วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556

Sprinkler สำหรับอาคารคลังสินค้า (1)



ช่วงนี้มีโอกาสได้เข้าไปช่วยตรวจสอบงานติดตั้งระบบ Sprinkler ของอาคารคลังสินค้า เลยถือโอกาสนำข้อมูลเกี่ยวกับการออกแบบ Sprinkler สำหรับอาคารคลังสินค้ามาฝากกัน แต่ต้องขอออกตัวก่อนนะครับว่า การออกแบบ Sprinkler ของประเภทนี้ไม่ง่ายเหมือนการออกแบบ Sprinkler ของอาคารทั่วไป นะครับ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อกำหนดที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งสิ่งที่ต้องตอบให้ได้ หรือจะต้องตั้งสมมติฐาน ก่อนเป็นอันดับแรกเลย ได้แก่

            1. คลังสินค้านั้นเก็บสินค้าประเภทอะไร
            2. ความสูงของอาคารคลังสินค้า
            3. ความสูงของสินค้าที่วาง
            4. ลักษณะการเก็บสินค้า เช่น เก็บไว้บน Rack หรือวางกองกับพื้น
            5. ถ้าเก็บบน Rack ชนิดของ Pallet หรือพลาสติก

และขอแถมอีกซักข้อนะครับว่าคงต้องดูเรื่องงบประมาณด้วยว่ามีมากน้อยอย่างไร

แต่อย่าเพิ่งถอดใจไปนะครับเพราะถ้ามองว่ายากก็คงยาก เหมือนที่ผมคิดในตอนแรก เลยไม่เคยจับมันเลย แต่พอลองตั้งใจอ่านจริงๆ กลับพบว่ามันก็ไม่ยากมากนะ สำคัญอยู่ที่เราต้องเปิด Code ให้ถูก ใช่ครับ ถ้าเรารู้ว่าจะใช้ NFPA บทไหนออกแบบสำหรับคลังสินค้าหลังนั้นๆ ผมเชื่อว่าสบายมาก จึงเป็นที่มาของบทความซี่รี่นี้ ซึ่งผมจะพยายามสรุป NFPA CODE มาให้ทุกคนได้ศึกษาในเบื้องต้น ส่วนจะนำไปใช้งานคงต้องอ่านมาตรฐานเพิ่มเติมกันนะครับ

(มาตรฐาน วสท. เล่มปัจบันไม่ครอบคลุมเรื่องการออกแบบและติดตั้ง Sprinkler ของอาคารคลังสินค้านะครับ ต้องอ่านใน NFPA 13 ใน Chapter 12 - Chapter 20)

สำหรับวันนี้ขอเริ่มจากสิ่งที่ต้องทราบเป็นอันดับแรกก่อนครับนั่นคือ "คลังสินค้านั้นเก็บสินค้าประเภทอะไร

ตามมาตรฐาน NFPA กำหนดประเภทของสินค้า (Commodity) ออกเป็น 4 ประเภท โดยมีรายะเอียดดังนี้ (ขอไม่แปลนะครับเพราะอยากให้เห็นข้อกำหนดต้นฉบับ)

 5.6.3* Commodity Classes.
5.6.3.1* Class I. A Class I commodity shall be defined as a noncombustible product that meets one of the following criteria:
(1) Placed directly on wood pallets
(2) Placed in single-layer corrugated cartons, with or without single-thickness cardboard dividers, with or without pallets
(3) Shrink-wrapped or paper-wrapped as a unit load with or without pallets

5.6.3.2* Class II. A Class II commodity shall be defined as a noncombustible product that is in slatted wooden crates, solid wood boxes, multiple-layered corrugated cartons, or equivalent combustible packaging material, with or without pallets.

5.6.3.3* Class III.
5.6.3.3.1  A Class III commodity shall be defined as a product fashioned from wood, paper, natural fibers, or Group C plastics with or without cartons, boxes, or crates and with or without pallets.
5.6.3.3.2  A Class III commodity shall be permitted to contain a limited amount (5 percent by weight or volume or less) of Group A or Group B plastics.

