วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

EM BALL กับการแก้ปัญหาน้ำเสียช่วงน้ำท่วม

ช่วงวันสองวันที่ผ่านมาได้ยินมีคนถกเถียงกันเรื่องการนำ EM BALL ไปใช้ในการบำบัดน้ำเสียที่เกิดในช่วงน้ำท่วมก็เลยหาข้อมูลมาฝากกัน ขอแนะนำนะครับว่าถ้าใครอยากทราบข้อมูลจริงๆเพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะเชื่อว่ามันได้ผลหรือไม่ได้ผลให้ฟังคลิปนี้ให้จบแบบไม่มีอคติ เพราะผมสังเกตเห็นว่ามีคนไม่เห็นด้วยกับ อาจารย์ธงชัย ค่อนข้างเยอะเหมือนกันแต่พออ่านข้อคอมเม้นท์ต่างๆแล้วหลายความเห็น ผมแน่ใจว่าเขาอาจฟังไม่จบแต่ถ้าถามว่าส่วนตัวแล้วเชื่อว่ามัน WORK ไหมบอกเลยครับถ้ามัน WORK จริง! แล้วต้องใช้ปริมาณเท่าไหร่? กับปริมาณน้ำมหาศาลขนาดนี้ 
สมัยที่ควบคุมระบบำบัดน้ำเสียอยู่ก็ไม่ได้ลองใช้เลยไม่รู้จริงๆว่ามันได้ผลหรือไม่ แต่มีคนรู้จักบางท่านที่ไม่ได้เป็นแค่ผู้ใช้นะครับ แต่เป็นผู้ทำเลย ท่านก็บอกว่ามันได้ผล อาทิตย์ก่อนก็ไปเจอท่านกะว่าจะไปขอซัก 10 ลูก สรุปว่าไม่มีมีคนขนไปหมด อย่างไรก็ตามนักวิชาการบ้านเราเก่งๆทั้งนั้นยิ่งช่วงนี้จะเก่งเป็นพิเศษก็น่าจะเอาผลที่ได้มีการทดลองมาแชร์ๆ กันก็น่าจะดีนะครับโดยเฉพาะเมื่อหลายปีก่อนสมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ถ้าจำไม่ผิดเคยหยิบยกเรื่องนี้มาทำเป็นงานวิจัย แต่ไม่รู้ว่าผลเป็นอย่างไรบ้างใครที่พอมีผลการวิจัยก็่ส่งมาให้อ่านบ้างนะครับ (ขอบคุณล่วงหน้าครับผม)

สุดท้ายในช่วงวิกฤตอย่างนี้ถ้าจะพอแนะนำได้ผมว่าลองหาหนังสืออ่านอย่างอื่นที่ไม่ใช่เรื่องน้ำท่วมดูครับ (เลือกประเภทที่อ่านแล้วไว้พัฒนาตัวเองก็จะดีครับ) และที่สำคัญทำตามบทบาทหน้าที่ของตัวเอง แล้วจะรู้เลยว่าไม่มีอะไรยุ่งยากหรือซับซ้อน สู้ๆ ครับ



วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

บ่อหน่วงน้ำ (RETENTION POND)



ช่วงนี้หายไปหลายสัปดาห์ที่เดียว ไม่ใช่อะไรหรอกครับ ก็เตรียมรับมือน้ำท่วม จนถึงตอนนี้ก็กำลังวางแผนเตรียมการอพยพ ปีนี้น้ำมากจริงๆ ครับ ส่วนตัวแล้วไม่คิดว่าเมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม ที่ไปตรวจงานแถวเชียงใหม่แล้วลุยน้ำ ต้องกลับมาลุยน้ำช่วงปลายเดือนที่กรุงเทพฯ แต่จะว่าไปแล้วก็ดีครับที่ได้เจอวิกฤตแบบนี้ เพราะปีหน้า 2012 จะได้รับมือทัน... (สู้ๆครับ)

วันนี้ขอตามกระแสหน่อยนะครับ ถ้าพูดถึงน้ำท่วม ก็ต้องคิดถึงการหน่วงน้ำ ซึ่งสำหรับวิศวกรที่ออกแบบคงจะคุ้นเคยกับคำว่า "บ่อหน่วงน้ำ"

บ่อหน่วงน้ำ ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจง่าย ก็คือบ่อสำหรับรองรับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมายังพื้นที่ ก่อนที่จะระบายลงสู่ระบบระบายน้ำสาธารณะ แต่ถ้ายังไม่เข้าใจ ขอยกตัวอย่าง อย่างนี้แล้วกันครับ สมมติว่าผมมีที่ดินอยู่แปลงหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นดินแล้วมีต้นไม้ขึ้นปกคลุม อยู่มาวันหนึ่งผมจะนำที่ดินผืนดังกล่าวไปสร้างเป็นคอนโดมิเนียม ซึ่งการพัฒนาโครงการลักษณะนี้จะส่งผลต่อระบบการระบายน้ำในพื้นที่ กล่าวคือ ในปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าว เมื่อฝนตก น้ำจะสามารถซึมลงดินได้ประมาณ 70% แต่เมื่อมีการสร้างอาคารก็จะส่งผลทำให้น้ำซึมลงดินได้แค่ 30% โดยส่วนต่างของปริมาณน้ำฝนก็ไม่ได้ไปไหนครับ ก็จะไหลลงสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะ  
(สำหรับสัมประสิทธิ์การไหลนองของน้ำฝนในพื้นที่กำหนดค่าเบื้องต้นตามตาราง)



