วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พื้นที่ครอบครองสำหรับการออกแบบ Sprinkler



ตั้งใจจะเขียนบทความเรื่องใหม่มาหลายวันแล้ว แต่ช่วงนี้วุ่นๆ กับเรื่องคอนโดฯ ที่เพิ่งไหม้มาไม่กี่วันนี้ ก็พยายามสืบหาข้อมูลเท่าที่จะหาได้ โชคดีได้ไปดูที่เกิดเหตุ แต่อย่างไรขอรอผลสรุปจากหน่วยงานราชการก่อนดีกว่า ช่วงนี้ไม่ค่อยอยากออกความเห็นอะไร บอกตรงๆ นะครับว่าสงสัยอยู่สองสามเรื่อง แต่คิดว่าได้คำตอบแล้ว เหลือแค่ให้ผู้เชี่ยวชาญดูให้ว่าผมสัณนิษฐานถูกไหม วันนี้เลยหาอะไรมาคั่นก่อน เอาเรื่องพื้นๆนี่แหละครับแต่ก็ถือว่าเป็น โจทย์แรกเลยสำหรับผู้ออกแบบระบบ Sprinkler นั่นคือประเภทของพื้นที่ครอบครอง

พื้นที่ครอบครอง หมายถึง การกำหนดประเภทของพื้นที่ ที่มีลักษณะการใช้งานคล้ายคลึงกันและมีความเสี่ยงในการติดไฟและลามไฟใกล้เคียงกัน เพื่อความมุ่งหมายในการจัดระบบป้องกันอัคคีภัยตามมาตรฐานที่กำหนด

โดยพื้นที่ครอบครองจัดจำแนกเป็น 3 ประเภทดังนี้

1. พื้นที่ครอบครองอันตรายน้อย (Light Hazard Occupancies)

2. พื้นที่ครอบครองอันตรายปานกลาง (Ordinary Hazard Occupancies)


3. พื้นที่ครอบครองอันตรายมาก (Extra Hazard Occupancies)


ซึ่งในแต่ละประเภทการกำหนดจำนวนหัว Sprinkler ก็จะแตกต่างกันออกไป คงไม่ลงในรายละเอียดนะครับ

แต่ให้รู้เบื้องต้นว่าถ้าพื้นที่ไหนอันตรายมาก จำนวนหัว Sprinkler ก็จะต้องติดตั้งมากขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้เพื่อควบคุมไฟที่เกิดขึ้น ต้องย้ำนะครับว่า Sprinkler ทั่วไปที่ติดตั้งอยู่ ไม่ใช่ว่าเมื่อหัว Sprinkler ทำงานจะดับไฟได้เลย (ยกเว้น Sprinkler ชนิดพิเศษที่ทำหน้าที่ในการดับไฟ) แต่ว่า Sprinkler จะทำหน้าที่ควบคุมความร้อนที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ โดยอุณหภูมิจะค่อยๆลดลงจนกระทั่งไฟดับ เป็นการตัดวงจรของการเกิดไฟไหม้ ดังนั้นการติดตั้งหัว Sprinkler จะต้องคำนึงถึงจำนวนที่ครอบคลุม พื้นที่ป้องกัน ไม่อย่างนั้นก็อาจจะควบคุมไฟที่เกิดไม่ได้

ตามมาตรฐานแล้วจะมีการระบุตัวอย่างลักษณะของอาคาร ว่าจัดจำแนกอยู่ในประเภทพื้นที่ครอบครองอะไร เช่น พื้นที่ครอบครองอันตรายน้อย ได้แก่
โรงแรม, อาคารที่พักอาศัยรวม (เฉพาะส่วนห้องพัก), สำนักงานทั่วไป ที่ไม่ใช่อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่, สโมสร, โรงพยาบาล (ควบคุมวัสดุตามมาตรฐานโรงพยาบาล)

สำหรับหลายๆคนอาจสงสัยว่าถ้า อาคารเป็นคอนโดมิเนียม ห้องพักห้องหนึ่งมีพื้นที่ประมาณ 300 ตารางเมตรละ ยังถือว่าเป็นพื้นที่ครอบครองอันตรายน้อยหรือเปล่า

