม่ได้ไปตรวจนะครับ 555)


วันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ตำแหน่งของท่อยืนประเภทที่ 1

วันนี้เอาเรื่องมาฝากผู้ออกแบบระบบดับเพลิงกันครับ แต่จะว่าไปแล้วหลายๆคนก็น่าจะทราบกันดีอยู่แล้ว แต่ที่สงสัยก็คือทุกวันนี้ถึงแม้แต่ตึกใหม่ๆ ที่เป็นอาคารสูง ก็มีหลายที่ที่ยังทำไม่ถูกต้อง ก็เลยเอามาเขียนให้อ่านกันดีกว่า แต่ก่อนจะเข้าเรื่องขออธิบายถึงระบบท่อยืนประเภทที่ 1 กันก่อนเผื่อว่าบางคนยังไม่ทราบ

ท่อยืน ประเภทที่ 1 คือท่อยืนที่ติดตั้งวาล์วสายฉีดน้ำดับเพลิงขนาด 65 มิลลิเมตร สำหรับพนักงานดับเพลิง หรือผู้ที่ได้ผ่านการฝึกการใช้สายฉีดน้ำดับเพลิงขนาดใหญ่เท่านั้น

สำหรับตำแหน่งของท่อยืนและหัวต่อสายฉีดน้ำดับเพลิง ประเภทที่ 1 นั้น ตามมาตรฐาน NFPA และมาตรฐาน วสท. กำหนดให้ต้องติดตั้งในตำแหน่ง ดังนี้

1. ติดที่ชานพักกลางหรือชานพักของทุกชั้นในบันไดหนีไฟทุกตัว
2. ติดที่ด้านในและด้านนอกของทางออกหนีไฟของ Horizontal Exit
3. ติดตั้งในบริเวณห้องโถงหน้าบันไดหนีไฟที่มีระบบอัดอากาศ
4. กรณีที่ท่อยืนและท่อย่อยไม่สามารถติดตั้งในบันไดหนีไฟ หรือห้องโถงหน้าบันไดหนีไฟ จะต้องติดตั้งในส่วนปิดล้อมที่มีอัตราการทนไฟเท่ากับอัตราการทนไฟของส่วนปิดล้อมแนวตั้ง ของอาคารหลังนั้น

ข้อยกเว้น ถ้าอาคารหลังนั้นติดตั้งระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิง ส่วนปิดล้อมนี้ไม่ต้องสร้างให้ได้อัตราทนไฟดังที่ระบุไว้ก็ได้

แต่ดีที่สุดนะครับ ให้ท่อยืนอยู่ในบันไดหนีไฟ เพราะเป็นส่วนปิดล้อมทนไฟและไม่ต้องเดินท่อสำหรับติดตั้งหัวต่อสายฉีดน้ำดับเพลิงยาวด้วย

แต่จะบอกว่าตรวจอาคารมาก็เยอะแทบจะไม่เจอหัวต่อสายฉีดน้ำดับเพลิงในบันไดหนีไฟเลย (ท่อยืนประเภทที่ 1) แต่ตำแหน่งที่จะเจอก็คงเป็นโถงลิฟต์ดับเพลิงคงเนื่องจากกฎหมายบังคับไว้ ก็ฝากไว้หน่อยนะครับสำหรับตึกใหม่ที่กำลังออกแบบ วันนี้ก็เลยเอารูปมาฝากกัน แต่จะว่าไปแล้วก็ยังไม่สมบูรณ์มากเนื่องจากบันไดหนีไฟค่อนข้างแคบ (อันนี้ก็สำคัญต้องบอกสถาปนิกไว้ก่อนนะว่ามีอะไรอยู่ข้างในบันไดหนีไฟบ้าง) และตำแหน่งการติดตั้งก็ควรติดในระดับสูงจากพื้น 0.90-1.50 m. (ในรูปจะสูงไปนิดนะครับ)


วันนี้เช่นเคยครับมีรูปมาฝากกัน จะบอกว่าคนไทยนี่เก่งแล้วก็กล้าจริงๆนะครับ (ขับรถผ่านก็เลยเอามาฝากกัน)

วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ระดับความดังของอุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้




จำได้ว่าเคยเขียนบทความในเรื่องของการติดตั้งอุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ไป แล้ว ทั้งในส่วนของการแจ้งเหตุเพลิงไหม้ด้วยมือ และอุปกรณ์ตรวจจับเพลิงไหม้อัตโนมัติ ดังนั้นถ้าไม่พูดถึงเรื่องอุปกรณ์แจ้งเหตุ ก็คงไม่ครบถ้วน ลองมาดูกันว่าในมาตรฐานและกฎหมายมีการกำหนดระดับความดังไว้ว่าอย่างไรบ้าง

สำหรับ กฎหมายนั้น ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การป้องกันและระงับอัคคีภัยในสถานประกอบการ เพื่อความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง ระบุไว้ว่า "ระดับความดังเสียงของระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้จะต้องต้องมี ระดับความดังเสียงไม่น้อยกว่า 100 dBA วัดจากจุดกำเนิดของเสียงหนึ่งเมตรโดยรอบ"

คราวนี้มาลองดูมาตรฐานกันบ้าง โดยในมาตรฐานระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ของ วสท. ระบุค่าต่างๆ ไว้ดังนี้
  • ระดับความดังของเสียงที่จุดใดๆ ต้องไม่น้อยกว่า 65 dB และไม่เกิน 120 dB
  • ความดังของเสียงสัญญาณต้องดังกว่าเสียงรบกวนเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 15 dB เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 60 วินาที
  • สำหรับสัญญาณเสียงที่ต้องการปลุกผู้อยู่อาศัยที่กำลังหลับอยู่ ต้องมีระดับความดังของเสียงไม่น้อยกว่า 70 dB เมื่อวัดในตำแหน่งที่หลับอยู่
เรามาดูตัวอย่างเปรียบเทียบระดับเสียงจากแหล่งกำเนิดและสภาพแวดล้อมต่างๆ กัน จะได้พอจินตนาการได้ว่า ระดับเสียงที่กำหนดนั้นพอเทียบเคียงกับเสียงอะไรได้บ้าง

