วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2552

การติดตั้งอุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้อัตโนมัติ (2)

เรื่องที่แล้วพูดถึงอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนมาคราวนี้เป็นเรื่องตรวจจับควันกันบ้าง


1. พื้นที่ที่เลือกใช้อุปกรณ์ตรวจจับความควัน ได้แก่ พื้นที่หลับนอน ช่องเปิดแนวดิ่งของงานระบบ ห้องเก็บสารไวไฟชนิดเหลว อีกอย่างนะครับอุปกรณ์ตรวจจับควันถือว่าเป็นอุปกรณ์เพื่อป้องกันชีวิต ส่วนอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนถือว่าเป็นอุปกรณ์เพื่อป้องกันทรัพย์สินเป็นหลัก

2. อุปกรณ์ตรวจจับควันต้องติดตั้งในระดับความสูงไม่เกิน 10.50 เมตร (สำหรับชนิดจุด) และ 25 เมตร (สำหรับชนิดลำแสง)

3. ระยะห่างจากฝ้าเพดานหรือหลังคาจะต้องไม่น้อยกว่าตัวเลขในตารางที่ระบุไว้ด้านล่าง โดยพิจารณาจากระยะความสูงที่มีการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับควัน

4. ระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ตรวจจับโดยทั่วไป ให้ติดตั้งห่างไม่เกิน 9.00 เมตร


5. สำหรับบริเวณช่องทางเดินที่มีความกว้างน้อยกว่า 3.60 เมตร ให้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับห่างกันไม่มากกว่า 12.0 เมตร


เรื่องหน้าเป็นเรื่องของอุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ด้วยมือนะครับ

วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552

การติดตั้งอุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้อัตโนมัติ (1)

ช่วงปลายปีหลายๆบริษัท เริ่มจะจัดทำงบประมาณสำหรับการปรับปรุงอาคารในปีหน้ากัน ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ก็ถือได้ว่าเป็นระบบหนึ่งที่มีความสำคัญ และที่ผ่านมาพบว่ามีหลายที่จะมีการปรับปรุงกัน นอกจากการเพิ่มเติมอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ตรวจจับควัน,อุปกรณ์ตรวจจับความร้อน หรืออุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ด้วยมือให้ครอบคลุมพื้นที่อาคารแล้ว การพิจารณาติดตั้งอุปกรณ์ให้ได้ตามมาตรฐานก็เป็นเรื่องที่จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงด้วย จึงขอสรุปข้อแนะนำในประเด็นสำคัญๆของการติดตั้งอุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้มาฝากกัน วันนี้ขอเป็นอุปกรณ์ตรวจจับความร้อน (Heat Detector) กันก่อนแล้วกันนะ


1. พื้นที่ที่เลือกใช้อุปกรณ์ตรวจจับความร้อน ได้แก่ ห้องซักผ้า ห้องน้ำ ห้องครัว ที่จอดรถ ห้องหม้อไอน้ำ เหล่านี้เป็นต้น

2. อุปกรณ์ตรวจจับความร้อนต้องติดตั้งในระดับความสูงไม่เกิน 4.00 เมตร

3. อุปกรณ์ตรวจจับความร้อนที่ติดตั้งใต้เพดานหรือหลังคาที่ได้รับความร้อนจากแสงแดด ต้องติดตั้งให้ส่วนตรวจจับอยู่ห่างจากเพดานหรือหลังคาในแนวดิ่ง ไม่น้อยกว่า 180 mm. แต่ไม่เกิน 350 mm.

4. ระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ตรวจจับโดยทั่วไป ให้ติดตั้งห่างไม่เกิน 7.20 เมตร

5. สำหรับบริเวณช่องทางเดินที่มีความกว้างน้อยกว่า 3.60 เมตร ให้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับห่างกันไม่มากกว่า 9.50 เมตร
ตอนต่อไปจะเป็นส่วนของอุปกรณ์ตรวจจับควันนะครับ ติดตามอ่านกันได้เด้อ

วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2552

การพับสายฉีดน้ำดับเพลิง

มาวันนี้ขอนำเรื่องสบายๆมาฝากกันดีกว่า เรื่องนี้ไม่ยากแต่ว่าเหนื่อยสำหรับคนอย่างผมที่ชอบรื้อแต่ไม่ชอบเก็บ 5555 ล้อเล่นนะครับ วันนี้นำวิธีการพับสายฉีดน้ำดับเพลิงมาฝากกัน แบบเดิมที่ผมเคยถูกสอนมาก็จะม้วนปลายมายังต้นสายประมาณว่าม้วนทีก้อต้องตามระยะสาย 30 เมตร คนไม่ชอบเก็บอย่างผมเลยชอบแบบใหม่ที่ม้วนแค่ครึ่งเดียวมากกว่า ดูวิธีการม้วนแบบใหม่ที่ว่าดีกว่า หรือว่าเก่าแล้วก็ไม่รู้นะ เอามาฝากเป็นรูปจะได้เห็นภาพกันชัดๆ

ม้วนแบบนี้ที่เห็นข้อดีก็มีอยู่หลายอย่างนะครับ ถ้าเป็นสายฉีดน้ำภายในตู้ฉีดน้ำดับเพลิงประเภท Hose Rack ซึ่งการใช้งานต้องดึงสายออกมาจนหมดการม้วนแบบนี้ผมว่าจะใช้งานง่ายกว่าแบบที่เก็บไว้ใน Rack นะ ดูภาพหลังม้วนแบบพร้อมใช้งาน


สำหรับสายฉีดน้ำดับเพลิงขนาด 2.5 นิ้วนั้นการม้วนแบบพับครึ่งแล้วจึงทำการม้วนเก็บนั้น จะทำให้เวลาคลี่สายแล้วโอกาสที่สายจะม้วนเป็นเกลียวน้อยกว่าการพับสายแบบเดิม นอกจากนี้แล้วการม้วนแบบเดิมนั้นพอเวลาใช้สายฉีดไปนานๆ สายมีโอกาสขาดบริเวณรอยพับได้ง่าย

ก็ลองเอาไปพิจารณาใช้กันนะครับ

และอีกตามเคยวันนี้มีรูปมาฝากกันเป็นเสื้อกันแดดของถังดับเพลิงมือถือ ลิขสิทธฺ์โดย ปตท. แต่ว่าคงไม่ห้ามถ้าจะลอกเลียนแบบ (ถ้าดีก้อต้องส่งเสริมว่าป่าว) เสื้อตัวนี้สำหรับแก้ปัญหาถังดับเพลิงที่ต้องติดตั้งอยู่ภายนอกอาคารแล้วโดนแดดทำให้สายฉีดชำรุดเสียหาย

