วันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เครื่องมือคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์

วันนี้ถือว่าเป็นของฝากแล้วกันนะครับ นั่งทำงานอยู่ พักหัวนิดก็ลองคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ผมมีส่วนปล่อยออกมา ดูหน่อยว่าเป็นเท่าไหร่ ก็เลยเอามาฝากกัน ลองเข้าไปดูนะครับ

http://thaicfcalculator.tgo.or.th/index.html

ส่วน ตัวผมชอบตรงที่มีข้อแนะนำด้วยว่าเราสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้อย่างไร เช่นของผม เขาแนะนำให้เปิดใช้คอมพิวเตอร์น้อยลงอีก 1 ชั่วโมง แต่น่าจะยาก มีแต่จะเพิ่มขึ้น 5555 แต่จะทำดูนะครับ

สำหรับผลจากการกรอกข้อมูลในเวป แสดงผลดังนี้ครับ

สำหรับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ นั้นหมายถึง ประมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์ ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การประกอบชิ้นส่วน การใช้งาน และการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังการใช้งาน โดยคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เที่ยบเท่าต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ (บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์)


ส่วนขนาดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่คำนวณโดยเว็บไซด์ หมายถึง ปริมาณการปลดปล่อย
ก๊าซเรือนกระจก อันเนื่องมาจากกิจกรรมที่ทำในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคไทยทั่วไป ได้แก่ กิจกรรมในบ้านเรือน กิจกรรมในสถานที่ทำงาน การเดินทางไปทำงานหรือ
สันทนาการ ตลอดจนกิจกรรมการบริโภคอาหาร แสดงผลเป็น กิโลกรัมคาร์บอน-
ไดออกไซด์เทียบเท่า พร้อมทั้งการแสดงผลในรูปกราฟบ่งชี้กิจกรรม ที่ก่อให้เกิด
การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด และพื้นที่ป่าที่ต้องการในการดูดซับก๊าซเรือน
กระจก เพื่อการชดเชยการปลดปล่อย ก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนทางเลือกในการช่วยลดปริมาณ การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

(http://thaicfcalculator.tgo.or.th/index.html)

ลองเข้าไปดูนะครับเผื่อว่าจะช่วยโลกเราจากปี 2012 ได้

วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2553

มาตรวัดความดัน (Pressure Gauge) ในระบบดับเพลิง




ตั้งใจว่าจะเขียนเกี่ยวกับการติดตั้งระบบเครื่องสูบน้ำดับเพลิง เพราะมีหลายคนอยากอ่านกัน แต่ถ้าจะเขียนรวดเดียวคงไม่ไหว เลยเอาเป็นเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยกันน่าจะดีกว่า เผื่อว่าตอนนี้ใครที่จะกำลังทำก็จะได้ทำถูกต้องส่วนคนที่ติดไปแล้วก็จะได้กลับไปดูว่าของเราเป็นอย่างไร แต่ถ้าใครมีความเห็นอย่างไรก็มาแชร์กันครับ

วันนี้เลยเอาเรื่องที่ดูเล็กๆ ก่อน แต่ก็น่าแปลกใจนะครับว่าจากที่เคยตรวจมา ข้อนี้เป็นข้อที่ติดตั้งผิดกันเยอะมาก น่าจะพอๆ กับการเลือกใช้ Pump ผิดประเภท (แซว เล่นนะครับ แต่ว่าเรื่องจริง 555)

วันนี้วันดี เริ่มด้วย มาตรวัดความดัน (Pressure Gauge) นะครับ สำหรับมาตรวัดความดันที่จะกล่าวถึง ขอยกในจุดที่สำคัญนะครับ คือบริเวณ ทางด้านดูด และทางด้านส่ง ของเครื่องสูบน้ำดับเพลิง ก่อนอื่นมาดูมาตรฐานกันก่อนครับว่าเขากำหนดกันอย่างไร

1. มาตรวัดความดันด้านดูด เป็นมาตรวัดที่อ่านค่าสูญญากาศได้ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 90 mm. พร้อมกับประตูน้ำขนาด 1/4 นิ้ว หน้าปัดสามารถอ่านค่าความดันได้ไม่น้อยกว่า 2 เท่าของความดันด้านดูดที่กำหนดของเครื่องสูบน้ำดับเพลิง หรือไม่เกิน 100 psi (มาตรฐาน วสท.)


นั่นหมายถึงว่าต้องดูครับว่าความดันด้านดูดของระบบเรามีค่าประมาณเท่าไหร่ แล้วก็ต้องเลือก Scale ให้มากกว่า 2 เท่า หรือเลือกค่าสูงสุดของ Scale ไม่น้อยกว่า 100 psi แต่จากที่ตรวจสอบพบว่าที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีการติดตั้งมาตรวัดแรงดัน ที่มี Maximum Scale เท่ากับ 300 psi กันเยอะมาก ซึ่งพอจะอ่านค่าจะบอกว่าเข็มของเกจน์ขึ้นมานิดเดียว ง่ายๆ ก็คือ Scale มันหยาบไปครับ ถ้าเราเลือกเกจน์ที่ละเอียดหน่อยจะได้อ่านค่าได้แม่นยำขึ้นครับ


2. มาตรวัดความดันด้านส่ง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 90 mm. พร้อมกับประตูน้ำขนาด 1/4 นิ้ว หน้าปัดสามารถอ่านค่าความดันได้ไม่น้อยกว่า 2 เท่าของความที่กำหนดของเครื่องสูบน้ำดับเพลิง หรือไม่น้อยกว่า 200 psi (มาตรฐาน วสท.)



ถ้าสมมติเครื่องสูบน้ำดับเพลิงเราออกแบบที่ 120 psi ค่าสูงสุดที่อ่านได้ของเกจน์ ก็ต้องอ่านค่าที่ 240 psi ได้ ซึ่งที่มีขายกันตามท้องตลาดก็จะเป็นเกจน์ ที่อ่านค่าได้ถึง 300 psi

สำหรับของฝากวันนี้เช่นเคยครับ เรื่องการติดต้้ง มาตรวัดความดัน ทั้งทางด้านดูดและด้านส่งของเครื่องสูบน้ำดับเพลิง โดยการติดตั้งจะต้องติดตั้งให้อยู่ใกล้ตัวเครื่องมากที่สุด ซึ่งตำแหน่งที่เหมาะสม ควรจะติดบริเวณด้านข้าง ซึ่งถ้าดูให้ดีนะครับทางผู้ผลิตเครื่องสูบน้ำดับเพลิงจะเตรียมปลั๊กอุดมาให้แล้ว แต่ก็ลองดูนะครับว่ามีที่ให้ติดเตรียมมาหรือเปล่า ทั้งนี้เพื่อให้ค่าที่อ่านได้มีความแม่นยำ


ไว้เจอกันเรื่องหน้าครับผม เกือบลืมต่อเรือกันด้วยนะครับ ระวังน้ำท่วม 5555