- 10 dBA เสียงการหายใจปกติ
- 20 dBA เสียงกระซิบที่ระยะ 5 ฟุต
- 30 dBA เสียงกระซิบเบาๆ
- 50 dBA เสียงฝน
- 60 dBA เสียงสนทนาปกติ
- 70 dBA เสียงเครื่องซักผ้า
- 85 dBA เสียงในร้านอาหารที่จอแจ
- 90 dBA เสียงตะโกนคุยกัน
- 95 dBA เสียงจักรยานยนต์
- 110 dBA เสียงขุดเจาะถนน
- 120 dBA เสียงฟ้าผ่า

ข้อมูลข้างต้นหามาจากในหลายๆ แหล่งใครอยากทราบเพิ่มเติมลองดูใน google ได้นะ แต่จะว่าไปแล้วเครื่องซักผ้าดังตั้ง 70 dBA นี่มันรุ่นไหนนะ 555......

วันนี้มีรูปมาฝากเช่นเคยเป็นรูปสัญญาณมือที่ใช้ในการสื่อสารการเปิดปิดหัวดับเพลิง เผื่อว่าจะมีใครเอาไปใช้กัน ไว้เจอกันเรื่องหน้านะครับ ตอนนี้ก็หน้าฝนแล้วระวังด้วยละ



วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

อาบน้ำฝักบัวอันตราย


วันก่อนมีโอกาสไปอ่านเจอข่าวในเวปไซด์แห่งหนึ่ง พูดถึงเรื่องว่า นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯมีความเห็นว่าการอาบน้ำจากฝักบัวอาจจะไม่ค่อยถูกอนามัยเท่าใดนัก เพราะได้พบว่า การเปิดน้ำรดหัวอาจจะปล่อยให้แบคทีเรียที่เป็นอันตรายไหลออกมาโดนเต็มหน้าผู้อาบก็ได้ ซึ่งได้มีการค้นคว้าพบว่า ฝักบัวอาบน้ำมีเชื้อแบคทีเรีย เกือบ 1 ใน 3 จากการตรวจหาเชื้อตามเมืองต่างๆ 9 เมือง ใน 7 รัฐด้วยกัน เป็นที่อยู่อาศัยของเชื้อโรค ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคปอดระดับสูง โดยผลการศึกษาระบุว่า การค้นพบอาจจะเป็นสาเหตุว่า ทำไมถึงมีผู้ป่วยปอดอักเสบ มากขึ้นในช่วง 2-3 ปีมานี้ โดยเฉพาะทั้งกับผู้ที่อาบน้ำบ่อย หรือไม่ค่อยได้อาบน้ำ น้ำที่ไหลจากฝักบัวบนหัว อาจจะปล่อยละอองน้ำที่เต็มไปด้วยแบคทีเรีย ทั้งที่มีอยู่ในอากาศ ซึ่งอาจสูดหายใจลงไปในก้นบึ้งของปอดได้โดยง่าย แต่ก็ได้มีความเห็นเสริมว่า ที่จริงคนที่แข็งแรงที่สุดอาจจะไม่ค่อยมีปัญหา แต่กับคนที่ระบบภูมิคุ้มกันโรคอ่อนแออย่างเช่น ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ หรือผู้ที่ป่วยด้วยโรคอื่นอยู่แล้ว อาจจะติดโรคได้ง่าย ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคปอดอักเสบ ที่มีอาการ เหนื่อย ไอแห้ง และหายใจหอบ


จากข้อมูลข้างต้นท่าจะว่าไปแล้วผมก็พอได้ยินข่าวมาหลายปีแล้วว่าโรคดังกล่าว หรือที่เขาเรียกกันว่า โรคลีเจียนแนร์ (Legionnaires) ที่เกิดจากเชื้อลีจิโอเนลลา (Legionella) ซึ่งในประเทศไทยก็ได้มีการเฝ้าระวังมาหลายปีแล้ว ซึ่งผมเคยเห็นผลสำรวจของกรมอนามัยพบว่าบริเวณฝักบัวอาบน้ำจากตัวอย่างที่สุ่มเก็บพบเชื้อลีจิโอเนลลาถึง 36% โดยเชื้อดังกล่าวนี้มักเจริญเติบโตได้ดีในน้ำช่วงอุณหภูมิ 35-46 องศาเซลเซียส และจะพบเชื้อดังกล่าวได้มากใน หอผึ่งระบายความร้อน(Cooling Tower),ก็อกน้ำ,อ่างอาบน้ำ,อ่างล้างหน้า และบ่อพักน้ำ เป็นต้น เมื่อพิจารณาถึงช่วงอุณหภูมิที่เชื้อลีจิโอเนลลา เจริญเติบโตได้ดีแล้ว จะเห็นว่าเป็นช่วงของอุณหภูมิน้ำอุ่นซึ่งตามโรงแรมต่างๆ ที่เราเข้าพักก็มักจะมีน้ำอุ่นให้อาบกัน ซึ่งตามฝักบัวอาบน้ำนี่แหละเป็นแหล่งเพาะพันธ์ชั้นดีของเชื้อเหล่านี้เลย แต่ถ้าเราเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอาบน้ำอุ่น (จะบอกว่าส่วนตัวก็ชอบอาบน้ำอุ่นมาก) ก็ให้ทำอย่างนี้นะครับ ลองเอาไปใช้ดู ให้เปิดน้ำร้อนฝั่งน้ำร้อนนะไม่ต้องผสม ซึ่งอุณหภูมิของฝั่งน้ำร้อนโดยทั่วไปจะตั้งไว้ที่ 55-60 องศาเซลเซียส (ถ้าออกแบบดีๆนะ เพราะเคยเจอบางที่ตั้งไว้แค่ประมาณสี่สิบกว่าองศาเซลเซียส ซึ่งก็ต้องแนะนำกันไป) เปิดทิ้งไว้ซัก 1 นาที แล้วค่อยอาบ ก็พอจะทำให้เชื้อตายได้ แต่ถ้าให้ตายสนิท ก็ต้องประมาณครึ่งชั่วโมง คงเปลืองน้ำน่าดู แต่ไม่ต้องกังวลไปหรอกครับเพราะปัจจุบันกรมอนามัยก็มีการสุ่มตรวจสถานประกอบการกันอยู่แล้ว ซึ่งถ้าพบก็ต้องแก้ไข และฝากสำหรับผู้ออกแบบไว้นะครับออกแบบระบบผลิตน้ำร้อนก็ต้องเลือกอุณหภูมิให้ไม่ต่ำกว่า 55 องศาเซลเซียส แต่ตึกใหม่ๆไม่น่าจะมีปัญหา