5.6.3.4* Class IV.
5.6.3.4.1  A Class IV commodity shall be defined as a product, with or without pallets, that meets one of the following criteria:
(1) Constructed partially or totally of Group B plastics
(2) Consists of free-flowing Group A plastic materials
(3) Contains within itself or its packaging an appreciable amount (5 percent to 15 percent by weight or 5 percent to 25 percent by volume) of Group A plastics


ถ้าจะจำง่ายๆนะครับ ผมขอสรุป ดังนี้

Class I หมายถึงสินค้าที่ตัวมันเองไม่ได้เป็นวัสดุติดไฟ แต่บรรจุอยู่ในหีบห่อที่ติดไฟ

Class II จะคล้ายกับ Class I แต่จะใส่ในกล่องที่มีช่องแบ่งหลายๆช่อง

Class III ผลิตภัณฑ์เป็นประเภท เสื้อผ้า ไม้ เส้นใยธรรมชาติ เป็นต้น

Class IV ผลิตภัณฑ์เป็นพวกยาง หรือ พลาสติก

นอกจากนี้พลาสติก ยังแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ Group A,B and C

จะเห็นว่ายิ่งเชื้อเพลิง Class สูง เมื่อเกิดเพลิงไหม้ จะมีความรุนแรงของเพลิงสูงกว่า Class ที่ต่ำกว่า

สำหรับวันนี้แค่นี้ก่อนนะครับ รอติดตามตอน 2 นะครับและถ้าใครมีข้อเสนอแนะติชม ก็บอกกันได้นะครับ
ถือเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้กัน



วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ระบบบำบัดอากาศเสีย ด้วย Wet Scrubber

ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมามีโอกาสได้ไปสำรวจระบบบำบัดอากาศเสียมาหลายที่ ซึ่งพบว่าระบบที่นิยมใช้กันมากระบบหนึ่งคือ ระบบ Wet Scrubber วันนี้เลย รวบรวมความรู้เบื้องต้นของระบบมาให้ศึกษากัน



Wet Scrubber เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับกำจัดแก๊สและไอ รวมทั้งอนุภาคที่มีขนาดเล็ก โดยใช้ของเหลว เช่น น้ำ เป็นตัวดักจับ ด้วยการพ่นฉีดของเหลวให้เป็นละอองฝอยขนาดเล็ก ซึ่งจะกระจายไปปะทะกับกระแสแก๊สหรือไอ ทำให้มวลสารดังกล่าว ไม่สามารถหลุดไปสู่บรรยากาศได้

โดย Wet Scrubber มีด้วยกันหลายชนิดแต่ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายคือ
สครับเบอร์แบบสเปรย์ (Spray Tower Scrubber) และ สครับเบอร์แบบมีเดีย (Packed Bed Scrubber)

โดยระบบ Wet Scrubber มีส่วนประกอบ หลักๆ ดังนี้

 1. พัดลมดูดอากาศ (Exhaust Fan) : ทำหน้าที่ดูดอากาศเสียเข้าสู่สครับเบอร์ (Scrubber)

 2. เครื่องสูบน้ำหมุนเวียน (Circulation Pump) : ทำหน้าที่ดูดน้ำจากถังหมุนเวียนน้ำไปฉีดเป็นละอองฝอยให้กระจายทั่วทั้งสครับเบอร์

 3. ตัวสครับเบอร์ (Scrubber Main Body) ประกอบไปด้วย
- ตัวเพิ่มพื้นที่ในการกระจายตัวของแก๊ส (Scrubber Tower Packing)
ทำหน้าที่ในการช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวในการสัมผัส ระหว่างแก๊สกับของเหลว
- หัวฉีดสเปรย์ (Spray nozzle)
ทำหน้าที่ฉีดน้ำให้ทั่วถึงอย่างสม่ำเสมอภายในตัวสครับเบอร์(Scrubber)
- ตัวดักจับละอองน้ า (Mist Separator)
ทำหน้าที่ดักจับละอองน้ำที่เกิดจากการฉีดสเปรย์ในสครับเบอร์ (Scrubber) ไม่ให้หลุดออกไปภายนอก

4.  ถังหมุนเวียนน้ำ (Circulation Tank) : ทำหน้าที่เก็กกับน้ำไว้สำหรับหมุนเวียนใช้ในระบบ


สำหรับรายการคำนวณส่วนประกอบของระบบ ตอนนี้กะว่าจะรวบรวม แล้วทำเป็นไฟล์ Excel
ถ้าเสร็จแล้วจะแจ้งให้ทราบ เผื่อใครสนใจอยากได้ไปใช้งาน แต่ถ้าจะเซ็นต์รับรองเพื่อยื่นขออนุญาตปัจจุบันต้องใช้ สามัญวิศวกรสิ่งแวดล้อม เซ็นต์

และใครพอมีคนรู้จักที่เป็น สามัญวิศวกรอุตสาหการ ก็แนะนำมาบ้างนะครับ อยากทำความรู้จักด้วย



