วันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2553

ว่ากันด้วยเรื่อง E.M.

วันนี้ต้องบอกก่อนเลยว่าบทความวันนี้ไม่ได้คิดเอง ประมาณว่าไปรวบรวมมาจากหลายๆเวป เพราะส่วนตัวก็อยากทราบว่าจริงๆแล้วการที่จะนำ E.M. ไปใช้ประโยชน์ในการเป็นจุลินทรีย์ในระบบบำบัดน้ำเสียนั้นจะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียดีขึ้นหรือเปล่า ก็เลยหาข้อมูลจากผู้รู้หลายๆเวป รวมทั้งจากการที่ได้สอบถามข้อมูลในส่วนของผู้ดูแลอาคารที่ได้มีการนำ E.M. ไปใช้ประโยชน์ ว่าผลเป็นอย่างไร แต่ก่อนอื่นก็ต้องรู้จักกับเจ้า E.M. กันเสียก่อนนะครับ


E.M. ย่อมาจากคำว่า Effective Micro-organisms หมายถึง กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพคิดค้นพบโดย ศาสตราจารย์ ดร.เท รโอะ ฮิงะ (TEROU HIGA) แห่งมหาวิทยาลัยริวกิว เมืองโอกินาว่า ประเทศญี่ปุ่น โดยใช้เทคนิคทางชีวภาพ รวบรวมเฉพาะกลุ่มจุลินทรีย์ หมวดสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ ช่วยปรับปรุงสภาพความสมดุลย์ของสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น จุลินทรีย์หมวดสร้างสรรค์ที่มีใน EM ได้แก่ กลุ่มจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง แลกโตบาซิลัส เพนนิซีเลี่ยม ไตรโคเดอมา ฟูซาเรียม สเตรปโตไมซิส อโซโตแบคเตอ ไรโซเบียม ยีสต์ รา ฯลฯ

ลักษณะ โดยทั่วไปของ EM
เป็นของเหลวสีน้ำตาลกลิ่นหอมอมเปรี้ยวอมหวาน (เกิดจาก การทำงานของกลุ่มจุลินทรีย์ต่าง ๆ ใน E.M.) เป็นกลุ่ม จุลินทรีย์ที่มีชีวิต ไม่สามารถใช้ร่วมกับสารเคมีหรือ ยาปฏิชีวนะและยาฆ่าเชื้อต่าง ๆ ได้ ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต เช่น คน สัตว์ พืช และแมลงที่เป็นประโยชน์ ช่วยปรับสภาพความสมดุลย์ของสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ ที่ทุกคนสามารถนำไปเพาะขยายเพื่อช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง

ลักษณะ การผลิต
เพาะขยายจาก จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์มากกว่า 80 ชนิด จากกลุ่มจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง
- กลุ่มจุลินทรีย์ผลิตกรด แลคติค
- กลุ่มจุลินทรีย์ตรึงไนโตรเจน
- กลุ่ม จุลินทรีย์แอคทีโนมัยซีทส์
- กลุ่มจุลินทรีย์ยีสต์
ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่ได้จาก ธรรมชาตินำมาเพาะเลี้ยงและขยายให้จุลินทรีย์ขยายตัวด้วยปริมาณที่สมดุลย์กัน ด้วยเทคโนโลยีพิเศษ โดยใช้อาหารจากธรรมชาติ เช่น โปรตีน รำข้าว และสารประกอบอื่น ๆ ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต

(แหล่งที่มากจาก http://share.psu.ac.th/blog/em2551/6872)
อ่านแล้วเป็นไงครับเข้าใจกันหรือเปล่า แต่ส่วนตัวแล้วงงเล็กน้อย ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่ที่เราได้กันมาแทบทุกเวปที่ผมหาจะอธิบายถึงเจ้า E.M. ในลักษณะแบบนี้กันแทบทั้งหมด แต่ผมได้มีโอกาสเข้าไปอ่านกระทู้ในเวปบอร์ดของ
บริษัท เวสท์วอเตอร์ โอเปอเรชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งพูดถึง E.M. ได้ค่อนข้างถูกใจมาก ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับข้อมูลดังกล่าว ก็เลยเอามาฝากกัน โดยเขากล่าวไว้ว่า

"ด้วยความเข้าใจของผม EM ไม่น่าจะหมายถึงจุลินทรีย์ แต่น่าจะหมายถึงเอ็นไซม์ ของจุลินทรีย์ที่สังเคราะห์ขึ้นมากกว่า เพราะโดยปรกติในการกินอาหารของสิ่งมีชีวิตระดับเซล (เช่นจุลินทรีย์) จะใช้วิธีการปล่อยเอ็นไซม์ ออกไปเพื่อย่อยโมเลกุล ของอาหารหรือสารอินทรีย์ให้มีขนาดเล็กลง