วันนี้มีรูปมาฝากครับไว้ดูกันเพลินๆ มีคนเอามาฝากครับถ่ายจากโรงแรมที่ฝรั่งเศส บ้านเราไม่มีบ้างนะ


วันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ท่อลมสำหรับระบบระบายควัน

วันนี้เอาเรื่องมาตรฐานของ ท่อลมสำหรับระบบระบายควันมาฝากกัน เผื่อว่าใครจะนำไปใช้ปรับปรุงอาคารกัน ดูซิว่ามีอะไรกันบ้าง

1. ท่อลมระบายควัน จะต้องเป็นวัสดุที่ไม่ติดไฟ โดยวัสดุทำท่อลมรวมถึงอุปกรณ์ประกอบ จะต้องมีอัตราการทนไฟไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง

2. ท่อลมระบายควัน ที่เดินผ่านไปในพื้นที่ที่มีโอกาสจะติดไฟได้ด้วยตัวเอง จะต้องมีการป้องกันการแผ่รังสีความร้อนด้วยการหุ้มฉนวน โดยต้องทำให้ผิวหน้าด้านนอกของท่อมีอุณหภูมิไม่สูงกว่า 50 องศาเซลเซียส ฉนวนที่ใช้จะต้องเป็นวัสดุที่ไม่ติดไฟ

3. ท่อลมระบายควันจะต้องออกแบบให้มีความดันภายในท่อลมต่ำกว่าบรรยากาศภายนอกเพื่อป้องกันควันรั่วออกจากท่อลมระบายควัน

4. ท่อลมที่เดินผ่านผนังทนไฟจะต้องติดตั้งชุดแผ่นปรับลมกันไฟและควันลาม(Fire/Smoke Damper) แบบใช้มอเตอร์ขับ โดยปกติจะต้องปิดกันไฟและควันลามเสมอ จะเปิดก็ต่อเมื่อได้รับสัญญาณควันจากชั้นที่เกิดเพลิงไหม้เพื่อดูดควันออกจากชั้นนั้นเท่านั้น

(วันนี้ไม่มีรูปประกอบไม่ว่ากันนะครับ แต่ว่าดูของฝากดีกว่า)

เมื่อวันเสาร์กลับมาจากเพชรบูรณ์ ระหว่างทางถ่ายรูปมาฝาก ดูให้ขำ ขำ แล้วกัน นักเรียนเยอะเลย

วันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2553

ว่ากันด้วยเรื่อง E.M.

วันนี้ต้องบอกก่อนเลยว่าบทความวันนี้ไม่ได้คิดเอง ประมาณว่าไปรวบรวมมาจากหลายๆเวป เพราะส่วนตัวก็อยากทราบว่าจริงๆแล้วการที่จะนำ E.M. ไปใช้ประโยชน์ในการเป็นจุลินทรีย์ในระบบบำบัดน้ำเสียนั้นจะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียดีขึ้นหรือเปล่า ก็เลยหาข้อมูลจากผู้รู้หลายๆเวป รวมทั้งจากการที่ได้สอบถามข้อมูลในส่วนของผู้ดูแลอาคารที่ได้มีการนำ E.M. ไปใช้ประโยชน์ ว่าผลเป็นอย่างไร แต่ก่อนอื่นก็ต้องรู้จักกับเจ้า E.M. กันเสียก่อนนะครับ


E.M. ย่อมาจากคำว่า Effective Micro-organisms หมายถึง กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพคิดค้นพบโดย ศาสตราจารย์ ดร.เท รโอะ ฮิงะ (TEROU HIGA) แห่งมหาวิทยาลัยริวกิว เมืองโอกินาว่า ประเทศญี่ปุ่น โดยใช้เทคนิคทางชีวภาพ รวบรวมเฉพาะกลุ่มจุลินทรีย์ หมวดสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ ช่วยปรับปรุงสภาพความสมดุลย์ของสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น จุลินทรีย์หมวดสร้างสรรค์ที่มีใน EM ได้แก่ กลุ่มจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง แลกโตบาซิลัส เพนนิซีเลี่ยม ไตรโคเดอมา ฟูซาเรียม สเตรปโตไมซิส อโซโตแบคเตอ ไรโซเบียม ยีสต์ รา ฯลฯ

ลักษณะ โดยทั่วไปของ EM
เป็นของเหลวสีน้ำตาลกลิ่นหอมอมเปรี้ยวอมหวาน (เกิดจาก การทำงานของกลุ่มจุลินทรีย์ต่าง ๆ ใน E.M.) เป็นกลุ่ม จุลินทรีย์ที่มีชีวิต ไม่สามารถใช้ร่วมกับสารเคมีหรือ ยาปฏิชีวนะและยาฆ่าเชื้อต่าง ๆ ได้ ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต เช่น คน สัตว์ พืช และแมลงที่เป็นประโยชน์ ช่วยปรับสภาพความสมดุลย์ของสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ ที่ทุกคนสามารถนำไปเพาะขยายเพื่อช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง

ลักษณะ การผลิต
เพาะขยายจาก จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์มากกว่า 80 ชนิด จากกลุ่มจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง
- กลุ่มจุลินทรีย์ผลิตกรด แลคติค
- กลุ่มจุลินทรีย์ตรึงไนโตรเจน
- กลุ่ม จุลินทรีย์แอคทีโนมัยซีทส์
- กลุ่มจุลินทรีย์ยีสต์
ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่ได้จาก ธรรมชาตินำมาเพาะเลี้ยงและขยายให้จุลินทรีย์ขยายตัวด้วยปริมาณที่สมดุลย์กัน ด้วยเทคโนโลยีพิเศษ โดยใช้อาหารจากธรรมชาติ เช่น โปรตีน รำข้าว และสารประกอบอื่น ๆ ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต

