วันนี้เอาเรื่องมาฝากผู้ออกแบบระบบดับเพลิงกันครับ แต่จะว่าไปแล้วหลายๆคนก็น่าจะทราบกันดีอยู่แล้ว แต่ที่สงสัยก็คือทุกวันนี้ถึงแม้แต่ตึกใหม่ๆ ที่เป็นอาคารสูง ก็มีหลายที่ที่ยังทำไม่ถูกต้อง ก็เลยเอามาเขียนให้อ่านกันดีกว่า แต่ก่อนจะเข้าเรื่องขออธิบายถึงระบบท่อยืนประเภทที่ 1 กันก่อนเผื่อว่าบางคนยังไม่ทราบ
ท่อยืน ประเภทที่ 1 คือท่อยืนที่ติดตั้งวาล์วสายฉีดน้ำดับเพลิงขนาด 65 มิลลิเมตร สำหรับพนักงานดับเพลิง หรือผู้ที่ได้ผ่านการฝึกการใช้สายฉีดน้ำดับเพลิงขนาดใหญ่เท่านั้น
สำหรับตำแหน่งของท่อยืนและหัวต่อสายฉีดน้ำดับเพลิง ประเภทที่ 1 นั้น ตามมาตรฐาน NFPA และมาตรฐาน วสท. กำหนดให้ต้องติดตั้งในตำแหน่ง ดังนี้
1. ติดที่ชานพักกลางหรือชานพักของทุกชั้นในบันไดหนีไฟทุกตัว
2. ติดที่ด้านในและด้านนอกของทางออกหนีไฟของ Horizontal Exit
3. ติดตั้งในบริเวณห้องโถงหน้าบันไดหนีไฟที่มีระบบอัดอากาศ
4. กรณีที่ท่อยืนและท่อย่อยไม่สามารถติดตั้งในบันไดหนีไฟ หรือห้องโถงหน้าบันไดหนีไฟ จะต้องติดตั้งในส่วนปิดล้อมที่มีอัตราการทนไฟเท่ากับอัตราการทนไฟของส่วนปิดล้อมแนวตั้ง ของอาคารหลังนั้น
ข้อยกเว้น ถ้าอาคารหลังนั้นติดตั้งระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิง ส่วนปิดล้อมนี้ไม่ต้องสร้างให้ได้อัตราทนไฟดังที่ระบุไว้ก็ได้
แต่ดีที่สุดนะครับ ให้ท่อยืนอยู่ในบันไดหนีไฟ เพราะเป็นส่วนปิดล้อมทนไฟและไม่ต้องเดินท่อสำหรับติดตั้งหัวต่อสายฉีดน้ำดับเพลิงยาวด้วย
แต่จะบอกว่าตรวจอาคารมาก็เยอะแทบจะไม่เจอหัวต่อสายฉีดน้ำดับเพลิงในบันไดหนีไฟเลย (ท่อยืนประเภทที่ 1) แต่ตำแหน่งที่จะเจอก็คงเป็นโถงลิฟต์ดับเพลิงคงเนื่องจากกฎหมายบังคับไว้ ก็ฝากไว้หน่อยนะครับสำหรับตึกใหม่ที่กำลังออกแบบ วันนี้ก็เลยเอารูปมาฝากกัน แต่จะว่าไปแล้วก็ยังไม่สมบูรณ์มากเนื่องจากบันไดหนีไฟค่อนข้างแคบ (อันนี้ก็สำคัญต้องบอกสถาปนิกไว้ก่อนนะว่ามีอะไรอยู่ข้างในบันไดหนีไฟบ้าง) และตำแหน่งการติดตั้งก็ควรติดในระดับสูงจากพื้น 0.90-1.50 m. (ในรูปจะสูงไปนิดนะครับ)
วันนี้เช่นเคยครับมีรูปมาฝากกัน จะบอกว่าคนไทยนี่เก่งแล้วก็กล้าจริงๆนะครับ (ขับรถผ่านก็เลยเอามาฝากกัน)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น