วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2553

กฎหมายควบคุมอาคารประหยัดพลังงานเกี่ยวกับ OTTV&RTTV

ยังจำได้ว่าเมื่อซักสามปีที่แล้วมีโอกาสไปประชุมงานโครงการที่กำลังก่อสร้างอยู่แล้วมีคำถามว่ารู้ความหมายของ OTTVและRTTV หรือเปล่า เรามันก้อไม่ได้ทำงานมาด้านนี้รู้บ้างก้อนิดหน่อย เลยตอบอย่างมั่นใจเพื่อไม่ให้เสียฟอร์ม "ไม่ทราบครับ" 5555 แหมจะกลัวทำไมเสียฟอร์มไม่รู้ก้อบอกไม่รู้จริงป่าว แต่พอกลับจากประชุมผมก้อถามผู้รู้หลายท่านแล้วก้อหาหนังสือมาอ่านว่าเจ้า OTTV&RTTV ที่มักจะกล่าวถึงเสมอถ้าพูดถึงเรื่องอาคารประหยัดพลังงานมันมีความหมายว่าอะไร จะเลยขอหยิบยกประเด็นนี้มาฝากทุกคนกัน


OTTV คือค่าการถ่ายเทความร้อนรวมของผนังด้านนอกอาคาร หรือส่วนของอาคารที่มีการปรับอากาศ


RTTV คือค่าการถ่ายเทความร้อนรวมของหลังคาอาคาร

สำหรับค่าที่ใช้เป็นมาตรฐานและหลักเกณฑ์ของอาคารควบคุมนั้นถ้าอ้างอิงตามรายละเอียดตามข้อกำหนดในกฎกระทรวง พ.ศ.2538 ออกตามความในพระราชบัญญัติการส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน นั้นค่า OTTV สำหรับอาคารเก่า ไม่เกินกว่า 55 วัตต์ต่อตารางเมตร และ45 วัตต์ต่อตารางเมตร สำหรับอาคารใหม่

แต่สำหรับอาคารที่ขออนุญาตก่อสร้างตั้งแต่กรกฎาคม 2552 นั้นจะต้องใช้ค่ามาตรฐานและหลักเกณฑ์ในการออกแบบอาคาร ตาม "กฎกระทรวง กำหนดประเภท หรือขนาดของอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการ ในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2552
ซึ่งได้มีการกำหนดค่าต่างๆ ตามประเภทอาคารไว้ดังนี้

1. ค่า OTTV

1.1 สถานศึกษา สำนักงาน
กำหนดค่าไม่เกิน 50 วัตต์ต่อตารางเมตร
1.2 โรงมรสพ ศูนย์การค้า สถานบริการ ห้างสรรพสินค้า อาคารชุมนุมคน
กำหนดค่าไม่เกิน 40 วัตต์ต่อตารางเมตร
1.3 โรงแรม สถานพยาบาล อาคารชุด
กำหนดค่าไม่เกิน 30 วัตต์ต่อตารางเมตร

2. ค่า RTTV

2.1 สถานศึกษา สำนักงาน
กำหนดค่าไม่เกิน 15 วัตต์ต่อตารางเมตร
2.2 โรงมรสพ ศูนย์การค้า สถานบริการ ห้างสรรพสินค้า อาคารชุมนุมคน
กำหนดค่าไม่เกิน 12 วัตต์ต่อตารางเมตร
2.3 โรงแรม สถานพยาบาล อาคารชุด
กำหนดค่าไม่เกิน 10 วัตต์ต่อตารางเมตร

สำหรับอาคารที่มีการใช้งานพื้นที่หลายลักษณะ พื้นที่แต่ละส่วนต้องใช้ข้อกำหนดของระบบกรอบอาคารตามลักษณะการใช้งานของพื้นที่แต่ละส่วนนั้น

วันนี้ไม่มีของฝากนะครับติดไว้ก่อน ต้องรีบทำงานไม่งั้นแย่แน่ บาย......

วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2553

การออกแบบอาคารตามสมรรถนะ

เมื่อต้นปีลองเข้าไปดูข้อมูลในเวปไซด์ของกรมโยธาธิการและผังเมือง เจอเอกสารในเรื่องรายละเอียดโครงการเพื่อการรับฟังความเห็นจากประชน ในหัวข้อเรื่อง "ข้อบังคับเกี่ยวกับการออกแบบอาคารตามสมรรถนะ" จะว่าไปแล้วเรื่องดังกล่าวผมเคยได้ยินมาเกือบจะสิบปีแล้วในเรื่องนี้ แต่ก็เฝ้าดูต่อไปว่าจะออกมาเป็นรูปเป็นร่างเมื่อไหร่ ส่วนตัวแล้วเห็นด้วยนะครับแต่ว่าสำหรับบ้านเราคงต้องทำความเข้าใจให้กับผู้เกี่ยวข้องทราบในหลักการและวิธีการปฏิบัติ ก็เอาใจช่วยคณะทำงานทุกท่านนะครับ วันนี้เลยถือโอกาสเอาบางส่วนของเอกสารมาฝากทุกคนกันเพื่อไว้เป็นข้อมูล


ประมวลข้อบังคับการออกแบบอาคารของประเทศไทยในปัจจุบันเป็นข้อบังคับลักษณะการดำเนินการ(Prescriptive) ซึ่งหมายถึงการออกแบบตามวิธีการหรือรายละเอียดที่ได้กำหนดไว้ให้ผู้ออกแบบต้องปฏิบัติตามในการออกแบบส่วนต่างๆของอาคารเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ ส่วนการออกแบบอาคารตามสมรรถนะ (Performance-Based Design) หมายความว่า แนวทางเชิงวิศวกรรมสำหรับการออกแบบส่วนต่างๆของอาคาร เพื่อให้มีสมรรถนะตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ หรือเป็นการวิเคราะห์เชิงวิศวกรรม และการประเมินผลเชิงปริมาณของทางเลือกต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย และวัตถุประสงค์สำหรับการออกแบบโดยใช้กระบวนเชิงวิศวกรรม ได้แก่ เครื่องมือ วิธีการ และหลักเกณฑ์ทางสมรรถนะที่เป็นที่ยอมรับ สรุปง่ายๆก็คือการออกแบบในลักษณะนี้เราสามารถเลือกวิธีการและแนวทางได้มากขึ้นไม่ตายตัวเหมือนแบบเก่าที่ต้องระบุว่าต้องทำแบบนี้นะ ต้องติดตั้งแบบนี้ ซึ่งจะเห็นว่าถ้ามีการใช้การออกแบบอาคารตามสมรรถนะ จะทำให้เกิดความยืดหยุ่นสูง สามารถที่จะเลือกใช้วิธีการในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้หลายแนวทาง ก่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์และวัสดุต่างๆ ในการก่อสร้างอาคาร ส่งเสริมให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งจะเห็นว่าข้อดีก็มีอยู่หลายอย่าง แต่มาดูข้อเสียกันบ้างที่ทางคณะกรรมการ ได้ประมวลไว้ ได้แก่
1. มีบุคลากรที่เกี่ยวข้องในกระบวนการมากขึ้น
2. เพิ่มขั้นตอนการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ
3. เพิ่มเวลาและอาจเพิ่มการลงทุนในการออกแบบเฉพาะทางที่ต้องแสดงทางเลือกและที่ผ่านการรับรอง
4. ต้องการความรู้ความสามารถมากขึ้นทั้งในหมู่ผู้ออกแบบ ผู้ตรวจสอบให้การรับรอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ให้อนุญาต
5. เปิดโอกาสในการตีความซึ่งอาจจะเกิดความไม่ยุติธรรมและอาจเป็นการให้อำนาจแก่บุคคลบางกลุ่ม

โหฟังแล้วเป็นไงบ้างครับ แต่ยังไงก้อต้องตามกันต่อไปเหมือนเชียร์บอลไทยไปบอลโลก แต่น่าจะง่ายกว่ามากนะครับ 5555 (แต่ผมยังเชื่อนะว่าไทยจะไปบอลโลก) นอกเรื่องนิดหน่อยนะครับ

และทางคณะกรรมการได้มีการกำหนดจัดทำประมวลข้อบังคับอาคารตามสมรรถนะ โดยสามารถแบ่งเป็น

หัวข้อหลักของประมวลข้อบังคับอาคารสำหรับการออกแบบตามสมรรถนะได้ดังต่อไปนี้

1
. ข้อกำหนดทั่วไป
2. ความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้าง
3. ความปลอดภัยผู้ใช้อาคาร
4. สุขอนามัยภายในอาคาร
5. ระบบเครื่องกลและไฟฟ้า
6. ระบบสุขาภิบาล
7. การกำจัดมูลฝอย
8. ก๊าซและเชื้อเพลิง
9. การใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
10. การป้องกันอัคคีภัย