(แหล่งที่มากจาก http://share.psu.ac.th/blog/em2551/6872)
อ่านแล้วเป็นไงครับเข้าใจกันหรือเปล่า แต่ส่วนตัวแล้วงงเล็กน้อย ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่ที่เราได้กันมาแทบทุกเวปที่ผมหาจะอธิบายถึงเจ้า E.M. ในลักษณะแบบนี้กันแทบทั้งหมด แต่ผมได้มีโอกาสเข้าไปอ่านกระทู้ในเวปบอร์ดของ
บริษัท เวสท์วอเตอร์ โอเปอเรชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งพูดถึง E.M. ได้ค่อนข้างถูกใจมาก ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับข้อมูลดังกล่าว ก็เลยเอามาฝากกัน โดยเขากล่าวไว้ว่า

"ด้วยความเข้าใจของผม EM ไม่น่าจะหมายถึงจุลินทรีย์ แต่น่าจะหมายถึงเอ็นไซม์ ของจุลินทรีย์ที่สังเคราะห์ขึ้นมากกว่า เพราะโดยปรกติในการกินอาหารของสิ่งมีชีวิตระดับเซล (เช่นจุลินทรีย์) จะใช้วิธีการปล่อยเอ็นไซม์ ออกไปเพื่อย่อยโมเลกุล ของอาหารหรือสารอินทรีย์ให้มีขนาดเล็กลง

เราจึงเห็น Application ของการใช้ EM คือ การลดกลิ่นเหม็น ลดคราบสกปรก ย่อยตะกอนสะสม ย่อยกากสารอินทรีย์ ในบ่อปลา บ่อส้วม บ่อขยะ บ่อดักไขมัน อะไรทำนองนี้มากกว่าที่จะเห็นการใช้ EM เป็นสารบำบัดหลักในระบบบำบัดน้ำเสีย ชนิดหนึ่งชนิดใด

มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า EM เป็นจุลินทรีย์เพื่อการบำบัดของเสีย ก็เลยมีการนำมาใส่ลงในถังเติมอากาศของระบบบำบัดน้ำเสีย ผลที่ได้เป็นไปในทางตรงกันข้าม คือ ระบบล่ม เชื้อที่เลี้ยงไว้ตาย และน้ำในระบบมีสภาพยากแก่การอธิบาย"

หากใครมีข้อมูลเพิ่มเติมหรือข้อมูลใหม่ๆ ก็แชร์กันได้นะครับ สำหรับของฝากวันนี้ไม่มีครับมีแต่เอาบุญมาฝากเพราะเพิ่งกลับมาจากทำบุญที่วัดมา ใครเข้ามาอ่านบล็อคก็ขอให้ได้บุญเท่าๆกันนะครับ

วันเสาร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553

วิธีคำนวณการเก็บสต็อคน้ำยาโฟม

สงกรานต์นี้ไปเที่ยวไหนกันบ้างครับ ถ้าไปเที่ยวก็ระวังตัวกันด้วยนะครับและที่สำคัญเที่ยวเผื่อด้วยเด้อ สำหรับวันนี้หยิบยกเรื่องการคำนวณหาปริมาณโฟมที่ใช้ในการดับเพลิงมาให้ไว้เป็นข้อมูลกันเพราะที่ผ่านมาบางครั้งพบว่าแต่ละที่มีการจัดเตรียมน้ำยาโฟมสำหรับดับเชื้อเพลิงประเภท B กันไว้ในบริเวณสถานที่จัดเก็บแต่จะทราบได้อย่างไรว่าปริมาณน้ำยาโฟมที่เตรียมไว้เพียงพอที่จะดับไฟหรือเปล่า แต่ก่อนที่เข้าวิธีการคำนวณ สิ่งที่ต้องทราบเบื้องต้นก่อนคืออัตราการไหลของการฉีดโฟมตามประเภทของเชื้อเพลิง และระยะเวลาการฉีดใช้

1. อัตราการไหลของการฉีดโฟม (Foam Application Rate)

1.1 กรณีดับเพลิงสารจำพวก Hydrocarbon (สารที่ไม่ละลายน้ำ) เช่น น้ำมัน,Gasoline
ใช้อัตราการไหล 4.1 ลิตร/นาที/ตารางเมตร

1.2 กรณีดับเพลิงสารจำพวก Polar Solvent (สารที่ละลายตัวกับน้ำได้) สารที่มีขั้ว
เช่น ทินเนอร์,แอลกอฮอล์
ใช้อัตราการไหล 6.5 ลิตร/นาที/ตารางเมตร

1.3 กรณีฉีดโดยใช้สายดับเพลิงฉีดผ่านหัวฉีดหรือ Monitor
ใช้อัตราการไหล 6.5 ลิตร/นาที/ตารางเมตร

2. ระยะเวลาการฉีดใช้

2.1 กรณีดับเพลิงของเหลวรั่วไหลลงพื้น (Spill Fire)
(Non Diked Spill Area) ให้ฉีดต่อเนื่อง 10-15 นาที

2.2 กรณีดับเพลิงของเหลวในพื้นที่รอบแทงค์
(Dike Area) ให้ฉีดต่อเนื่อง 20-30 นาที

2.3 กรณีดับเพลิงของเหลวในแทงค์เก็บ
(Tank Area) ให้ฉีดต่อเนื่อง 55-65 นาที


วิธีการคำนวณการเก็บสต็อคน้ำยาโฟม

ยกตัวอย่างสมมติ กรณีใช้ดับเพลิงในพื้นที่รอบแทงค์ ขนาด 40 ตารางเมตร โดยถังบรรจุทินเนอร์