วันพุธที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เปรียบเทียบระบบดับเพลิงด้วยสารสะอาด

ในช่วงที่ผ่านมาได้รับ E-Mail จากหลายๆ ท่านขอข้อมูลเปรียบเทียบ ระบบดับเพลิงด้วยสารสะอาดในแต่ละประเภทมา ค่อนข้างมาก วันนี้ผมเลยนำมาลงไว้ใน Blog เพื่อให้ไว้เป็นข้อมูลกันนะครับ และคงต้องบอกว่าทั้งหมดคงเป็นแค่แนวสำหรับใช้ในการพิจารณาเลือกระบบ ให้เหมาะสมกับโครงการที่เราจะนำไปใช้ และเหนือสิ่งอื่นใดนอกจากการออกแบบที่ดีแล้ว การดูแลรักษาระบบก็ถือว่าสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกันเลย เลยอยากฝากให้คิดถึงประเด็นดังกล่าวไว้ด้วยนะครับ ว่าหลังจากติดตั้งไปแล้ว ใครที่เป็นคนใช้ ใครที่จะเป็นคนดูแล

เมื่อหลายปีก่อนตอนเริ่มทำงานใหม่ๆ มีรุ่นพี่ท่านหนึ่ง เคยถามผมว่า การเป็นผู้ออกแบบที่ดีนั้นรู้ไหมต้องออกแบบอย่างไร ผมทำหน้างงๆ ท่านจึงบอกผมว่า "Comeback to basic มองอะไรให้มัน Simple"
ทำงานมาหลายปี ถึงได้เข้าใจว่าสุดท้าย ก็ต้องกลับมามองว่าทำอะไรที่มันง่ายๆ และไม่ซับซ้อนแต่ก็ต้องไม่หยุดพัฒนาและสร้างนวัตรกรรม 

ไว้เจอกันใหม่นะครับวันนี้ขอตัวไป ไปอ่านหนังสือต่อหน่อย Download มาหลายเล่ม อ่านไม่ทัน

วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

แบบตรวจสอบความปลอดภัยด้านการป้องกันอัคคีภัย เบื้องต้น

ช่วงหลังๆมีโอกาสไปได้ตรวจโรงงานเล็กๆ อยู่หลายแห่ง ซึ่งก็ได้เห็นความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ระหว่างโรงงานที่มีมาตรฐานอยู่ในระดับสูง กับโรงงานที่อาจไม่มีอะไรเลย นอกจากความตั้งใจ เพราะโรงงานใหญ่ๆ บางแห่งก็สร้างมาตรฐานในกลุ่มของตัวเองขึ้นมาเลยก็มี ซึ่งส่วนหนึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีทรัพยากรบุคคลที่มีจำกัด มีผลในความแตกต่างที่เกิดขึ้น

ยิ่งช่วงนี้แล้วยอมรับเลยว่า งานบางอย่างคนไทยก็ไม่อยากทำแล้ว หรือบางอย่างถ้าได้เงินน้อยก็ไม่ทำ และเมื่องานที่ทำอยู่ประจำก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร เลยอาจทำให้คนเราดูขี้เกียจขึ้น (ความเห็นส่วนตัวนะครับ) ซึ่งทั้งหมดผมมองว่ามันคือโอกาส และก็จะเตือนน้องๆไว้เสมอว่า อย่าติดกับกับดักของความสบาย หรือที่เรียกกันว่า Comfort Zone เพราะผมยังคาดว่า AEC เมื่อไหร่ บางอย่างอาจไม่ได้ง่ายหรือสบายเหมือนทุกวันนี้ก็ได้

วันนี้เลยไปขุดสมบัติเก่าๆ มาซึ่งเป็นแบบตรวจความปลอดภัยเบื้องต้นในโรงงาน มาฝากไว้ เผื่อว่าใครที่เริ่มจะ Set Up ระบบ  กับธุรกิจ SME จะได้เอาไว้ใช้กัน แต่สำหรับใครที่อยากได้ขั้น Advance ต้องบอกว่าตอนนี้กำลังทำอยู่ นะครับ ซึ่งคงเป็นส่วนที่ถนัดสุดคือ Checklist ตามมาตรฐาน NFPA แต่ทำคนเดียวน่าจะนานหน่อยนะครับ

มาดูกันนะครับว่าในเบื้องต้นเราต้องดูอะไรกันบ้าง
(จำไม่ได้จริงๆ ครับว่าเอา Checklist นี้มาจากไหน แต่ก็ต้องขอขอบคุณคนที่เรียบเรียงไว้ด้วยนะครับถือว่าจะได้เป็นประโยชน์กับทุกคนนะครับ)