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเข้าไปอ่านได้ในเวปไซด์ของกรมโยธาฯ ได้เลยนะครับ
ข้อบังคับเกี่ยวกับการออกแบบอาคารตามสมรรถนะ

ตามเคยครับมีรูปมาฝากกันวันนี้เอารูปที่ไปถ่ายตอนไปเที่ยวประจำปีที่ Office จัดมาฝากกัน แต่ไม่ใช่รูปผมนะครับ เป็นรูปปลาปักเป้าตอนที่ยังไม่พองตัว น่ารักดีไว้เสาร์นี้จะลงบทความใหม่ติดตามอ่านกันได้นะครับ

วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2553

การติดตั้งอุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ด้วยมือ

ก็มาถึงตอนสุดท้ายของเรื่องอุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้กันแล้วนะครับ เลยเอาอุปกรณ์พื้นฐานของระบบมาให้เป็นข้อมูลกัน
สำหรับอุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ด้วยมือนั้น มีด้วยกัน 2 แบบ คือ

1. Single Action หรือจะหมายความว่าเป็นอุปกรณ์แจ้งเหตุที่จะทำงานเมื่อกระทำในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เช่น กด หรือ ดึง เพียงอย่างเดียวอุปกรณ์ก็จะทำงาน


สำหรับอุปกรณ์ลักษณะนี้มักใช้งานทั่วไปแต่จะพบว่าในหลายที่จะเจอปัญหามีคนมือบอนมากดเล่นหรือต้องการจะช่วยทดสอบสัญญาณว่าใช้งานได้หรือไม่ ทำให้ต้องมีการดัดแปลงอุปกรณ์ให้เป็น Double Action ข้อนี้แล้วแต่เห็นสมควรนะครับเพราะบางแห่งก็ไม่เคยเจอปัญหาพวกนี้

2. Double Action หรือจะหมายความว่าเป็นอุปกรณ์แจ้งเหตุที่จะทำงานเมื่อกระทำในลักษณะสองขั้นตอน เช่น เปิดก่อนแล้วจึงกด หรือดึง ซึ่งก็แล้วแต่การออกแบบของแต่ละยี่ห้อ

แต่ตามความเห็นส่วนตัวนะครับประเภทที่เป็น Double Action การใช้งานจะซับซ้อนมากกว่าดังนั้นจึงจำเป็นต้องอธิบายให้คนที่ใช้งานเข้าใจว่าจะทำอย่างไร (ถึงแม้ว่าอุปกรณ์จะมีภาษาอังกฤษกำกับไว้) ซึ่งก็แก้ปัญหาคนมือบอนได้ในระดับหนึ่ง 555........

ก็ดีกันคนละอย่างนะครับไว้เลือกใช้กันนะครับ และข้อพิจารณาในการติดตั้งอุปกรณ์นั้น ได้แก่

1. ต้องติดตั้งในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจน และอยู่ในพื้นที่ทุกทางเข้าออกและทางหนีไฟของแต่ละชั้นของอาคารที่สามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก

2. ติดตั้งอยู่สูงจากพื้นระหว่าง 1.20-1.30 เมตร โดยระยะห่างระหว่างอุปกรณ์แจ้งเหตุด้วยมือไม่เกิน 60 เมตร (วัดตามแนวทางเดิน)

3. อุปกรณ์แจ้งเหตุด้วยมือแต่ละตัวต้องมีหมายเลขของโซนตรวจจับอยู่ที่อุปกรณ์ในลักษณะที่เห็นได้ชัดเจน (ข้อนี้อาจทำเป็นสติกเกอร์มาติดไว้ที่ตัวอุปกรณ์ก็ได้)

และเช่นเคยครับมีของมาฝาก วันนี้ผมนำรูปวงจรชีวิตของอาคารมาฝากกันแต่จะฝากให้ผู้ออกแบบมากหน่อย

โดยวงจรชีวิตของอาคารนั้นเริ่มตั้งแต่ การออกแบบเบื้องต้น การก่อสร้าง การบำรุงรักษา การเปลี่ยนแปลงการใช้งานอาคาร จนถึงการรื้อถอน ซึ่งผู้ออกแบบทุกฝ่ายจำเป็นจะต้องคำนึงถึงการออกแบบและผลกระทบตลอดชีวิตของอาคารด้วย (ข้อมูลจากกรมโยธาธิการและผังเมือง)