เราจึงเห็น Application ของการใช้ EM คือ การลดกลิ่นเหม็น ลดคราบสกปรก ย่อยตะกอนสะสม ย่อยกากสารอินทรีย์ ในบ่อปลา บ่อส้วม บ่อขยะ บ่อดักไขมัน อะไรทำนองนี้มากกว่าที่จะเห็นการใช้ EM เป็นสารบำบัดหลักในระบบบำบัดน้ำเสีย ชนิดหนึ่งชนิดใด

มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า EM เป็นจุลินทรีย์เพื่อการบำบัดของเสีย ก็เลยมีการนำมาใส่ลงในถังเติมอากาศของระบบบำบัดน้ำเสีย ผลที่ได้เป็นไปในทางตรงกันข้าม คือ ระบบล่ม เชื้อที่เลี้ยงไว้ตาย และน้ำในระบบมีสภาพยากแก่การอธิบาย"

หากใครมีข้อมูลเพิ่มเติมหรือข้อมูลใหม่ๆ ก็แชร์กันได้นะครับ สำหรับของฝากวันนี้ไม่มีครับมีแต่เอาบุญมาฝากเพราะเพิ่งกลับมาจากทำบุญที่วัดมา ใครเข้ามาอ่านบล็อคก็ขอให้ได้บุญเท่าๆกันนะครับ

วันเสาร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553

วิธีคำนวณการเก็บสต็อคน้ำยาโฟม

สงกรานต์นี้ไปเที่ยวไหนกันบ้างครับ ถ้าไปเที่ยวก็ระวังตัวกันด้วยนะครับและที่สำคัญเที่ยวเผื่อด้วยเด้อ สำหรับวันนี้หยิบยกเรื่องการคำนวณหาปริมาณโฟมที่ใช้ในการดับเพลิงมาให้ไว้เป็นข้อมูลกันเพราะที่ผ่านมาบางครั้งพบว่าแต่ละที่มีการจัดเตรียมน้ำยาโฟมสำหรับดับเชื้อเพลิงประเภท B กันไว้ในบริเวณสถานที่จัดเก็บแต่จะทราบได้อย่างไรว่าปริมาณน้ำยาโฟมที่เตรียมไว้เพียงพอที่จะดับไฟหรือเปล่า แต่ก่อนที่เข้าวิธีการคำนวณ สิ่งที่ต้องทราบเบื้องต้นก่อนคืออัตราการไหลของการฉีดโฟมตามประเภทของเชื้อเพลิง และระยะเวลาการฉีดใช้

1. อัตราการไหลของการฉีดโฟม (Foam Application Rate)

1.1 กรณีดับเพลิงสารจำพวก Hydrocarbon (สารที่ไม่ละลายน้ำ) เช่น น้ำมัน,Gasoline
ใช้อัตราการไหล 4.1 ลิตร/นาที/ตารางเมตร

1.2 กรณีดับเพลิงสารจำพวก Polar Solvent (สารที่ละลายตัวกับน้ำได้) สารที่มีขั้ว
เช่น ทินเนอร์,แอลกอฮอล์
ใช้อัตราการไหล 6.5 ลิตร/นาที/ตารางเมตร

1.3 กรณีฉีดโดยใช้สายดับเพลิงฉีดผ่านหัวฉีดหรือ Monitor
ใช้อัตราการไหล 6.5 ลิตร/นาที/ตารางเมตร

2. ระยะเวลาการฉีดใช้

2.1 กรณีดับเพลิงของเหลวรั่วไหลลงพื้น (Spill Fire)
(Non Diked Spill Area) ให้ฉีดต่อเนื่อง 10-15 นาที

2.2 กรณีดับเพลิงของเหลวในพื้นที่รอบแทงค์
(Dike Area) ให้ฉีดต่อเนื่อง 20-30 นาที

2.3 กรณีดับเพลิงของเหลวในแทงค์เก็บ
(Tank Area) ให้ฉีดต่อเนื่อง 55-65 นาที


วิธีการคำนวณการเก็บสต็อคน้ำยาโฟม

ยกตัวอย่างสมมติ กรณีใช้ดับเพลิงในพื้นที่รอบแทงค์ ขนาด 40 ตารางเมตร โดยถังบรรจุทินเนอร์

  • อัตราการฉีดโฟม = 40 x 6.5 = 260 ลิตรต่อนาที
  • ระยะเวลาการฉีดใช้ = 20 นาที
  • ปริมาณโฟมที่ใช้ทั้งหมด = 260 x 20 = 5,200 ลิตร
  • ใช้โฟมชนิด AR-AFFF (3%3%) ความเข้มข้น 3% ดังนั้นจะต้องสต็อคโฟมที่เป็นเนื้อโฟมไว้ จำนวน = 5,200 x 0.03 = 156 ลิตร
ลองเอาไปคิดคำนวณกันดูนะครับว่าจะต้องเตรียมกันเท่าไหร่

สำหรับวันนี้มีของฝากอีกเช่นเคยเป็นไฟแสงสว่างฉุกเฉินอีกเช่นกันเพราะเคยเอามาฝากไว้รูปหนึ่งแล้วแต่คราวนี้เป็นอีกแบบผมว่าอายุคงประมาณ 20 กว่าปีน่าจะได้นะ