สำหรับประเด็นนี้ ตามที่ได้มีโอกาศตรวจคอนโด มาหลายตึก พบว่าถ้ายิ่งห้องใหญ่วัสดุติดไฟเยอะมากครับ สารพัดเลยก็ว่าได้
ผมจึงมองว่า ถ้าให้ Safe นะครับ ผู้ออกแบบ ออกแบบเป็นพื้นที่ครอบครองอันตรายปานกลางก็น่าจะเหมาะสมกว่าในกรณีนี้ (ถ้าใครมองต่างออกไปก็ ลองเสนอความเห็นดูนะครับ)

สั้นๆครับวันนี้ แต่มีคลิปมาฝากกัน ผมไปโหลดมาจาก Youtube เป็นเหตุการณ์ไฟไหม้อาคารหลังหนึ่งซึ่ง อาคารหลังดังกล่าวมีระบบ Sprinkler และผมก็เชื่อว่า Sprinkler ทำงานแน่นอนครับ เพราะระบบท่อน้ำดับเพลิงเชื่อมต่อกับถังน้ำประปาในชั้นหลังคา ซึ่งมีแรงดันเพียงพอกับการทำงานของ Sprinkler แต่ถ้าดูจากคลิปแล้ว มันดูเหมือนว่าระบบจะควบคุมไฟที่เกิดไม่ได้ (เอาไว้ได้ความชัดเจนแล้วจะเขียนบทความภาคต่อของเรื่องนี้แล้วกันนะครับ) แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งความเสียหายที่เกิด เกิดขึ้นในวงจำกัดเฉพาะห้องต้นเพลิง ซึ่งถ้าไม่มี Sprinkler ผมว่าความรุนแรงที่เกิดน่าจะมีมากกว่าที่เห็น หรือว่า Sprinkler มันได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว ลองเอาไปคิดดูนะครับ ถ้าว่างจะลองทำ Model ดูเสียหน่อย ไว้เจอกันเรื่องหน้านะครับ


วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2554

บอกเล่าประสบการณ์ซ้อมหนีไฟประจำปี


เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมาได้มีโอกาสได้ร่วมซ้อมหนีไฟ กับคนพักอาศัยในคอนโดฯ จะว่าไปแล้วนานเหมือนกันที่ไม่ซ้อมแบบนี้ แต่คราวนี้หนีไฟไม่เหนื่อยเพราะเดินจากชั้น 2 ไม่เหมือนคราวนู้นที่ต้องหนีไฟจากชั้น 28 รอบนี้เลยมาถึงจุดรวมพลเป็นคนแรกๆ จากนั้นก็เฝ้าดู การจำลองสถานการณ์การเกิดเพลิงไหม้ของอาคาร ถือว่าภาพโดยรวมซ้อมได้สมจริง และเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยมีทั้งรถดับเพลิง,รถกระเช้าและรถพยาบาลมาร่วมสนับสนุนในการซ้อม นอกจากนี้ขอชมเชยเลยว่า วิทยากรจาก กองบรรเทาสาธารณภัย อธิบายและนำซ้อมได้ดีมาก ชัดเจน เข้าใจง่าย และที่สำคัญคนที่เข้ารับการอบรมดับเพลิงเบื้องต้น ก็ได้มีโอกาสได้ฝึกปฏิบัติกัน ถ้าจะนับเป็นคะแนนงานนี้ผมให้ 8 เต็ม 10 ถือว่าเกรด A อยู่นะ

สำหรับครั้งนี้มุมมองในฐานะผู้ตรวจสอบอาคาร แล้วผมมีข้อเสนอแนะมาฝากกัน แต่ต้องบอกว่าเป็นมุมมองของผมเท่าที่เห็นนะครับ อาจจะไม่ใช่อย่างที่คิดก็ได้ เพราะถือว่าครั้งนี้เป็นแค่ผู้ร่วมสังเกตการณ์ บางเรื่องก็เป็นข้อสังเกตเล็กๆน้อยๆ 555... เริ่มกันเลยดีกว่า