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ท่อพลาสติกกับการแก้ปัญหาเรื่องสนิม

ปัญหาอย่างหนึ่งที่พบได้บ่อยสำหรับอาคารที่ก่อสร้างติดกับชายทะเล คือปัญหาการเกิดสนิม กับวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ อาทิตย์ที่ผ่านมามีโอกาสไปตรวจงานที่ภูเก็ต ก็เลยนำรูปมาฝากกันเล็กน้อย


ผมว่าผู้ออกแบบหลายๆ ที่นั้นในปัจจุบันเริ่มให้ความสำคัญกับการเลือกวัสดุให้เหมาะสมกับโครงการมากขึ้น โดยจะพบว่าอาคารใหม่ๆ ที่ก่อสร้างใกล้กับพื้นที่ชายทะเล ในส่วนของระบบท่อน้ำประปา มีการเลือกใช้วัสดุท่อที่เป็นพลาสติกกันเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ชนิด PE (Polyethylene) หรือ ชนิด PB (Polybutylene) หรือ PVC (Polyvinyl Chloride) หรือจะเป็น ชนิด PP-R (Random Copolymer Polypropylene) ซึ่งการเลือกใช้ ก็คงจะต้องพิจารณาเลือกใช้ให้เหมาะสมทั้งทางด้านจุดที่จะนำไปใช้งาน และงบประมาณของโครงการด้วย ส่วนในระบบท่อน้ำร้อน ตามความเห็นของผมนะครับ ถ้าทองแดงราคาไม่สูงจนน่าตกใจเหมือนที่เคยผ่านมาช่วงหนึ่ง ก็ยังเป็นท่อที่ยังเหมาะสมที่จะใช้กับระบบน้ำร้อน

ขอนำรูปตัวอย่างอาคารที่มีการปรับปรุงระบบท่อมาให้ไว้เป็นไอเดียสำหรับทุกคนนะครับ


ตอนแรกกะว่าจะฟันธงให้เลยว่าส่วนใหนของระบบให้ใช้ท่ออะไร แต่คิดไปคิดมาไม่เอาดีกว่าเพราะว่าแต่ละอาคารมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ถ้าให้ดีก็ศึกษาจากผู้ขายหลายๆ ที่แล้วมาเปรียบเทียบกัน แต่แนะนำนะครับอย่าเชื่อผู้ขายเสียทั้่งหมด 5555..... อีกอย่างอย่าลืมนึกถึงตอนซ่อมนะครับว่าจะซ่อมยังไงไม่ใช่ว่าติดตั้งไปพอเวลามีปัญหา หาเครื่องมือไม่ได้ หรือช่างอาคารไม่มีทักษะพอ ซ้ำร้ายบริษัทฯที่ขายของให้ก็ไม่มีฝ่ายบริการ อันนี้ก็สำคัญนะครับ

และตามเคยวันนี้มีรูปมาฝากกัน เป็นรูปตู้ฉีดน้ำดับเพลิง แน่นอนครับสำหรับอาคารที่อยู่ใกล้ทะเล ที่ไปตรวจมานะครับทางอาคารเลือกใช้วัสดุที่เป็น Stainless กับ Fiberglass ยิ่งชนิดที่เป็น Fiberglass ตอนเห็นทีแรกผมยังคิดว่าเป็นตู้เหล็ก พอดูใกล้ๆ Fiberglass นี่ ว่าแล้วทำไมมันไม่ผุเลย แต่ลืมถามไปตู้ใบละเท่าไหร่ ในใจผมว่า ถ้าติดตั้งนอกอาคารเอาเป็นตู้ไม้เลยก็ดีนะครับคลาสสิคดีแล้วติดป้ายแสดงสัญลักษณ์ไว้เสียหน่อย ไว้ถ้าเจอที่ไหนมีแล้วจะเอามาฝากกันนะครับ

วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

หัวรับน้ำดับเพลิง

ใจจริงแล้วตั้งใจจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องอื่นแต่บังเอิญว่าช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาเจอคำถามเกี่ยวกับหัวรับน้ำดับเพลิงมาพอสมควรก็เลยถือโอกาสมาเล่าให้ฟัง ว่าเจ้าหัวรับน้ำดับเพลิงนั้นถ้าจะมีหรือติดตั้งจะต้องพิจารณาอะไรกันบ้าง

มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับหัวรับน้ำดับเพลิง

1. หัวรับน้ำดับเพลิงจะต้องติดตั้งร่วมกับระบบท่อดับเพลิงภายในอาคารและระบบท่อดับเพลิงภายนอกอาคาร สำหรับเติมน้ำเข้าระบบท่อ


2. หัวรับน้ำดับเพลิงควรมีหัวรับน้ำอย่างน้อย 2 ทาง มีลิ้นกันกลับอยู่ในตัว หัวรับน้ำดับเพลิงเป็นชนิดตัวผู้สวมเร็ว พร้อมฝาครอบตัวเมีย และโซ่คล้องครบชุด ตัวหัวรับน้ำทำด้วยอลูมิเนียม ทองเหลือง หรือเป็นวัสดุที่เทียบเท่า


3. ขนาดของหัวรับน้ำดับเพลิงจะต้องมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 65 มิลลิเมตร

4. หัวรับน้ำดับเพลิงจะต้องมีวาล์วกันกลับ (Check Valve) ติดตั้งต่างหากในเส้นท่ออีกด้วย


5. สำหรับอาคารหรือโรงงานที่มีการแบ่งระบบท่อน้ำดับเพลิงเป็นโซนจะต้องออกแบบให้มีหัวรับน้ำดับเพลิงแยกสำหรับแต่ละโซน และมีป้ายบ่งบอกอย่างชัดเจน


6. ไม่ให้มีวาล์วปิด-เปิด ระหว่างหัวรับน้ำดับเพลิงกับระบบท่อยืน


7. หัวรับน้ำดับเพลิงจะต้องติดตั้งอยู่ในที่ๆ พนักงานดับเพลิงเข้าถึงได้โดยง่าย และไม่มีอุปสรรคใดๆ และอยู่ใกล้กับหัวดับเพลิงสาธารณะ (Public Hydrant) (ข้อนี้ก็สำคัญนะครับเพราะน้ำดับเพลิงไม่ใช่ว่าจะเอามาจากรถดับเพลิงเพียงอย่างเดียวนะครับ เพราะน้ำของรถดับเพลิงมีปริมาณ 10-15 ลบ.ม. คงไม่เพียงพอ)

