วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2553

ไฟไหม้กะทะห้ามใช้น้ำดับ

วันนี้เรียกว่าเป็นบทความเฉพาะกิจดีกว่า เพราะว่าไม่ได้เน้นเนื้อหาเอาเป็นวีดีโอประกอบจะได้เห็นภาพกันชัดๆว่าไฟจากเชื้อเพลิงประเภท K ซึ่งเป็นเพลิงไหม้ที่เกิดจากน้ำมันที่ใช้ประกอบอาหาร ได้แก่ น้ำมันพืช น้ำมันหมู ซึ่งหากอุณหภูมิของกะทะสูงถึง 280-300 เซลเซียส น้ำมันภายในกะทะจะลุกติดไฟได้เองซึ่งถ้าถึงตอนนั้นการดับไฟจะค่อนข้างยาก และที่สำคัญที่จะบอกก็คือห้ามใช้น้ำดับนะครับ ดูวีดีโอแล้วกัน


วิธีในการดับไฟที่ง่ายที่สุดในกรณีนี้ สามารถทำได้โดยใช้ฝากะทะมาปิดเพื่อป้องกันออกซิเจนในอากาศรวมตัวกับเชื้อเพลิง นอกจากนี้ในปัจจุบันมีผู้ผลิตหลายที่ที่ผลิตถังดับเพลิงมือถือที่ใช้ในการดับไฟประเภทนี้โดยเฉพาะ ลองขอข้อมูลจากบริษัทผู้ผลิตดูนะครับ แต่วันนี้เอามาฝากหนึ่งชนิดเป็นถังดับเพลิงชนิด Low Pressure Water Mist) ซึ่งก็สามารถดับไฟได้ทัั้ง Class A B C และ K ก็ลองเข้าไปศึกษาข้อมูลดูได้นะครับ และที่สำคัญส่วนตัวแล้วผมว่าถังดับเพลิงประเภทนี้น่าจะเป็นถังดับเพลิงที่จะมาทดแทนฮาลอนได้ดีทีเดียว เนื่องจาก Fire Rating ในการดับเพลิงประเภท A จะดีกว่า Halotron มาก นอกจากนี้ราคาก็ถูกกว่าด้วย ก็ลองพิจารณากันตามความเหมาะสมแล้วกันนะครับ

วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2553

การฆ่าเชื้อโรคในสระว่ายน้ำด้วยระบบเกลือ




สระว่ายน้ำที่สร้างขึ้นช่วงหลังๆ พบว่ามีการใช้ระบบเกลือในการฆ่าเชื้อโรคมากขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากข้อเสียของระบบการฆ่าเชื้อโรคแบบเดิมซึ่งใช้คลอรีน ที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังและกลิ่นซึ่งบางคนไม่ชอบ วันนี้เลยขอหยิบยกเรื่องการฆ่าเชื้อโรคด้วยระบบเกลือมาฝากกัน

ระบบเกลือ
จะใช้เครื่องผลิตคลอรีนอัตโนมัติจากเกลือ (Salt Water Chlorinator) ระบบนี้จะใช้เกลือในการฆ่าเชื้อโรคแทนคลอรีน โดยอาศัยวิธีทางไฟฟ้า ที่เรียกว่า Electrolysis ทำหน้าที่ในการแยก Cl จากเกลือ เนื่องจากในเกลือมีคลอรีนผสมอยู่ คือ NaCl
การใช้งานเราต้องใส่เกลือ NaCl ลงไปในสระว่ายน้ำ ให้มีความเข้มข้นอยู่ระหว่าง 3,000-3,500 ppm. และให้น้ำเกลือผสมอยู่ไหลผ่าน Electrolytic Cell ซึ่งจะทำหน้าที่แยกคลอรีนโดยกระแสไฟฟ้าออกมา คลอรีนที่ได้มีประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อโรคเหมือนกับการใช้คลอรีนใส่ลงไปในสระว่ายน้ำ

ข้อดีของระบบเกลือ
1. ประหยัดค่าสารเคมี เนื่องจากราคาเกลือมีราคาถูกกว่าคลอรีน
2. ประหยัดค่าแรงงานในการดูแลรักษา เนื่องจากไม่ต้องเติมเกลือบ่อยเหมือนคลอรีน
3. การใช้งานง่าย สะดวก เพราะเป็นระบบอัตโนมัติ
4. ติดตั้งอุปกรณ์ง่าย สามารถใช้กับสระว่ายน้ำที่มีอยู่แล้วได้

ข้อจำกัดของระบบเกลือ
1. ราคาค่าอุปกรณ์มีราคาสูง
2. น้ำมีรสชาติเป็นน้ำกร่อย
3. อาจต้องถ่ายน้ำทิ้งบ่อยถ้ามีความเข้มข้นของเกลือสูง

โดยปริมาณเกลือที่ใช้ในการเดินระบบในครั้งแรกนั้นจะใช้เกลือประมาณ 3 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1 ลบ.ม.