1. ประเด็นนี้เริ่มจากจุดรวมพล ส่วนตัวนะครับ ไม่แน่ใจว่าตำแหน่งที่กำหนดในปัจจุบันเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากอยู่ด้านหลังอาคาร ในบริเวณสนามฟุตซอล ซึ่งก็ไม่ห่างจากตัวอาคารมากนัก โดยไม่น่าจะห่างเกิน 20 เมตร รวมทั้งในสภาวะปกติสนามฟุตซอล ก็จะถูกปิดล็อคไว้ด้วย สำหรับขนาดของพื้นที่ก็คงต้องไปเช็คดู (ส่วนตัวก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ห้องของโครงการมีกี่ห้อง) เพราะตามมาตรฐานระบุไว้พื้นที่จุดรวมพลต้องมีพื้นที่อย่างน้อย 0.25 ตารางเมตรต่อคน

2. สำหรับเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กน้อยๆ แต่สำคัญเช่นกัน ในระหว่างที่รถดับเพลิงทำการสูบน้ำดับเพลิงผ่านทางหัวรับน้ำดับเพลิง ผมสังเกตเห็นว่าเหมือนข้อต่อจะต่อไม่สนิท ก็ได้ยินจากเจ้าหน้าที่แจ้งว่าเทปพันเกลียวของข้อต่อหัวรับน้ำดับเพลิง ทางช่างอาคารพันไว้มากเกินไป จนเกินเกลียว ทำให้เวลาข้อต่อสวมเร็วของรถดับเพลิงมาสวมเลยไม่พอดี ซึ่งเรื่องนี้ถ้าไม่ได้ซ้อม ก็คงไม่ทราบ จึงต้องขอชมเชยทางนิติบุคคลฯ ที่กำหนดรูปแบบการซ้อมแบบสมจริงสมจัง


3. สำหรับโครงการ พื้นที่จอดรถดับเพลิง ในสภาวะปกติ จะเป็นที่จอดรถยนต์ของลูกบ้าน ทำให้รถดับเพลิงก็ต้องจอดกลางถนน ประเด็นนี้ต้องระวังให้ดีนะครับ ในเรื่องการจัดการจราจร เพราะในเหตุการณ์เพลิงไหม้ จริงๆ ทุกคนก็จะเป็นห่วงทรัพย์สิน ยังไงก็ต้องมีการเคลื่อนย้ายรถจากอาคารจอดรถออกมา แน่นอน ลองนึกภาพดูนะครับ รถของโครงการก็จะออก รถดับเพลิงก็จะเข้า แถมยังไม่มีการจัดสัดส่วนในการจอดให้ มันจะวุ่นวายกันแค่ไหน แต่ในวันซ้อมก็ยังถือว่าจัดการได้ดีอยู่ครับ เพราะรถไม่เยอะ



4. เรื่องสุดท้าย อันนี้ไม่ค่อยแน่ใจ ถือว่าเป็นความรู้สึกส่วนตัวแล้วกันครับ ผมว่าบทบาทของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะดูน้อยไปนิดนะครับ เห็นแต่เจ้าหน้าที่ของนิติบุคคลฯ แต่ถ้าว่าไปแล้วในเหตุการจริง รปภ. ถือว่ามีบทบาทสำคัญเลยนะครับ เพราะอยู่กันตลอด 24 ชั่วโมง และสำหรับโครงการนี้ รปภ. แต่ละคนขยันขันแข็งมากครับ ผมว่าทุกคนพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่


เอาเป็นประเด็นๆ หลักๆ แค่นี้แล้วกันนะครับ แต่ภาพรวมผมก็ยังบอกว่าประทับใจนะครับสำหรับการซ้อมในครั้งนี้ ไว้วันหลังไปตรวจโรงงานแล้วมีโอกาสได้ไปสังเกตการณ์ การซ้อมอพยพหนีไฟ ก็จะเอามาฝากกันอีก
สำหรับวันนี้ฝากไว้เป็นรูปกิจกรรมการซ้อมในครั้งนี้กันนะครับ ไว้เจอกันเรื่องหน้า