8. ระดับติดตั้งหัวรับน้ำดับเพลิงควรติดตั้งในระดับที่พนักงานดับเพลิงสามารถต่อสายดับเพลิงได้อย่างสะดวก ในส่วนของมาตรฐาน NFPA ระบุให้ติดตั้งสูงจากพื้นไม่มากกว่า 1.2 เมตร

สำหรับเรื่องขนาดป้ายแสดงตำแหน่งหัวรับน้ำดับเพลิงนั้นตามมาตรฐานทั่วไปกำหนดให้มีป้ายตัวอักษรอ่านได้ชัดเจนขนาด 5 เซ็นติเมตร แต่จากประสบการณ์แล้วผมแนะนำให้ใช้ตัวอักษรขนาดประมาณ 10 เซ็นติเมตร น่าจะดีเพราะสังเกตเห็นได้ง่าย วันนี้เลยเอารูปป้ายหัวรับน้ำดับเพลิงที่ที่หนึ่งที่ผมว่าน่าจะใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเห็นมาเลยนะครับ ชัดเจนดีครับ

วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ทำอย่างไรเมื่อลิฟต์ค้าง

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาไปเดินสำรวจห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง พอดีขึ้นลิฟต์พนักงาน ได้ยินเขาพูดกันว่าเมื่อวานลิฟต์ค้าง กว่าจะช่วยกันงัดได้ ก็เลยคิดๆอยู่ว่าจริงๆแล้วถ้าเราเจอสถานะการณ์อย่างนี้แล้วเราจะต้องทำอย่างไร พอดีได้อ่านวรสารของสมาคมลิฟต์แห่งประเทศไทย ฉบับหนึ่งซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนแนะนำไว้ในกรณีที่เราเจอลิฟต์ค้าง เห็นว่ามีประโยชน์ก็เลยเอามาฝากทุกคนกัน


ข้อควรปฏิบัติแก่ผู้ใช้งานอย่างถูกวิธี กรณีลิฟต์ค้าง

1. เมื่อลิฟต์ค้าง อย่าตกใจจนเกินเหตุ ควรตั้งสติให้ดี เพราะจะไม่มีอันตรายใดๆโดยเฉพาะระบบระบายอากาศที่เพียงพอ เนื่องจากจะมีการไหลเวียนของอากาศในบ่อลิฟต์กับห้องลิฟต์อยู่ตลอดเวลา

2. ในขณะที่ลิฟต์ค้าง ชุดไฟสำรองฉุกเฉินจะทำงานให้มีแสงสว่างเพียงพอ เพื่อให้กดปุ่มสัญญาณ EMERGENCY CALL ที่แผงปุ่มกด และสามารถติดต่อพูดคุยกับผู้ที่อยู่ด้านนอกได้

3. พยายามสังเกตชั้นที่ใกล้เคียงที่สุดในขณะที่ลิฟต์ค้าง เพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้ที่กำลังให้การช่วยเหลือ

4. จากนั้นให้รอเจ้าหน้าที่มาช่วยเหลือคุณให้ออกจากลิฟต์อย่างสะดวกและปลอดภัย

5. อย่าพยายามงัดประตูลิฟต์โดยพลการอย่างเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายได้

6. ห้ามผู้ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการช่วยเหลือคนติดลิฟต์กระทำการใดๆ อย่างเด็ดขาดเพราะการช่วยเหลือจำเป็นต้องทำตามหลักการและขั้นตอนที่ถูกต้อง

7. เจ้าหน้าที่ทำการช่วยเหลือ จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่ทางบริษัทฯ อบรมให้อย่างเคร่งครัด


ก็ลองจำไว้ปฏิบัติกันนะครับ แต่ผมว่าถ้ารอนานแล้วไม่มีใครมาช่วย จะห้ามไม่ให้งัดลิฟต์คงจะยากเหมือนกันนะ

วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2552

การตรวจเช็คการตกตะกอนของสลัดจ์ SV30


วันก่อนได้เขียนเรื่องการแก้ปัญหาเบื้องต้นสำหรับตะกอนลอยในถังตกตะกอนไว้ วันนี้ก้อเลยเอาเรื่องการตรวจสอบมาฝากกันดีกว่าเพราะว่าถ้าเราตรวจสอบพบปัญหาก่อนที่จะเกิดก็จะดีกว่าการแก้ไขจริงไหมครับ สำหรับวิธีการตรวจสอบนั้นมีวิธีง่ายๆ ที่ทำกันก็คือการตรวจวัดค่า SV30


SV30 เป็นค่าปริมาตรของสลัดจ์ที่อ่านได้จากการนำน้ำจากบ่อเติมอากาศมาตกตะกอนใน Imhoff Cone ขนาด 1,000 มล. (1 ลิตร) เป็นระยะเวลา 30 นาที ซึ่งค่าที่ได้จะสามารถนำมาประเมินลักษณะการตกตะกอนของสลัดจ์ได้ว่ามีสภาพอย่างไร โดยเมื่อระบบบำบัดน้ำเสีย (ระบบแบบ Activated Sludge) ทำงานปกติค่า SV30 จะมีค่าอยู่ระหว่าง 200-300 มล. นอกจากนี้ถ้าเราสังเกตการตกตะกอนของตะกอนระหว่างทดสอบ ก็สามารถทำให้ทราบปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาในเบื้องต้นได้ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

1. ลักษณะของสลัดจ์มีสีน้ำตาลเข้มตะกอนสามารถตกตะกอนได้เร็ว น้ำส่วนบนค่อนข้างใส และปริมาณสลัดจ์ มีค่าระหว่าง 200-300 มิลลิลิตร จากข้างต้นสรุปได้ว่าระบบทำงานเป็นปกติ

2. ลักษณะของสลัดจ์มีสีน้ำตาลเข้มมาก ปริมาณสลัดจ์ มีค่าระหว่าง 300-400 มิลลิลิตร จากข้างต้นสรุปได้ว่าระบบทำงานเป็นปกติ แต่สลัดจ์ภายในบ่อเติมอากาศค่อนข้างมากเกินไปจำเป็นต้องสูบตะกอนส่วนเกินไปกำจัดให้มากขึ้นเพื่อให้ค่า SV30 อยู่ระหว่าง 200-300 มิลลิลิตร