ลองนึกภาพดูนะครับ ว่าถ้ามีโครงการขึ้นซัก 100 โครงการ คุณคิดว่าท่อระบายน้ำจะรับไหวหรือเปล่า ลักษณะปัญหาดังกล่าวจึงมีการบังคับให้โครงการที่เข้าข่ายที่จะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดสรรที่ดิน จะต้องมีการจัดเตรียมบ่อหน่วงน้ำไว้ ซึ่งการคำนวณหาขนาดบ่อหน่วงน้ำ นั้นยอมรับครับว่าในปัจจุบันบริษัทที่ปรึกษาที่จัดทำรายงาน EIA แต่ละบริษัทก็จะมีแนวคิดและวิธีคิดที่แตกต่างกัน จากประสบการณ์จะมีวิธีคิดอยู่ 3 แบบ (ผมทำเป็นไฟล์ excel ไว้ใครอยากเอาไปศึกษาก็ e-mail มาขอได้นะครับ)

สำหรับหลักการคำนวณ ผมจะพิจารณาจากปริมาณน้ำสะสมในโครการกับปริมาณน้ำที่ระบายออกนอกโครงการมาเป็นข้อมูลในการคำนวณหาขนาดของบ่อหน่องน้ำ โดยปริมาณการระบายน้ำออกจากโครงการจะต้องเท่าเดิม (ถ้าเห็นต่างก็แย้งกันได้นะครับ)

นอกจากการคำนวณหาขนาดแล้ว ลักษณะของบ่อก็สำคัญ โดยส่วนตัวแล้วจากที่เคยทำมา (อาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด) ผมก็จะสร้างบ่อหน่วงน้ำด้วยคอนกรีตแล้วใช้เครื่องสูบน้ำเป็นตัวกำหนดอัตราการไหลของน้ำที่ไหลออกจากพื้นที่ โดยก่อนและหลังการพัฒนาโครงการ อัตราการระบายจะต้องเท่ากัน

แต่มาในช่วงหลังๆ กรรมการ EIA มักจะไม่ให้ผ่าน เลยเกิดแนวคิดเรื่องการหน่วงน้ำในเส้นท่อแทน ซึ่งจะทำการควบคุมการระบายน้ำโดยให้ท่อระบายน้ำที่ออกจากโครงการมีขนาดที่เล็กๆ แต่ก็ยังคงวัตถุประสงค์เดิม คือปริมาณการระบายจะต้องไม่เพิ่มจากเดิม ซึ่งวิธีนี้เป็นเหมือนการอั้นน้ำไว้ให้กักไว้ในท่อไม่ให้ระบายออกเต็มที่ ถามว่าใช้ได้ไหมก็ใช้ได้ครับ แต่ผมก็ยังเกรงเรื่องปัญหาการสะสมตะกอนในเส้นท่อ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วลองนึกดูนะครับว่า บ้านคุณขุดลอกท่อครั้งล่าสุดเมื่อไหร่

ส่วนวิธีที่ดีที่สุด ผมคงตอบไม่ได้ แต่ถ้าจะให้เสนอ ผมมองว่าการออกแบบระบบระบายน้ำคงไม่ใช่เพียงวิศวกรเป็นผู้จัดทำ แต่ควรเริ่มตั้งแต่การวาง Concept ของสถาปนิก และการเลือกวัสดุที่ใช้ในโครงการ ซึ่งจะต้องพิจารณาร่วมกับวิศวกร โดยมุ่งเน้นออกแบบให้โครงการมีค่าสัมประสิทธิ์การไหลนองของน้ำฝน ไม่ต่างไปจากเดิมมากนัก สำหรับส่วนที่เหลือก็ทำบ่อหน่วงน้ำ ซึ่งขนาดบ่อก็จะไม่ใหญ่

ตอนนี้ที่เคยเห็นก็เป็นคอนกรีตปูทางเดินที่น้ำซึมผ่านได้ ในอนาคตก็อาจจะมีนววัตกรรมใหม่ๆเข้ามา

สุดท้ายของวันนี้ แม้วิศวกรออกแบบมาอย่างดีก็ตามแต่พอเวลาสร้างจริงๆ เจ้าของโครงการต้องการประหยัดงบ แล้วตัด คุณบ่อหน่วงน้ำออก ซึ่งถ้าเป็นกรณีอย่างนี้มีหน่วยงานไหนบ้างครับ ที่จะมาบอกว่า ทำแบบนี้ไม่ได้นะ ผิดนะ ต้องแก้ไข หุหุ...

และฝนคราวนี้อาจจะต้องกำหนดเกณฑ์ออกแบบกันใหม่เลยทีเดียว จากที่คำนวณที่ฝน 5 ปี ผมว่า 10 ปี ไปเลย ก็ดีนะครับ แต่ยังไงก็ดูเรื่องราคาค่าก่อสร้างด้วยแล้วกัน

พบกันใหม่เรื่องหน้า เดี๋ยวเก็บของเตรียมตัวอพยพก่อนนะครับ