  • อัตราการฉีดโฟม = 40 x 6.5 = 260 ลิตรต่อนาที
  • ระยะเวลาการฉีดใช้ = 20 นาที
  • ปริมาณโฟมที่ใช้ทั้งหมด = 260 x 20 = 5,200 ลิตร
  • ใช้โฟมชนิด AR-AFFF (3%3%) ความเข้มข้น 3% ดังนั้นจะต้องสต็อคโฟมที่เป็นเนื้อโฟมไว้ จำนวน = 5,200 x 0.03 = 156 ลิตร
ลองเอาไปคิดคำนวณกันดูนะครับว่าจะต้องเตรียมกันเท่าไหร่

สำหรับวันนี้มีของฝากอีกเช่นเคยเป็นไฟแสงสว่างฉุกเฉินอีกเช่นกันเพราะเคยเอามาฝากไว้รูปหนึ่งแล้วแต่คราวนี้เป็นอีกแบบผมว่าอายุคงประมาณ 20 กว่าปีน่าจะได้นะ

วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2553

ไฟไหม้กะทะห้ามใช้น้ำดับ

วันนี้เรียกว่าเป็นบทความเฉพาะกิจดีกว่า เพราะว่าไม่ได้เน้นเนื้อหาเอาเป็นวีดีโอประกอบจะได้เห็นภาพกันชัดๆว่าไฟจากเชื้อเพลิงประเภท K ซึ่งเป็นเพลิงไหม้ที่เกิดจากน้ำมันที่ใช้ประกอบอาหาร ได้แก่ น้ำมันพืช น้ำมันหมู ซึ่งหากอุณหภูมิของกะทะสูงถึง 280-300 เซลเซียส น้ำมันภายในกะทะจะลุกติดไฟได้เองซึ่งถ้าถึงตอนนั้นการดับไฟจะค่อนข้างยาก และที่สำคัญที่จะบอกก็คือห้ามใช้น้ำดับนะครับ ดูวีดีโอแล้วกัน


วิธีในการดับไฟที่ง่ายที่สุดในกรณีนี้ สามารถทำได้โดยใช้ฝากะทะมาปิดเพื่อป้องกันออกซิเจนในอากาศรวมตัวกับเชื้อเพลิง นอกจากนี้ในปัจจุบันมีผู้ผลิตหลายที่ที่ผลิตถังดับเพลิงมือถือที่ใช้ในการดับไฟประเภทนี้โดยเฉพาะ ลองขอข้อมูลจากบริษัทผู้ผลิตดูนะครับ แต่วันนี้เอามาฝากหนึ่งชนิดเป็นถังดับเพลิงชนิด Low Pressure Water Mist) ซึ่งก็สามารถดับไฟได้ทัั้ง Class A B C และ K ก็ลองเข้าไปศึกษาข้อมูลดูได้นะครับ และที่สำคัญส่วนตัวแล้วผมว่าถังดับเพลิงประเภทนี้น่าจะเป็นถังดับเพลิงที่จะมาทดแทนฮาลอนได้ดีทีเดียว เนื่องจาก Fire Rating ในการดับเพลิงประเภท A จะดีกว่า Halotron มาก นอกจากนี้ราคาก็ถูกกว่าด้วย ก็ลองพิจารณากันตามความเหมาะสมแล้วกันนะครับ

วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2553

การฆ่าเชื้อโรคในสระว่ายน้ำด้วยระบบเกลือ




สระว่ายน้ำที่สร้างขึ้นช่วงหลังๆ พบว่ามีการใช้ระบบเกลือในการฆ่าเชื้อโรคมากขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากข้อเสียของระบบการฆ่าเชื้อโรคแบบเดิมซึ่งใช้คลอรีน ที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังและกลิ่นซึ่งบางคนไม่ชอบ วันนี้เลยขอหยิบยกเรื่องการฆ่าเชื้อโรคด้วยระบบเกลือมาฝากกัน

ระบบเกลือ
จะใช้เครื่องผลิตคลอรีนอัตโนมัติจากเกลือ (Salt Water Chlorinator) ระบบนี้จะใช้เกลือในการฆ่าเชื้อโรคแทนคลอรีน โดยอาศัยวิธีทางไฟฟ้า ที่เรียกว่า Electrolysis ทำหน้าที่ในการแยก Cl จากเกลือ เนื่องจากในเกลือมีคลอรีนผสมอยู่ คือ NaCl
การใช้งานเราต้องใส่เกลือ NaCl ลงไปในสระว่ายน้ำ ให้มีความเข้มข้นอยู่ระหว่าง 3,000-3,500 ppm. และให้น้ำเกลือผสมอยู่ไหลผ่าน Electrolytic Cell ซึ่งจะทำหน้าที่แยกคลอรีนโดยกระแสไฟฟ้าออกมา คลอรีนที่ได้มีประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อโรคเหมือนกับการใช้คลอรีนใส่ลงไปในสระว่ายน้ำ

ข้อดีของระบบเกลือ
1. ประหยัดค่าสารเคมี เนื่องจากราคาเกลือมีราคาถูกกว่าคลอรีน
2. ประหยัดค่าแรงงานในการดูแลรักษา เนื่องจากไม่ต้องเติมเกลือบ่อยเหมือนคลอรีน
3. การใช้งานง่าย สะดวก เพราะเป็นระบบอัตโนมัติ
4. ติดตั้งอุปกรณ์ง่าย สามารถใช้กับสระว่ายน้ำที่มีอยู่แล้วได้

ข้อจำกัดของระบบเกลือ
1. ราคาค่าอุปกรณ์มีราคาสูง
2. น้ำมีรสชาติเป็นน้ำกร่อย
3. อาจต้องถ่ายน้ำทิ้งบ่อยถ้ามีความเข้มข้นของเกลือสูง

โดยปริมาณเกลือที่ใช้ในการเดินระบบในครั้งแรกนั้นจะใช้เกลือประมาณ 3 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1 ลบ.ม.