3. ลักษณะของสลัดจ์มีสีน้ำตาลเข้มและตกตะกอนได้เร็ว แต่เมื่อตั้งทิ้งไว้ 1-2 ชั่วโมง พบว่ามีสลัดจ์ลอยขึ้นที่ผิวหน้าน้ำ ซึ่งแสดงว่าเกิดปฏิกริยาดีไนตริฟิเคชั่น ภายในถังตกตะกอนอันเกิดจากมีการสะสมของสลัดจ์บริเวณก้นถังตกตะกอน จำเป็นต้องสูบตะกอนส่วนเกินไปกำจัดให้มากขึ้นเพื่อให้ค่า SV30 อยู่ระหว่าง 200-300 มิลลิลิตร

4. ลักษณะของสลัดจ์มีสีน้ำตาลและตกตะกอนช้า น้ำส่วนบนมีลักษณะขุ่น ลักษณะดังกล่าวอาจเกิดจากปริมาณน้ำเสียเข้าสู่ระบบมากเกินไป หรืออาจเกิดจากระบบการเิติมอากาศมีความบกพร่อง จำเป็นจะต้องลดการสูบสลัดจ์ส่วนเกินไปกำจัดเพื่อเพิ่มปริมาณสลัดจ์ในบ่อเติมอากาศ และให้ตรวจเช็คค่าปริมาณออกซิเจนละลายน้ำภายในบ่ิอเติมอากาศว่าเพียงพอหรือไม่ (ค่าปกติอยู่ที่ 1-2 มก./ลิตร)

5. ลักษณะของสลัดจ์มีสีน้ำตาลอ่อนและตะกอนตกช้า น้ำส่วนบนมีลักษณะขุ่น ลักษณะดังกล่าวมักพบตอนที่เริ่มมีการเดินระบบใหม่ๆ แต่ถ้าเป็นช่วงปกติแล้ว วัดค่า SV30 ได้ต่ำกว่า 200 มิลลิลิตร อาจเป็นเพราะว่า BOD Loading เข้าระบบต่ำเกินไป (ตรงนี้ให้ตรวจสอบกับค่าที่ออกแบบไว้)

ก็ลองเอาไปใช้ดูนะครับ ผมว่าค่า SV30 เป็นค่าที่ตรวจวัดได้ง่ายและบอกอะไรเราได้หลายอย่าง ที่จริงจะว่าไปแล้วการควบคุมดูแลระบบบำบัดน้ำเสียนั้นจะต้องตรวจวัดค่าพารามิเตอร์ในหลายๆตัว เพื่อที่จะได้นำมาประเมินระบบว่ามีปัญหาหรือมีสภาำพอย่างไร เหมือนอย่างกับไปหาหมอซึ่งการวัดไข้อย่างเดียวอาจไม่สามารถบอกอาการทั้งหมดได้ ต้องตรวจหลายๆอย่าง แต่ปัจจุบันใช่ว่าทุกที่จะมีความพร้อมในการตรวจวัดค่าต่างๆได้ครบเป็นประจำ แต่ถ้าจะให้ระบบมีประสิทธิภาพที่ดีในการทำงานผมว่าถ้าเป็นไปได้นำน้ำเสียไปตรวจวัดค่าพารามิเตอร์ เพื่อตรวจหาสภาพการทำงานของระบบบ้างก็ดีนะครับ อย่างเช่น ค่าออกซิเจนละลายน้ำ(DO) ค่าความเข้มข้นของตะกอนจุลินทรีย์ (MLSS) เหล่านี้เป็นต้น เพิ่มจากการน้ำทิ้งไปตรวจซึ่งเราจะต้องตรวจเป็นประจำอยู่แล้ว

วันพุธที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2552

กฎหมายใหม่เกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย

เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาทางกระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศกระทรวงฉบับหนึ่งมาเรื่อง การป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงาน พ.ศ.2552 และจากที่อ่านดูแล้วจะว่าไปผมว่าเกือบทุกโรงงานคงต้องทำเลยแหละ (ถ้าใครมีความเห็นอย่างไรก้อโพสต์มาคุยกันนะครับ) โดยวันนี้จะขอยกในประเด็นสำคัญสำหรับกรณีโรงงานที่เปิดดำเนินการอยู่ ว่าจะต้องมีอะไรเพิ่มเติมกันบ้างเพื่อให้สอดคล้องกับตัวกฎหมายที่ออกมาใหม่ เอาเป็นทีละประเด็นแล้วกัน

1. ภายในตัวอาคารโรงงานจะต้องจัดให้มีอุปกรณ์ตรวจจับและแจ้งเหตุเพลิงไหม้ครอบคลุมทั่วทั้งอาคารตามความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยการติดตั้งให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับ ซึ่งรายละเอียดในข้อนี้เจตนารมย์ของกฎหมายคือโรงงานที่อยู่ในข่ายที่กฎหมายนี้บังคับใช้จะต้องติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับควันหรือตรวจจับความร้อน รวมถึงอุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ด้วยมือ ซึ่งการเลือกใช้และการติดตั้งก็ให้เป็นไปตามมาตรฐานของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (ว.ส.ท.) มาตรฐานบ้านเราก็สากลนะครับเพราะสอดคล้องกับมาตรฐาน NFPA ใครอ่านข้อกฎหมายในหมวดนี้แล้วเห็นว่าอย่างไรก็แชร์กันได้นะครับ


2. โรงงานจะต้องจัดเตรียมเครื่องดับเพลิงมือถือ ขนาดบรรจุไม่น้อยกว่า 4.5 กิโลกรัม ส่วนการเลือกชนิดของเครื่องดับเพลิงก็ให้เหมาะสมกับประเภทของเชื้อเพลิงของแต่ละโรงงานนะครับ นอกจากนั้นระยะการติดตั้งจะต้องห่างกันไม่เกิน 20 เมตร และความสูงวัดจากส่วนบนสุดไม่เกิน 1.50 เมตร สำหรับข้อนี้ผมว่าแต่ละที่คงไม่น่าจะมีปัญหา