วันนี้แค่นี้ก่อนแล้วกันนะครับไปเคลียร์งานต่อยังอีกหลายอย่าง ส่วนของฝากติดไว้ก่อนนะครับไว้เรื่องหน้าจะหามาฝาก (ส่วนรูปสระถ่ายเองกับมือเป็นไงครับสวยหรือเปล่า)

สาเหตุและการแก้ปัญหาสำหรับถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูป

เรื่องนี้จะว่าไปก็เป็นภาคต่อจากบทความเรื่องก่อนที่ได้นำมาลงไว้ จะเขียนหลายวันแล้วไม่ได้เขียนเสียทีวันนี้ฤกษ์ดีก็เลยเอามาลงไว้ให้อ่านกันเสียหน่อย แต่รายละเอียดวันนี้คงไม่ได้เน้นทฤษฎีมากนะครับ แต่คงเป็นการแก้ปัญหาเบื้องต้นที่พบกันบ่อยสำหรับถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูป เผื่อว่าใครเจอปัญหาจะได้นำไปแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นได้ อธิบายเป็นข้อๆแล้วกันนะครับ


1. มีคราบน้ำมันหรือไขมันลอยอยู่บนผิวน้ำ
สาเหตุ อาจจะไม่ได้มีการติดตั้งบ่อดักไขมันก่อนที่น้ำเสียจะเข้าถังบำบัด หรือปริมาณไขมันในบ่อดักไขมันมีปริมาณสูงจนล้นเข้าสู่ถังบำบัด

วิธีแก้ไข ให้ทำการทำความสะอาดภายในถังบำบัดและควรติดตั้งบ่อดักไขมันก่อนน้ำเสียจะเข้าระบบหรือให้ดำเนินการตักไขมันในบ่อดักไขมันให้ถี่ขึ้น

2. การกวนผสมของอากาศในถังเติมอากาศมีเพียงบางจุด
สาเหตุ หัวจ่ายอากาศอุดตัน ท่อจ่ายอากาศแตกชำรุด

วิธีแก้ไข ให้ทำความสะอาดหัวจ่ายอากาศ และซ่อมแซมท่อจ่ายอากาศ

3. เกิดฟองขาวเป็นแผ่นหนาในถังเติมอากาศ
สาเหตุ ปริมาณตะกอนจุลินทรีย์ในระบบไม่เพียงพอ

วิธีแก้ไข ไม่ต้องกำจัดตะกอนส่วนเกิน (ให้ทำการสูบตะกอนกลับมายังถังเติมอากาศทั้งหมด)

4. เกิดชั้นฝ้าหนาสีน้ำตาลเข้ม
สาเหตุ มีปริมาณตะกอนจุลินทรีย์ในระบบมากเกินไป

วิธีแก้ไข ให้เพิ่มปริมาณการกำจัดตะกอนส่วนเกินในระบบ

5. เกิดกลิ่นจากถังบำบัดน้ำเสีย

สาเหตุ ปริมาณน้ำเข้าระบบมากเกินไป มีปริมาณอากาศไม่เพียงพหรือเครื่องเติมอากาศไม่ทำงาน

วิธีแก้ไขปัญหา ลดปริมาณน้ำเข้าระบบหรือตรวจสอบเครื่องเติมอากาศว่าทำงานเป็นปกติหรือไม่

จะว่าไปแล้วข้อสุดท้ายนี่อาจจะเป็นปัญหาที่พบมากที่สุดเนื่องจากไม่จำเป็นต้องเปิดฝาถังก็สามารถสัมผัสได้ แต่ก็ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งนะครับถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปนั้นจะทำงานได้ดี หรือเหมาะกับน้ำเสียที่มีลักษณะไหลต่อเนื่องในปริมาณไม่สูง ง่ายๆก็คือระบบนั้นรับ Peak Load ได้ไม่ดี ดังนั้นผู้ออกแบบบางคนจึงอาจจะเผื่อขนาดของถังให้ใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับช่วง Peak Load แต่จากประสบการณ์นะครับถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปเหมาะกับระบบที่มีปริมาณน้ำเสียไม่สูงมากนัก ถ้าน้ำเสียมากๆเกิน 100 ลบ.ม./วัน ผมว่าใช้เป็นระบบอื่นดีกว่า เนื่องจากความยืดหยุ่นในการเดินระบบจะดีกว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องพิจารณา ประเภทของน้ำเสียและลักษณะของน้ำเสียเข้าระบบด้วยนะครับ เรื่องพวกนี้ไม่มีอะไรตายตัวหรอกครับ ไว้เจอกันเรื่องหน้านะครับ และก่อนจากกันวันนี้มีรูปมาฝากเช่นเคย ไปตรวจงานที่เชียงใหม่ เห็นไฟแสงสว่างฉุกเฉิน รุ่นหนึ่งหน้าตาดูแปลกดีไม่เคยเห็น ที่สำคัญมีลูกศรแสดงเส้นทางด้วยก็เลยเอามาฝากกัน