วันนี้แค่นี้ก่อนแล้วกันนะครับไปเคลียร์งานต่อยังอีกหลายอย่าง ส่วนของฝากติดไว้ก่อนนะครับไว้เรื่องหน้าจะหามาฝาก (ส่วนรูปสระถ่ายเองกับมือเป็นไงครับสวยหรือเปล่า)

สาเหตุและการแก้ปัญหาสำหรับถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูป

เรื่องนี้จะว่าไปก็เป็นภาคต่อจากบทความเรื่องก่อนที่ได้นำมาลงไว้ จะเขียนหลายวันแล้วไม่ได้เขียนเสียทีวันนี้ฤกษ์ดีก็เลยเอามาลงไว้ให้อ่านกันเสียหน่อย แต่รายละเอียดวันนี้คงไม่ได้เน้นทฤษฎีมากนะครับ แต่คงเป็นการแก้ปัญหาเบื้องต้นที่พบกันบ่อยสำหรับถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูป เผื่อว่าใครเจอปัญหาจะได้นำไปแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นได้ อธิบายเป็นข้อๆแล้วกันนะครับ


1. มีคราบน้ำมันหรือไขมันลอยอยู่บนผิวน้ำ
สาเหตุ อาจจะไม่ได้มีการติดตั้งบ่อดักไขมันก่อนที่น้ำเสียจะเข้าถังบำบัด หรือปริมาณไขมันในบ่อดักไขมันมีปริมาณสูงจนล้นเข้าสู่ถังบำบัด

วิธีแก้ไข ให้ทำการทำความสะอาดภายในถังบำบัดและควรติดตั้งบ่อดักไขมันก่อนน้ำเสียจะเข้าระบบหรือให้ดำเนินการตักไขมันในบ่อดักไขมันให้ถี่ขึ้น

2. การกวนผสมของอากาศในถังเติมอากาศมีเพียงบางจุด
สาเหตุ หัวจ่ายอากาศอุดตัน ท่อจ่ายอากาศแตกชำรุด

วิธีแก้ไข ให้ทำความสะอาดหัวจ่ายอากาศ และซ่อมแซมท่อจ่ายอากาศ

3. เกิดฟองขาวเป็นแผ่นหนาในถังเติมอากาศ
สาเหตุ ปริมาณตะกอนจุลินทรีย์ในระบบไม่เพียงพอ

วิธีแก้ไข ไม่ต้องกำจัดตะกอนส่วนเกิน (ให้ทำการสูบตะกอนกลับมายังถังเติมอากาศทั้งหมด)

4. เกิดชั้นฝ้าหนาสีน้ำตาลเข้ม
สาเหตุ มีปริมาณตะกอนจุลินทรีย์ในระบบมากเกินไป

วิธีแก้ไข ให้เพิ่มปริมาณการกำจัดตะกอนส่วนเกินในระบบ

5. เกิดกลิ่นจากถังบำบัดน้ำเสีย

สาเหตุ ปริมาณน้ำเข้าระบบมากเกินไป มีปริมาณอากาศไม่เพียงพหรือเครื่องเติมอากาศไม่ทำงาน

วิธีแก้ไขปัญหา ลดปริมาณน้ำเข้าระบบหรือตรวจสอบเครื่องเติมอากาศว่าทำงานเป็นปกติหรือไม่

จะว่าไปแล้วข้อสุดท้ายนี่อาจจะเป็นปัญหาที่พบมากที่สุดเนื่องจากไม่จำเป็นต้องเปิดฝาถังก็สามารถสัมผัสได้ แต่ก็ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งนะครับถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปนั้นจะทำงานได้ดี หรือเหมาะกับน้ำเสียที่มีลักษณะไหลต่อเนื่องในปริมาณไม่สูง ง่ายๆก็คือระบบนั้นรับ Peak Load ได้ไม่ดี ดังนั้นผู้ออกแบบบางคนจึงอาจจะเผื่อขนาดของถังให้ใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับช่วง Peak Load แต่จากประสบการณ์นะครับถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปเหมาะกับระบบที่มีปริมาณน้ำเสียไม่สูงมากนัก ถ้าน้ำเสียมากๆเกิน 100 ลบ.ม./วัน ผมว่าใช้เป็นระบบอื่นดีกว่า เนื่องจากความยืดหยุ่นในการเดินระบบจะดีกว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องพิจารณา ประเภทของน้ำเสียและลักษณะของน้ำเสียเข้าระบบด้วยนะครับ เรื่องพวกนี้ไม่มีอะไรตายตัวหรอกครับ ไว้เจอกันเรื่องหน้านะครับ และก่อนจากกันวันนี้มีรูปมาฝากเช่นเคย ไปตรวจงานที่เชียงใหม่ เห็นไฟแสงสว่างฉุกเฉิน รุ่นหนึ่งหน้าตาดูแปลกดีไม่เคยเห็น ที่สำคัญมีลูกศรแสดงเส้นทางด้วยก็เลยเอามาฝากกัน

วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การบำรุงรักษาระบบบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูป

เหลือสองวันจะสิ้นเดือน ที่สำคัญต้องลงบทความให้ครบตามที่สัญญาไว้ด้วย 5555 ช่วงนี้ยุ่งจริงๆครับ นี่ก็เพิ่งไปอบรมให้กับกลุ่ม จป.ลำพูน กลับมาก้อดึกพอควร แต่ต้องขอชื่นชมนะครับว่า ชมรมจป. ที่นั่นรวมตัวกันได้เหนี่ยวแน่นดีและมีการจัดกิจกรรมตลอด ก้อยินดีนะครับถ้าจะให้ไปจัดอีก แต่คราวหน้าคงต้องเปลี่ยนตัววิทยากร น่าจะเบื่อผมกันแล้ว เข้าเรื่องดีกว่า

ระบบประกอบอาคารระบบหนึ่งที่ผมมักพบว่าถูกทอดทิ้งและไม่ค่อยมีใครเหลียวแล มากที่สุดระบบหนึ่งก็คือระบบบำบัดน้ำเสีย โดยเฉพาะกรณีที่ใช้เป็นระบบบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปด้วยแล้วบอกได้เลยว่าบางที่ฝังลืมเลยจะมารู้ตัวอีกทีก้อตอนที่ระบบแย่แล้ว บางที่หนักถึงขั้นต้องขุดออกมาเพื่อติดตั้งถังใหม่ก็มี วันนี้ก็ขอนำข้อแนะนำสำหรับการดูแลระบบบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปมาฝากกัน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ดูแลว่าจะต้องเตรียมการอย่างไรบ้าง สำหรับข้อมูลที่นำมาเสนอนั้นผมนำมาจากเอกสารของบริษัทที่จำหน่ายถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งรายละเอียดการบำรุงรักษา จะเป็นถังที่มีขนาดปานกลางถึงขนาดใหญ่ ไว้เอาไปปรับใช้ให้เหมาะกับแต่ละที่กันดู นะครับ