3. โรงงานจะต้องจัดเตรียมน้ำสำหรับดับเพลิงในปริมาณที่เพียงพอที่จะจ่ายให้กับอุปกรณ์ฉีดน้ำดับเพลิงต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 30 นาที โดยการติดตั้งให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับ สำหรับข้อนี้นะครับผมอึดอัดเล็กน้อยเพราะว่าถ้าฟันธงว่าให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำดับเพลิงและถังสำรองน้ำดับเพลิง ก็อาจจะมีข้อโต้แย้งกันได้ เอาเป็นว่าผมจะสอบถามไปที่หน่วยงานที่รับผิดชอบดูว่าข้อนี้เอายังไง แต่เบื้องต้นสำหรับโรงงานที่ไม่มีเครื่องสูบน้ำดับเพลิงนะครับ อย่างน้อยๆ ก็ต้องเตรียมถังสำรองน้ำดับเพลิงและหัวรับน้ำดับเพลิง ส่วนระบบจ่ายน้ำดับเพลิงจะเป็นอย่างไร แล้วจะมาบอกกันอีกทีนะครับว่าจะต้องติดให้เป็นไปตามมาตรฐาน NFPA เลยหรือเปล่า หรือว่าจะเป็นเครื่องสูบน้ำดับเพลิงขนาดเล็กก็เพียงพอสำหรับโรงงานที่อันตรายปานกลาง รวมถึงจะต้องติดตั้งตู้ฉีดน้ำดับเพลิงหรือหัวฉีดน้ำดับเพลิงในลักษณะใด


4. โรงงานที่มีสถานที่จัดเก็บวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นวัตถุที่ติดไฟได้ ที่มีพื้นที่ต่อเนื่องกันตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตร และสถานที่จัดเก็บวัตถุไวไฟ ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 14 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติ เช่นระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิง (Sprinkler System) สำหรับโรงงานไหนที่มีคลังสินค้า หรือที่จัดเก็บวัตถุไวไฟ ตามรายละเอียดข้างต้น ยังไงก็ต้องมีเครื่องสูบน้ำดับเพลิง


สำหรับโรงงานเก่าก็มีคร่าวๆ ประมาณนี้สำหรับรายละเอียดทั้งหมดลองอ่านดูนะครับ เกือบลืมอีกอย่างกฎหมายฉบับนี้ระบุว่าให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสามปีนับจากวันที่ประกาศฉบับนี้มีคับใช้ ซึ่งก็หมายถึงว่าโรงงานก็จะต้องแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2555

สำหรับใครที่จะติดตั้งระบบเพิ่มเติมก้อเมล์มาปรึกษาได้นะครับ ไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่ถ้าอยู่ในกรุงเทพฯ ขอเป็นข้าวซักมื้อแล้วกัน 5555

วันพุธที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2552

วาล์วต่างๆในระบบดับเพลิง

ในระบบดับเพลิงมีวาล์วหรืออุปกรณ์ประกอบสำหรับระบบอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบและจากที่ผ่านมาพบว่ามีการเลือกใช้งานไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดอยู่ทั่วไปทั้งมาตรฐานของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยเองหรือของมาตรฐานสากลอย่าง NFPA วันนี้เลยขอถือโอกาสชี้ประเด็นในจุดที่สำคัญๆมาให้ได้ดูกันเผื่อว่าถ้าจะทำการติดตั้งใหม่หรือปรับปรุงระบบจะได้เลือกใช้กันได้ถูกต้อง

1. วาล์วทางด้านดูดของเครื่องสูบน้ำดับเพลิง ให้ใช้เป็น OS&Y Gate Valve จุดประสงค์เพื่อให้ด้านดูดมีความเสียดทานน้อยที่สุด


2. วาล์วทางด้าน Test Line ของเครื่องสูบน้ำดับเพลิง ให้ใช้เป็น Butterfly Valve จุดประสงค์เพื่อให้สามารถปรับค่าอัตราการไหลได้สะดวก ในช่วงที่จะต้องทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องสูบน้ำดับเพลิง


3. วาล์วด้านจ่ายของระบบท่อน้ำดับเพลิง จะใช้ OS&Y Gate Valve หรือ Butterfly Valve ก็ได้โดยที่ Butterfly Valve จะใช้พื้นที่ติดตั้งน้อยกว่านอกจากนี้ราคาก็ยังถูกกว่าด้วยก็เลือกใช้กันตามสะดวกนะครับ


4. Floor Control Valve ส่วนของ Test&Drain จะใช้เป็น Gate Valve หรือ Ball Valve ก็ได้แต่ถ้าเป็น Ball Valve ก็จะใช้งานสะดวกกว่า


5. หัวรับน้ำดับเพลิง ให้ใช้เป็นข้อต่อสวมเร็ว (Quick Coupling) ชนิดตัวผู้


6. Test Station ของระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิง (Automatic Sprinkler System) จะใช้เป็น Ball Valve หรือ Gate Valve ก็ได้แต่ Ball Valve จะใช้งานได้สะดวกกว่า


7. หัวฉีดน้ำดับเพลิงรอบอาคาร (Fire Hydrant) และหัวฉีดน้ำดับเพลิงทั่วไป ให้ใช้เป็นข้อต่อสวมเร็ว (Quick Coupling) ชนิดตัวเมีย


นอกจากการเลือกชนิดของวาล์วให้เหมาะสมกับการใช้งานแล้ว วาล์วที่นำมาใช้ควรจะต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจากสถาบันที่เป็นที่ยอมรับด้วย ได้แก่ UL (Underwriters Laboratories) และ FM

วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2552

ปัญหาตะกอนลอยในถังตกตะกอน


ระบบบำบัดน้ำเสียขั้นที่สอง (Secondary Treatment) ที่มีใช้กันอยู่แพร่หลายในบ้านเราคงหนีไม่พ้นระบบบำบัดน้ำเสียทางชีวภาพแบบเติมอากาศ ชนิดระบบตะกอนเร่งหรือ Activated Sludge เนื่องจากเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพในการบำบัดสูง(มากกว่า 90%) แต่เนื่องจากกลไกการทำงานหลักจะใช้จุิลินทรีย์ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ที่มีอยู่ในน้ำเสีย (ใช้จุลินทรีย์กำจัดความสกปรกในน้ำเสีย) ซึ่งผมมักจะบอกใครๆเสมอว่าถ้าเปรียบเทียบจุลินทรีย์แล้วผมว่ามันก็คล้ายคนเรานี่แหละมีอะไรซับซ้อนพอกันแต่คงไม่วุ่นวายเท่า คนเราทานข้าวเป็นอาหาร จุลินทรีย์ก็ทานน้ำเสียเป็นอาหาร มีเกิดแก่เจ็บตายเหมือนกันและก็มีความละเอียดอ่อนต้องทำความเข้าใจพอๆกัน ดังนั้นคนที่ควบคุมดูแลระบบบำบัดน้ำเสียชนิดนี้นอกจากที่จะต้องเข้าใจกระบวนการการทำงานของระบบแล้วจะต้องเข้าใจการทำงานของจุลินทรีย์ด้วย แต่วันนี้คงไม่ได้พูดเรื่องจุลินทรีย์ นะครับ 555 (ไว้วันหลังจะหาเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของจุลินทรีย์มาฝากแล้วกัน) เข้าเรื่องดีกว่า ระยะหลังนี้ได้มีโอกาสไปตรวจสอบสำรวจระบบบำบัดน้ำเสียชนิด Activated Sludge มาหลายที่และปัญหาที่เจอบ่อยและดูแล้วจะเจอกันทุกที่เพียงแต่ที่ใดจะมีปัญหามากน้อยต่างกันเท่านั้นเอง ปัญหานั้นคือ "ปัญหาตะกอนลอยภายในถังตกตะกอน" ซึ่งถ้าจะพูดถึงสาเหตุของปัญหาแล้วจะบอกว่ามีอยู่ด้วยกันหลายอย่าง แต่วันนี้ขอหยิบยกมาซักประเด็นแล้วกัน
โดยปัญหาตะกอนที่พบในถังตกตะกอนสาเหตุหนึ่งที่พบกันมากคือการที่เราควบคุมการนำตะกอนภายในถังตกตะกอนไปทิ้งน้อยเกินไปทำให้เกิดการสะสมของตะกอนที่ก้นถังเมื่อถึงจุดหนึ่งจะเกิดก๊าซไนโตรเจนขึ้นและก๊าชเหล่านี้แหละก็จะพาตะกอนที่ก้นถังให้ลอยขึ้นมา ตอนเริ่มต้นก็จะไม่มากเท่าไหร่แต่ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขตะกอนก็จะสะสมที่ผิวหน้าในปริมาณที่มากขึ้น และก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพน้ำทิ้งที่ออกจากระบบบำบัดน้ำเสียซึ่งจะสูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งค่า BOD,SS(ค่าตะกอนแขวนลอยในน้ำ) เหล่านี้เป็นต้น สำหรับการแก้ปัญหานะครับ


สมมติถ้าเป็นอย่างรูปข้างบนที่มีชั้นตะกอนหนามากก็ต้องตักตะกอนที่ผิวหน้าออกให้หมดจากนั้นก็ให้ระบายตะกอนภายในถังตกตะกอนออกให้หมด แล้วเริ่มควบคุมกันใหม่นะครับโดยให้ควบคุมอัตราการหมุนเวียนตะกอนกลับจากบ่อตกตะกอนไปยังบ่อเติมอากาศและปริมาณตะกอนที่จะนำไปทิ้ง โดยสามารถคิดคำนวณได้ดังนี้
Q (R) = {Q (W) x MLVSS(A)} /{MLVSS (R) - MLVSS(A)}

Q (E) = {MLVSS(A) x Vol.(A)} /{Sludge Age x MLVSS(R)}

โดยที่
Q (R) = อัตราการสูบตะกอนย้อนกลับ (ลบ.ม./วัน)
Q (E) = อัตราการสูบตะกอนทิ้ง (ลบ.ม./วัน)
Q (W) = อัตราการไหลของน้ำเสียเข้าระบบ (ลบ.ม./วัน)
MLVSS(A) = ความเข้มข้นของตะกอนจุลินทรีย์ภายในบ่อเติมอากาศ (มก./ลิตร)
MLVSS (R) = ความเข้มข้นของตะกอนจุลินทรีย์ของตะกอนย้อนกลับ (มก./ลิตร)
Vol.(A) = ปริมาตรของบ่อเติมอากาศ (ลบ.ม.)
Sludge Age = อายุตะกอนจุลินทรีย์ในระบบ (วัน)

จากข้างต้นจะเห็นว่าค่าต่างๆที่จะใช้เพื่อการคำนวณหาปริมาณของตะกอนที่จะสูบกลับไปยังบ่ิอเติมอากาศและตะกอนที่จะต้องสูบไปทิ้งนั้นต้องอาศัยค่าจากการตรวจวัดสภาพต่างๆของระบบรวมทั้งค่าที่ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่การออกแบบ ซึ่งหากไม่ทราบก็คงต้องคำนวณย้อนกลับจากขนาดของบ่อที่สร้างไว้
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้วในการควบคุมระบบบำบัดน้ำเสียคงจะต้องดูสภาพต่างๆของทั้งระบบประกอบกันไป ไม่ว่าจะเป็น ปริมาณน้ำเสียที่เข้าระบบ, ค่าความสกปรกของน้ำเสีย (BOD,COD)และประสิทธิภาพการเติมอากาศ เหล่านี้เป็นต้น ดูแล้วเหมือนจะยุ่งนะ แต่ถ้าใส่ใจมันซักหน่อยก็ไม่มีอะไรยุ่งหรอก ไว้พบกันใหม่นะครับ

วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2552

ระบบดับเพลิงอัตโนมัติ FM-200

ระบบสารสะอาดดับเพลิงที่นิยมใช้กันในปัจจุบันนั้นมีด้วยกันหลายชนิดแต่ที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายนั้นคงจะเป็นสารที่ชื่อว่า "FM-200" หรือมีชื่อทางเคมีว่า Heptafluoropropane ซึ่งถือว่าเป็นสารที่มีประสิทธิภาพในการดับเพลิงสูงตัวหนึ่งและชื่อก็บ่งบอกแล้วว่าเป็นสารสะอาดดังนั้นจะพบว่าเรามักจะใช้ FM-200 สำหรับดับเพลิงที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่ที่ติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าอิเลคโทรนิคที่มีมูลค่าสูง และบริเวณพื้นที่ห้องที่มีความสำคัญๆ ได้แก่ ห้องคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ ห้องควบคุมระบบโทรคมนาคม หรือห้องที่เก็บสินค้าหรือทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง โดยเจ้า FM-200 นั้นจะไม่ทำให้อุปกรณ์และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย พูดกันภาษาชาวบ้านก็คือห้องไหนกลัวน้ำถ้าเกิดใช้เป็นระบบสปริงเกลอร์ดับเพลิงด้วยน้ำแล้วอาจทำให้เกิดความเสียหายในด้านทรัพย์สินก็เลือกใช้เป็นสารสะอาดดับเพลิง ส่วนค่าใช้จ่ายก็จะสูงขึ้นแต่ถ้าเทียบเรื่องราคาค่าติดตั้งระบบกับมูลค่าทรัพย์สินแล้วยังไงก็คุ้ม เนื่องจากเมื่ออาทิตย์ก่อนมีคนถามเรื่องเกี่ยวกับเจ้า FM-200 มาก็เลยถือโอกาสนำมาเล่าให้ฟังแต่ขอพูดในส่วนของส่วนประกอบของระบบและวิธีการทำงานแล้วกันส่วนวิธีการออกแบบใครสนใจก็ฝาก e-mail ไว้แล้วกันนะครับแล้วจะส่งไปให้อีกที

