วันอังคารที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2553

การทดสอบประสิทธิภาพระบบดับเพลิงด้วยน้ำ


ในการทดสอบประสิทธิภาพของระบบดับเพลิงด้วยน้ำ ที่ทำกันอยู่ทั่วไปในตอนนี้ จะมีสองลักษณะคือ

1. การทดสอบระบบสายฉีดน้ำดับเพลิง


สำหรับการทดสอบนี้เป็นการประเมินความสามารถในการดับเพลิงของระบบ โดยตามมาตรฐาน NFPA 14 ระบุไว้ว่า สายฉีดน้ำดับเพลิงขนาด 2.5 นิ้ว จะต้องมีอัตราการไหลที่หัวฉีดไม่น้อยกว่า 250 แกลลอนต่อนาที และมีความดันไม่น้อยกว่า 100psi (สำหรับ วสท.ระบุไว้ที่ 65 psi)
สำหรับการทดสอบจะทำการ หาค่า Static Pressure, Residue Pressure และทำการวัดอัตราการไหลที่หัวฉีดน้ำดับเพลิงขนาด 2.5 นิ้ว จากนั้นจึงนำค่าที่ได้มีเขียนกราฟ เพื่อนำมาประเมินประสิทธิภาพของระบบ สำหรับหน้าตาของกราฟที่ Plot ออกมาหน้าตาจะประมาณนี้ครับ

2. การทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องสูบน้ำดับเพลิง


สำหรับการทดสอบลักษณะนี้เป็นการทดสอบ โดยวัดค่าความดันทางด้านส่งของเครื่องสูบน้ำดับเพลิงที่อัตราการไหล ณ จุดต่างๆ แล้วนำมาเขียนกราฟแสดงคุณลักษณะของเครื่องสูบน้ำดับเพลิง โดยทั่วไปจะเรียกว่าทำ Performance Curve ของเครื่องสูบน้ำดับเพลิง ซึ่งตามมาตรฐาน NFPA 20 ระบุไว้ว่าเครื่องสูบน้ำดับเพลิงจะต้องมีคุณลักษณะที่เมื่อสูบน้ำที่อัตราการไหลร้อยละ 150 ของอัตราสูบที่กำหนด ความด้นทางด้านส่งจะต้องไม่น้อยกว่า 65% ของความดันที่กำหนด และที่อัตราการไหลเท่ากับศูนย์ จะต้องมีความดันด้านส่งไม่เกิน 140% ของความดันที่กำหนด สำหรับหน้าตาของกราฟที่ Plot มีตัวอย่างตามรูปด้านล่างนะครับ

สำหรับใครต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก็สอบถามกันมาได้นะครับ ช่วงนี้งานน่าจะเริ่มลงตัวหน่อย ไว้จะหาเรื่องดีๆ มาฝากอย่างสม่ำเสมอ อีกเรื่องก็ต้องขอขอบคุณ คุณเอกรัชต์ มากเลยนะครับที่ส่งข้อมูลมาแชร์กัน เป็นเรื่องความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการหนีไฟและการป้องกันอัคคีภัย ถ้าใครอยากได้ไฟล์ก็เมล์มานะครับ ผมว่าไว้ใช้อบรมให้กับพนักงานได้เลยนะครับ วันนี้แค่นี้ก่อนนะะครับ

วันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2553

มาตรฐานความสว่างภายในอาคาร


พอดีช่วงนี้ออกตรวจตลอดไม่มีเวลานั่งโต๊ะเลย วันนี้ก็อยู่ต่างจังหวัด พอดีไปเจอมาตรฐานความสว่างภายในอาคาร (Indoor Lighting) ของ IES ก็เลยเอามาฝากไว้เป็นข้อมูลกัน แต่ก่อนดูตัวเลขมาทำความเข้าใจศัพท์บางตัวซักหน่อย

ความส่องสว่าง (อิลูมิแนนซ์) หมายถึงปริมาณแสงที่กระทบลงบนวัตถุต่อพื้นที่ มีหน่วยเป็น ลูเมนต่อตารางเมตร หรือ ลักซ์ (ถ้าหน่วยเป็น ลูเมนต่อตารางฟุต ความส่องสว่างก็เป็น ฟุตแคนเดิล)
ความสว่าง (ลูมิแนนซ์) หมายถึงปริมาณแสงที่สะท้อนออกมาจากวัตถุต่อพื้นที่ มีหน่วยเป็น แคนเดลาต่อตารางเมตร ปริมาณแสงที่เท่ากันเมื่อตกกระทบลงมาบนวัตถุที่มีสีต่างกันจะมีปริมาณแสงสะท้อนกลับต่างกัน นั่นคือ ลูมิแนนซ์ ต่างกัน สาเหตุที่ต่างกันก็เนื่องมาจากสัมประสิทธิ์การสะท้อนแสงของวัสดุต่างกัน

คราวนี้มาดูค่ามาตรฐานกันว่าเขากำหนดกันอย่างไรบ้าง

พื้นที่ทำงานทั่วไป 300-700 ลักซ์
พื้นที่ส่วนกลาง ทางเดิน 100-200 ลักซ์
ห้องเรียน 300-500 ลักซ์
ร้านค้า,ศูนย์การค้า 300-750 ลักซ์

โรงแรม (ทางเดิน) 300 ลักซ์
โรงแรม (ห้องครัว) 500 ลักซ์
โรงแรม (ห้องพัก,ห้องน้ำ) 100-300 ลักซ์

โรงพยาบาล (บริเวณทั่วไป) 100-300 ลักซ์
โรงพยาบาล (ห้องตรวจรักษา) 500-1000 ลักซ์

บ้านที่อยู่อาศัย
- ห้องนอน 50 ลักซ์
- หัวเตียง 200 ลักซ์
- ห้องน้ำ 100-500 ลักซ์
- ห้องนั่งเล่น 100-500 ลักซ์
- บริเวณบันได 100 ลักซ์
- ห้องครัว 300-500 ลักซ์

ก็เอาไว้เป็นข้อมูลกันนะครับ วันนี้ก็เพิ่งกลับมาจากสัมมนาเกี่ยวกับอาคารเขียวมา
ได้ข้อมูลทั้ง LEED และ EarthCheck ถ้าไงเดี๋ยวพรุ่งนี้จะหามาฝากซักเรื่อง
วันนี้มีภาพมาฝากจากพัทยา ปกติเห็นแต่มุมล่าง วันนี้เลยเอารูปมุมบนให้ดูกันเพลินๆ