ข้อแนะนำในการบำรุงดูแลรักษาระบบบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูป
1. ตรวจสอบน้ำมันหล่อลื่นสำหรับเครื่องเป่าอากาศ ถ้าหากมีน้อยเกินไปก็ให้เติมน้ำมันหรือจาระบีชนิดที่ใช้เฉพาะกับเครื่องของทางบริษัทฯ
2. ตรวจสอบตัวกรองอากาศของเครื่องเป่าอากาศ ถ้ามีฝุ่นละอองสะสมอยู่มากให้เป่าทำความสะอาดโดยใช้อากาศอัดเข้าไปเท่านั้น
3. ตรวจสอบตะกอนและของแข็งต่างๆ ซึ่งอาจทับถมอยู่ในช่องบำบัดส่วนต่างๆ ถ้าหากมีตะกอนมากเกินไปให้ทำการสูบตะกอนเหล่านั้นออก โดยปกติการสูบตะกอนจะทำทุกๆ 2 ปี ในกรณีที่มีการทิ้งขยะหรือกระดาษชำระลงมามาก ช่วงเวลาที่ต้องทำการสูบตะกอนทิ้งก็จะสั้นเข้ามา
4. ตรวจสอบท่อเติมอากาศภายในถัง ถ้าหากมีการรั่วหรืออุดตันให้แก้ไขทันที
5. ตรวจสอบท่อสูบตะกอนกลับและท่อส่งอากาศ ถ้ามีการอุดตันให้แก้ไขทันที
6. ตรวจสอบคุณภาพน้ำตามตัวชี้วัดต่อไปนี้ BOD,SS,pH (เพื่อการประเมินขั้นต้น)

โดยการบำรุงดูแลรักษาในให้ทำเป็นประจำทุกๆ 3 เดือน

และวันนี้ผมนำรูปถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปที่แตกเสียหายมาฝากกัน สาเหตุไม่แน่ชัด แต่การสูบตะกอนออกจากถังหรือการติดตั้งถังใหม่ ระวังด้วยนะครับจะต้องมีน้ำอยู่ในถังประมาณ 1 ใน 3 เป็นอย่างน้อย (ข้อนี้ขอให้ปรึกษาผู้ผลิตนะครับ) ไม่อย่างนั้นความดันของดินโดยรอบจะดันให้ถังแตกเสียหายได้

วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ข้อกำหนดในการติดตั้งไฟแสงสว่างฉุกเฉิน

เข้าเรื่องเลยแล้วกันวันนี้ไม่ต้องพรรณนามาก
จากประสบการณ์ที่ผ่านมาช่วงสองสามปีที่ได้มีโอกาสตรวจสอบอาคารนั้นพบว่าระบบพื้นฐานด้านความปลอดภัยของอาคารนอกจากระบบดับเพลิงแล้ว ระบบที่มีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือระบบการอพยพผู้คนออกจากอาคารซึ่งก็ประกอบไปด้วยระบบบันไดหนีไฟ ทางหนีไฟ ป้ายทางออกฉุกเฉิน ไฟแสงสว่างฉุกเฉิน รวมถึงระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ วันนี้จึงขอหยิบยกเรื่อง "ไฟแสงสว่างฉุกเฉิน" มาเล่าสู่กันฟัง ตอนแรกก็คิดอยู่ว่ามันจะง่ายไปหรือเปล่า คนน่าจะรู้กันหมดแล้ว แต่จากที่ได้สัมผัสมาพบว่าการติดตั้งไฟแสงสว่างฉุกเฉินในอาคารใหม่บางแห่งก็ยังติดตั้งไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ซึ่งบ้านเรานั้นคงต้องอ้างอิงตามมาตรฐานของ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ซึ่งฉบับใหม่ล่าสุดนั้นปรับปรุงเมื่อปี 2551 จึงขอนำบางตอนของมาตรฐานมาเล่าให้ฟังว่าข้อกำหนดที่ต้องพิจารณาในการติดตั้งนั้นมีอะไรกันบ้าง ดูกันนะครับเผื่อว่าต้องปรับปรุงจะได้ให้เป็นไปตามมาตรฐานหน่อย


ขอสรุปประเด็นหลักๆเป็นข้อๆ ดังนี้

1. แหล่งจ่ายไฟฟ้าแสงสว่างให้ใช้โคมที่จ่ายไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ สามารถประจุกลับเข้าไปใหม่ได้เองโดยอัตโนมัติ ไม่อนุญาตให้ใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเป็นแหล่งจ่ายไฟให้กับโคมไฟฟ้าฉุกเฉิน

2. ต้องให้ความสว่างติดต่อกันนานไม่น้อยกว่า 90 นาที (สำหรับอาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารสูง ตามที่กฎหมายกำหนด และสถานพยาบาล ต้องมีความส่องสว่างติดต่ิอกันนานไม่น้อยกว่า 120 นาที

3. โคมไฟฟ้าฉุกเฉินต้องติดตั้งจากพื้นไม่น้อยกว่า 2 เมตร โดยวัดจากพื้นถึงด้านล่างของโคมไฟฟ้าฉุกเฉิน กรณีติดตั้งต่ำกว่า 2 เมตร จะต้องไม่กีดขวางเส้นทางหนีภัย

4. ระดับความสว่างเพื่อการหนีภัย โดยที่เส้นกึ่งกลางของทางหนีภัยต้องไม่น้อยกว่า 1 ลักซ์

