วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2556

แรงดันในระบบดับเพลิง



วันนี้ตั้งชื่อหัวข้อดูกว้างๆไปหน่อยนะครับ เพราะว่าตอนแรกตั้งใจจะเขียนแค่การควบคุมแรงดันในระบบดับเพลิง แต่เมื่อวานไปตรวจโรงงานมา ทาง Lead Auditor ก็ถามทางผู้ถูกตรวจว่าทำไมแรงดันในระบบถึงมีแค่ 120 psi. เพราะถ้าดูจากหน้าเครื่องสูบน้ำแล้วแรงดันอยู่ที่ 160 psi. ทางคนตอบก็ตอบไปตามความเข้าใจ ซึ่งผมก็มองว่ามันไม่ผิดอะไร แต่ในใจก็คิดตามไปด้วยว่าทำไมมันถึงลดลงได้ขนาดนี้ ก็เลยเป็นที่มาของเรื่องในวันนี้ ขอเรียงเป็นลำดับขั้นตอนตามแนวคิดหน่อยครับ

1. ความดันในระบบที่ปลายทาง อ่านค่าได้ 120 psi และที่ห้องเครื่องสูบน้ำอ่านค่าได้ 160 psi

ถ้าเมื่อก่อนผมจะประเมินว่าอาจมีการรั่วไหลของท่อดับเพลิงในระบบ แต่พอมาในระยะหลัง พบว่าในบางครั้งปัญหานี้ กลับเกิดมาจากความไม่เที่ยงตรงของอุปกรณ์วัด เช่น Pressure Gauge และอุปกรณ์ประกอบ ได้แก่ Needle Valve ซึ่งก็เป็นเรื่องง่ายที่อาจจะมองข้าม เพราะผมเคยเดินหาแนวท่อที่คิดว่าน่าจะรั่ว แต่สุดท้ายกลับกลายว่าเกิดจาก อุปกรณ์วัดไปได้

แล้วถ้าอุปกรณ์วัดยังทำงานเป็นปกติละ สำหรับ Case เมื่อวานผมมองว่ามันมีความเป็นไปได้ที่ระบบท่อเมนต่างๆ นั้นค่อนข้างเล็ก (ดูจากท่อเมนและขนาดของ Fire Pump) ทำให้เกิด Loss ในระบบที่ค่อนข้างมาก

และถ้าเกิดไม่ใช่ทั้งสองกรณีข้างต้น ก็คงต้องดูว่าระบบท่อและวาล์วมีปัญหาอะไรตรงไหนหรือเปล่า

แต่โดยทั่วไปแล้วถ้าพบว่ามีการรั่วในระบบท่อดับเพลิง ก็จะสังเกตเห็นได้ว่าเครื่องสูบน้ำรักษาแรงดัน (Jockey Pump) ทำงานค่อนข้างถี่กว่าปกติ ดังนั้นการตั้งค่าจุด Start ของ Jockey Pump และ Fire Pump ก็ควรจะต้องยึดตามมาตรฐานด้วย (กำหนดให้ต่ำกว่า System Pressure 5 psi. และ 15 psi. ตามลำดับ)

2. เมื่อมองความดันในระบบที่ปลายทางสูงเกิน 100 psi. แล้วอุปกรณ์เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดจากการใช้งานนั้นมีหรือเปล่า




สำหรับตัวอย่างรูปที่ยกมาให้ดูนั้น สังเกตว่าจะมีการติดตั้ง Pressure Restricting Valve ไว้ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้อุปกรณ์ โดยตามมาตรฐาน NFPA ระบุไว้ว่าถ้าแรงดันใช้งานสูงเกิน 100 psi ก็จะต้องติดตั้งอุปกรณ์ลดแรงดันไว้
ซึ่งในข้อนี้พบว่าหลายที่ไม่ได้มีการติดตั้งไว้

เข้าอบรมก่อนนะครับ เผื่อว่ามีเรื่องอะไรน่าสนใจจะเอามาฝากกัน