สำหรับคนที่คิดเหมือนผมตอนนี้ เคยสงสัยไหมว่าทำไม ช่วงนี้จะหาคนช่วยงานนี่ยากเย็นเหลือเกิน พออ่านบทความนี้จบเลยเข้าใจมากขึ้นเลย ว่าเราต้องปรับตัวอะไรบ้างในอนาคต

เมื่อไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการว่างงานต่ำสุด จะส่งผลกระทบต่อคุณอย่างไร?

http://macroart.net/2013/07/how-lowest-unemployment-rate-of-thailand-affect-to-you/

วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

การตรวจรับห้องชุดด้วยตัวเอง

ก่อนช่วงปิดสงกรานต์ มีโอกาสไปตรวจรับห้องชุดให้เพื่อน วันนั้นจำได้ว่า มีคนไปช่วยตรวจ กันหลายคน ก็ถือว่าคึกคักดีครับ เพราะว่าหลายๆตาช่วยกันมอง ก็จะได้ตรวจอย่างละเอียด ถ้วนถี่ วันนี้ผมเลยหยิบยกประเด็นนี้มาฝากทุกคนกัน ว่าถ้าเราต้องไปตรวจรับห้องของคอนโด เราเองเราต้องดูอะไรกันบ้าง เอาแบบเบื้องต้นที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษอะไรมากมายนะครับ

1. การตรวจสอบงานโครงสร้าง
สำหรับภาพโดยรวม คงดูได้ในส่วนของรอยแตกร้าวต่าง ในบริเวณ ผนัง, เสา และคาน ซึ่งถ้าพบก็ต้องแจ้งกับโครงการไป ส่วนที่เหลือที่จะต้องดู ได้แก่ การติดตั้งวงกบประตูหน้าต่าง, ลูกบิดประตู,การติดตั้งฝ้าเพดาน,ความเรียบร้อยในการติดตั้ง Wall Paper, การทาสี, การปูกระเบื้องหรือพื้นไม้ เป็นต้น

 



2. การตรวจสอบงานระบบไฟฟ้า,เครื่องกล

สำหรับคนอยู่บ้าน อะไรก็ไม่สำคัญเท่า ไฟมี น้ำแรง แอร์เย็น ดังนั้นการตรวจหมวดนี้ก็ต้องเน้น 3 อย่าง ที่กล่าวมา ซึ่งได้แก่ ตรวจปลั๊กไฟทุกจุดและหลอดไฟทุกดวง ว่าใช้งานได้ไหม รวมทั้งการทำงานของแผงควบคุมระบบไฟฟ้าภายในห้อง,แอร์เปิดแล้วมีปัญหาน้ำหยดหรือไม่,ทดสอบการเปิดปิดก็อกน้ำทุกก็อก,วาล์วน้ำทุกตัวต้องเปิดได้สะดวกและไม่รั่วซึม และที่สำคัญให้ดูการติดตั้งสุขภัณฑ์ว่าติดตั้งเรียบร้อยครบถ้วน ไม่มีรอยบิ่น สุดท้ายคือต้องตรวจสอบช่องระบายน้ำที่พื้น รวมถึงอ่างล้างมือและอ่างล้างจาน ว่าการระบายน้ำได้ดีหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาจะพบว่าช่องเหล่านี้ตันตลอด

   
                                                                                           

3. การตรวจสอบเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ
สำหรับเฟอร์นิเจอร์ นั้นให้ดูเรื่องความครบถ้วน รวมทั้งดูความเสียหาย พูดง่ายๆว่าของจะต้องไม่มีรอยแตกบิ่นหรือฉีกขาด และถ้าเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าก็ต้องทดสอบการใช้งานว่าทำงานได้ดีหรือไม่



4. การตรวจสอบพื้นที่ส่วนกลาง (ในส่วนที่ได้รับอนุญาต)

สำหรับหัวข้อนี้ส่วนใหญ่แล้วเขาคงไม่ให้เราตรวจครับ แต่ถ้าเดินผ่านทางเดินหน้าห้องก็ลองกดไฟฉุกเฉินดูครับว่าติดหรือไม่ เพราะส่วนอื่นคงต้องให้ทางนิติฯ เป็นคนดำเนินการว่าจ้างตรวจรับงานในภายหลัง (แต่คราวนี้ถือโอกาสไปตรวจเมนท่อดับเพลิงกับห้องไฟฟ้าประจำชั้น ว่าถูกต้องตามมาตรฐานครบถ้วนหรือเปล่า ผลออกมา..... ดูตามรูปกันเองนะครับ)