5. พื้นที่เก็บอุปกรณ์ดับเพลิง อุปกรณ์แจ้งเหตุ และอุปกรณ์ปฐมพยาบาล ความส่องสว่างในแนวระดับที่พื้น ต้องไม่น้อยกว่า 15 ลักซ์ ในรัศมีจากตำแหน่งติดตั้งอุปกรณ์ (จากข้อนี้ผมตีความว่าจริงๆแล้วทางหนีไฟภายในพื้นที่ก็ต้องมีความส่องสว่างไม่น้อยกว่า 15 ลักซ์ เนื่องจากเรามีการติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงและอุปกรณ์แจ้งเหตุไว้)

6 นอกจากพิจารณาถึงความส่องสว่างภายในพื้นที่แล้ว โคมไฟฟ้าฉุกเฉินจะต้องเพิ่มเติมในจุดต่างๆ เหล่านี้ อันได้แก่
  • หน้าป้ายทางออกชนิดส่องสว่างจากภายนอกหรือบริเวณทางออก
  • ทางแยก ให้ติดตั้งโคมไฟฟ้าฉุกเฉินห่างจากทางแยกไม่เกิน 2 เมตรในแนวระดับ
  • ให้ติดเพิ่มเติมที่จุดแจ้งเหตุเพลิงไหม้ จุดติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง และอุปกรณ์ปฐมพยาบาล
  • ติดเพิ่มเติมในส่วนของห้องเครื่อง ห้องควบคุม ห้องต้นกำลัง ห้องสวิตช์ และบริเวณใกล้กับอุปกรณ์ควบคุมการจ่ายไฟแสงสว่างปกติและไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน
  • ห้องน้ำให้ติดตั้งในห้องน้ำทั่วไปที่มีพื้นที่มากกว่า 8 ตารางเมตร และห้องน้ำสำหรับคนพิการ
สำหรับในมาตรฐานยังมีรายละเอียดในอีกหลายส่วนที่น่าสนใจใครสนใจก็หาซื้อมาอ่านกันได้นะครับ

เช่นเคยครับวันนี้มีภาพมาฝากผมเคยนำรูปป้ายหัวรับน้ำดับเพลิงที่มีขนาดใหญ่มาให้ชมกัน วันนี้เลยขอนำภาพป้ายทางหนีไฟที่ผมคิดว่าใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเห็นมานะครับ ถ้าใครเจอใหญ่กว่านี้ส่งมาให้ดูกันบ้างนะครับ ไว้เจอกันเรื่องหน้าครับ

วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2553

กฎหมายควบคุมอาคารประหยัดพลังงานเกี่ยวกับ OTTV&RTTV

ยังจำได้ว่าเมื่อซักสามปีที่แล้วมีโอกาสไปประชุมงานโครงการที่กำลังก่อสร้างอยู่แล้วมีคำถามว่ารู้ความหมายของ OTTVและRTTV หรือเปล่า เรามันก้อไม่ได้ทำงานมาด้านนี้รู้บ้างก้อนิดหน่อย เลยตอบอย่างมั่นใจเพื่อไม่ให้เสียฟอร์ม "ไม่ทราบครับ" 5555 แหมจะกลัวทำไมเสียฟอร์มไม่รู้ก้อบอกไม่รู้จริงป่าว แต่พอกลับจากประชุมผมก้อถามผู้รู้หลายท่านแล้วก้อหาหนังสือมาอ่านว่าเจ้า OTTV&RTTV ที่มักจะกล่าวถึงเสมอถ้าพูดถึงเรื่องอาคารประหยัดพลังงานมันมีความหมายว่าอะไร จะเลยขอหยิบยกประเด็นนี้มาฝากทุกคนกัน


OTTV คือค่าการถ่ายเทความร้อนรวมของผนังด้านนอกอาคาร หรือส่วนของอาคารที่มีการปรับอากาศ


RTTV คือค่าการถ่ายเทความร้อนรวมของหลังคาอาคาร

สำหรับค่าที่ใช้เป็นมาตรฐานและหลักเกณฑ์ของอาคารควบคุมนั้นถ้าอ้างอิงตามรายละเอียดตามข้อกำหนดในกฎกระทรวง พ.ศ.2538 ออกตามความในพระราชบัญญัติการส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน นั้นค่า OTTV สำหรับอาคารเก่า ไม่เกินกว่า 55 วัตต์ต่อตารางเมตร และ45 วัตต์ต่อตารางเมตร สำหรับอาคารใหม่

แต่สำหรับอาคารที่ขออนุญาตก่อสร้างตั้งแต่กรกฎาคม 2552 นั้นจะต้องใช้ค่ามาตรฐานและหลักเกณฑ์ในการออกแบบอาคาร ตาม "กฎกระทรวง กำหนดประเภท หรือขนาดของอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการ ในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2552
ซึ่งได้มีการกำหนดค่าต่างๆ ตามประเภทอาคารไว้ดังนี้

1. ค่า OTTV

1.1 สถานศึกษา สำนักงาน
กำหนดค่าไม่เกิน 50 วัตต์ต่อตารางเมตร
1.2 โรงมรสพ ศูนย์การค้า สถานบริการ ห้างสรรพสินค้า อาคารชุมนุมคน
กำหนดค่าไม่เกิน 40 วัตต์ต่อตารางเมตร
1.3 โรงแรม สถานพยาบาล อาคารชุด
กำหนดค่าไม่เกิน 30 วัตต์ต่อตารางเมตร

2. ค่า RTTV

2.1 สถานศึกษา สำนักงาน
กำหนดค่าไม่เกิน 15 วัตต์ต่อตารางเมตร
2.2 โรงมรสพ ศูนย์การค้า สถานบริการ ห้างสรรพสินค้า อาคารชุมนุมคน
กำหนดค่าไม่เกิน 12 วัตต์ต่อตารางเมตร
2.3 โรงแรม สถานพยาบาล อาคารชุด
กำหนดค่าไม่เกิน 10 วัตต์ต่อตารางเมตร

สำหรับอาคารที่มีการใช้งานพื้นที่หลายลักษณะ พื้นที่แต่ละส่วนต้องใช้ข้อกำหนดของระบบกรอบอาคารตามลักษณะการใช้งานของพื้นที่แต่ละส่วนนั้น

วันนี้ไม่มีของฝากนะครับติดไว้ก่อน ต้องรีบทำงานไม่งั้นแย่แน่ บาย......