 


และข้อแนะนำสุดท้ายก่อนเข้าไปตรวจควรจะทำ Checklist ส่วนตัวไว้ว่าจะเข้าไปตรวจอะไร เพื่อให้สามารถตรวจได้ครบถ้วน ส่วนถ้าใครอยากได้วิธีการตรวจแบบละเอียด ก็เมล์มาขอได้นะครับ

สำหรับวันนี้ขอตัวก่อนนะครับ มีนัดทำงานต่อ

วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2556

แรงดันในระบบดับเพลิง



วันนี้ตั้งชื่อหัวข้อดูกว้างๆไปหน่อยนะครับ เพราะว่าตอนแรกตั้งใจจะเขียนแค่การควบคุมแรงดันในระบบดับเพลิง แต่เมื่อวานไปตรวจโรงงานมา ทาง Lead Auditor ก็ถามทางผู้ถูกตรวจว่าทำไมแรงดันในระบบถึงมีแค่ 120 psi. เพราะถ้าดูจากหน้าเครื่องสูบน้ำแล้วแรงดันอยู่ที่ 160 psi. ทางคนตอบก็ตอบไปตามความเข้าใจ ซึ่งผมก็มองว่ามันไม่ผิดอะไร แต่ในใจก็คิดตามไปด้วยว่าทำไมมันถึงลดลงได้ขนาดนี้ ก็เลยเป็นที่มาของเรื่องในวันนี้ ขอเรียงเป็นลำดับขั้นตอนตามแนวคิดหน่อยครับ

1. ความดันในระบบที่ปลายทาง อ่านค่าได้ 120 psi และที่ห้องเครื่องสูบน้ำอ่านค่าได้ 160 psi

ถ้าเมื่อก่อนผมจะประเมินว่าอาจมีการรั่วไหลของท่อดับเพลิงในระบบ แต่พอมาในระยะหลัง พบว่าในบางครั้งปัญหานี้ กลับเกิดมาจากความไม่เที่ยงตรงของอุปกรณ์วัด เช่น Pressure Gauge และอุปกรณ์ประกอบ ได้แก่ Needle Valve ซึ่งก็เป็นเรื่องง่ายที่อาจจะมองข้าม เพราะผมเคยเดินหาแนวท่อที่คิดว่าน่าจะรั่ว แต่สุดท้ายกลับกลายว่าเกิดจาก อุปกรณ์วัดไปได้

แล้วถ้าอุปกรณ์วัดยังทำงานเป็นปกติละ สำหรับ Case เมื่อวานผมมองว่ามันมีความเป็นไปได้ที่ระบบท่อเมนต่างๆ นั้นค่อนข้างเล็ก (ดูจากท่อเมนและขนาดของ Fire Pump) ทำให้เกิด Loss ในระบบที่ค่อนข้างมาก

และถ้าเกิดไม่ใช่ทั้งสองกรณีข้างต้น ก็คงต้องดูว่าระบบท่อและวาล์วมีปัญหาอะไรตรงไหนหรือเปล่า

แต่โดยทั่วไปแล้วถ้าพบว่ามีการรั่วในระบบท่อดับเพลิง ก็จะสังเกตเห็นได้ว่าเครื่องสูบน้ำรักษาแรงดัน (Jockey Pump) ทำงานค่อนข้างถี่กว่าปกติ ดังนั้นการตั้งค่าจุด Start ของ Jockey Pump และ Fire Pump ก็ควรจะต้องยึดตามมาตรฐานด้วย (กำหนดให้ต่ำกว่า System Pressure 5 psi. และ 15 psi. ตามลำดับ)

2. เมื่อมองความดันในระบบที่ปลายทางสูงเกิน 100 psi. แล้วอุปกรณ์เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดจากการใช้งานนั้นมีหรือเปล่า




สำหรับตัวอย่างรูปที่ยกมาให้ดูนั้น สังเกตว่าจะมีการติดตั้ง Pressure Restricting Valve ไว้ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้อุปกรณ์ โดยตามมาตรฐาน NFPA ระบุไว้ว่าถ้าแรงดันใช้งานสูงเกิน 100 psi ก็จะต้องติดตั้งอุปกรณ์ลดแรงดันไว้
ซึ่งในข้อนี้พบว่าหลายที่ไม่ได้มีการติดตั้งไว้

เข้าอบรมก่อนนะครับ เผื่อว่ามีเรื่องอะไรน่าสนใจจะเอามาฝากกัน