FM-200 จัดเป็นสารสะอาดดับเพลิง ประเภทสารฮาโลคาร์บอน (Halocarbon Agent) เพราะว่ามีฟลูโอลีนเป็นองค์ประกอบหลัก (CF3CHFCF3) สำหรับส่วนประกอบของระบบที่สำคัญๆนั้นได้แก่

1. ถังบรรจุแก๊ส (Gas Cylinder)


ตัวถังผลิตจาก Carbon Steel Alloy สีแดง ที่หัวถังจะต้องมีมาตรวัดแรงดัน (Pressure Gauge) พร้อมอุปกรณ์เช็คแรงดันในถัง (Low Pressure Supervisory Switch) นอกจากนี้จะต้องมีอุปกรณ์ปล่อยแก๊ส (Release Device) เป็นแบบ Gas Valve Assembly ซึ่งถูกออกแบบให้ทำงานเพื่อฉีดแก๊ส FM-200 โดยผ่าน Solenoid Valve เท่านั้น โดยถังบรรจุจะต้องวางอยู่ในตำแหน่งที่สะดวกต่อการตรวจสอบ ทดสอบและการบำรุงรักษา นอกจากนี้ควรอยู่ใกล้กับพื้นที่ป้องกันนั้นๆทั้งนี้เพื่อให้ง่ายต่อการทดสอบ และการตอบสนองในสภาวะฉุกเฉิน

2. ท่อและอุปกรณ์ประกอบ (Pipe and accessories)

โดยท่อ ข้อต่อ และวาล์วต้องทำจากวัสดุที่แข็งแรงทนทานและจะต้องทนความดันใช้งานได้ไม่น้อยกว่าความดันภายในที่เกิดขึ้นภายในถังบรรจุที่อุณหภูมิไม่น้อยกว่า 55 องศาเซลเซียส

3. หัวฉีดแก๊ส (Discharge Nozzle)


หัวฉีดถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถปล่อยสารดับเพลิงภายในเวลาไม่เกิน 10 วินาที หัวสารดับเพลิงจะทำด้วยวัสดุที่ทนการกัดกร่อน เช่นอลูมิเนียม,เหล็กกล้าไร้สนิมและทองเหลือง สามารถฉีดได้รอบตัว 360 องศา หรือ 180 องศา

4. ระบบตรวจจับ สั่งการและควบคุม
(Detection,Actuation and Control System)


การควบคุมการทำงานของระบบใช้ระบบตรวจจับแบบอัตโนมัติ ซึ่งนิยมใช้เป็นอุปกรณ์ตรวจจับควันซึ่งการสั่งการให้สามารถทำได้ทั้งระบบอัตโนมัติและด้วยมือ นอกจากนี้แล้วจะต้องมีระบบเตือนทั้งเสียงและแสง ก่อนที่แก๊สจะถูกฉีดออกมาจากถังบรรจุ โดยตู้ควบคุมจะควบคุมการทำงานของระบบด้วย Microprocessor ซึ่งจะควบคุมการทำงานของ Detector แบบ Cross Zone เสียงสัญญาณแจ้งเตือน,Manual Station,Pressure Switch และชุดสั่งการฉีดแก๊ส






สำหรับการทดสอบระบบนั้นเนื่องจากว่าสาร FM-200 ที่บรรจุในถังจะมีราคาค่อนข้างสูงจึงไม่มีการทดสอบโดยการฉีดแก๊สจริงแต่จะทดสอบในลักษณะฟังก์ชั่นการทำงานเสียเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ตรวจดูการตอบสนองของอุปกรณ์ตรวจจับ,การตรวจวงจรหลักทั้งหมดว่าตอบสนองถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เหล่านี้เป็นต้น (สำหรับฟังก์ชั่นการทำงานดูจากไดอะแกรมด้านล่าง)


(คลิกที่รูปเพื่อดูรายละเอียด)

นอกจากทดสอบฟังก์ชั่นการทำงานแล้วทุกๆระยะเวลาประมาณ 10 ปี จำเป็นจะต้องนำถังบรรจุไปทดสอบความสามารถในการรับแรงดันด้วย รวมถึงจะต้องมีการตรวจเช็คสภาพการใช้งานของอุปกรณ์ประกอบต่างๆ เช่น วาล์วและระบบท่อเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้แน่ใจว่าอุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้นั้นพร้อมใช้งาน ยกตัวอย่างเช่นในทุกๆ 3 เดือนจะต้องตรวจสอบมาตรวัดแรงดันในถังทุกใบหาพบว่าความดัน ณ อุณหภูมิ 21 องศาเซลเซียส ลดต่ำกว่า 360 psig จะต้องถอดถังใบนั้นมาชั่งน้ำหนักและอาจต้องทำการบรรจุสารใหม่ (หากพบว่าน้ำหนักของสารลดลงมากกว่า 5% หรือความดันลดลงมากกว่า 10% ต้องนำถังไปบรรจุสารใหม่)

สุดท้ายนี้อยากจะฝากไว้หน่อยว่าสำหรับในอนาคตอันใกล้นี้ (อาจจะไม่ใช่บ้านเรานะ) ระบบ FM-200 คงจะถูกแทนที่ด้วยสารดับเพลิงชนิดอื่นเนื่องจากถ้าจะดูจากคุณสมบัติของสารแล้วจะพบว่า FM-200 มีค่าศักยภาพในการทำให้โลกร้อน (Global Warming Potential; GWP.) ที่ค่อนข้างสูงคือประมาณ 3,800 (ของช่วงระยะเวลา 100 ปี) ซึ่งค่า GWP. เป็นค่าที่วัดเทียบต่อหน่วยของของศักยภาพในการทำให้โลกร้อนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ยิ่งค่ามากแสดงว่ามีผลต่อสภาวะโลกร้อนมาก) ซึ่งในหลายประเทศก็ได้มีการลดการใช้งานสารที่จะก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนโดยเป็นไปตามพิธีสารเกียวโต ที่ว่าด้วยความร่วมมือในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (สำหรับประเทศไทยนั้นอาศัยความสมัครใจในการเข้าร่วมโครงการ) แล้วถ้าไม่ใช้ FM-200 แล้วจะใช้อะไรดีละก็ต้องบอกว่าก็มีหลายระบบนะแต่ละอย่างก็มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป ก็แล้วแต่การใช้งานนะถ้าใครมีปัญหาปรึกษาว่าจะใช้อะไรดีก็เมล์มาคุยกันได้นะครับ

วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2552

อาคารเก็บสารเคมีขนาดเล็กต้องมีอะไรบ้าง

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีโอกาสไปตรวจสอบโรงงานอยู่ 3 แห่ง ก็ได้เห็นการจัดเก็บสารเคมีของแต่ละที่แตกต่างกันออกไป ก็ถือว่าดีนะ แต่ก็มีข้อแนะนำกันไปบ้างเล็กน้อย ก็เลยนำเรื่องอาคารเก็บสารเคมีมาฝากกันเสียหน่อย แต่วันนี้จะขอหยิบยก ในส่วนของสถานที่เก็บสารเคมีขนาดเล็ก สำหรับนำมาปรับใช้ เพื่อให้เห็นในภาพรวมและอุปกรณ์พื้นฐานที่จะต้องจัดให้มี ส่วนรายละเอียดที่เกี่ยวกับการเก็บรักษาสารเคมีและวัตถุอันตราย สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลกันได้ในส่วนของ (คู่มือการเก็บรักษาสารเคมีและวัตถุอันตราย) (ซึ่งเป็นประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม)

แต่ต้องขอบอกไว้ก่อนอย่างหนึ่งนะครับว่าที่จริงแล้วกรมควบคุมมลพิษ นั้นมีการจัดทำคู่มือเกณฑ์ปฏิบัติสำหรับสารเคมีสำหรับสถานที่เก็บสารเคมีขนาดเล็ก ไว้อยู่เหมือนกัน แต่ว่าคำจำกัดความของสถานที่เก็บสารเคมีขนาดเล็กในคู่มือระบุว่า " สถานที่เก็บสารเคมีขนาดเล็ก หมายถึง อาคารหรือสถานที่ที่เก็บสารเคมี เพื่อประโยชน์ในการใช้ ผลิต การจัดเก็บและการจำหน่าย ได้แก่ โกดังให้เช่า ร้านค้าส่ง และค้าปลีกสารเคมี หรือสถานที่เก็บสารเคมีขนาดเล็กที่ไม่เข้าข่ายตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 " ซึ่งจุดมุ่งหมายที่ออกคู่มือหลักเกณฑ์ขึ้นมาก็เพื่อให้ไว้เป็นเกณฑ์สำหรับอาคารที่ไม่เข้าข่ายการควบคุมตาม พ.ร.บ.โรงงาน แต่ที่ได้ศึกษาในรายละเอียดแล้วผมว่าหลายอย่างเหมือนกันนะ แต่อาจจะไม่เข้มเท่าและมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่เหมือนกันบ้างในบางรายการ ใครสนใจก็ไปหาอ่านกันได้นะครับ (คู่มือเกณฑ์ปฏิบัติสำหรับสถานที่เก็บสารเคมีขนาดเล็ก)
อย่างที่เกริ่นไว้ตั้งแต่ต้นแหละครับว่าวันนี้จะเอาเรื่องสถานที่เก็บสารเคมีขนาดเล็กมาฝาก ซึ่งสิ่งที่ต้องพิจารณาในจัดเตรียมนั้นมีรายการเบื้องต้นต่างๆ ได้แก่

1. สถานที่ตั้งและอาคารเก็บสารเคมี
โดยจะต้องเป็นสถานที่ที่สะดวกแก่การขนส่งและเข้าถึงได้เร็วเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ส่วนตัวอาคารจะต้องสร้างด้วยวัสดุไม่ติดไฟ พื้นอาคารก็จะต้องมั่นคงแข็งแรงไม่กักขังน้ำหรือลื่นซึ่งอาจเกิดอันตรายได้(ไม่อยู่ในบริเวณที่มีน้ำท่วมถึงได้)



2. การป้องกันการรั่วไหล
บริเวณพื้นที่จัดเก็บต้องมีท่อระบายน้ำทิ้งที่ระบายน้ำปนเปื้อนสารเคมีในกรณีเกิดการรั่วไหล หรือน้ำดับเพลิงที่ปนเปื้อนสารเคมีแยกออกจากท่อระบายน้ำฝน ซึ่งในเรื่องนี้เราอาจจะทำเป็นลักษณะเขื่อนกั้นและทำบ่อสูบไว้เพื่อจะได้นำเครื่องสูบน้ำมาสูบน้ำที่ปนเปื้อนไปกำจัดต่อไป สำหรับพื้นที่ที่เก็บสารเคมีที่ไม่ใช่ลักษณะอาคารปิด ก้ออย่าลืมดูแลบ่อเป็นประจำนะครับอย่าให้น้ำขังแล้วกัน เพื่อว่าจะได้พร้อมต่อการรับมือในกรณีเกิดการรั่วไหลขึ้น นอกจากนี้ต้องจัดให้วัสดุที่มีคุณสมบัติดูดซับของเหลวได้เพื่อดูดซับสารเคมีที่หกรั่วไหล เช่น ทราย หรือขี้เลื่อย เป็นต้น และที่สำคัญที่ขาดไม่ได้คือจะต้องจัดทำแผนปฏิบัติการในกรณีเกิดการรั่วไหลและฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง






3. การระบายอากาศ
ต้องมีการระบายอากาศที่เหมาะสมโดยพิจารณาการจัดเตรียมช่องระบายอากาศหรือพัดลมระบายอากาศแล้วแต่กรณีซึ่งกรณีที่ใช้พัดลมระบายอากาศจะเลือกอัตราการระบายอากาศอยู่ที่ 15-20Air Change และวัสดุของพัดลมควรใช้เป็นPVCเพื่อป้องกันการกัดกร่อนต่างๆ แต่ถ้าใช้เป็นแบบช่องระบายอากาศก็ให้มีพื้นที่เปิดของช่องระบายอากาศไม่น้อยกว่า15%ของพื้นที่อาคาร


4. อุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัย
ต้องติดตั้งเครื่องดับเพลิงและสารดับเพลิงที่เหมาะสมกับสารเคมีที่จัดเก็บ







5. ป้ายและอุปกรณ์ความปลอดภัย
บริเวณประตูทางเข้าภายในพื้นที่ต้องติดเครื่องหมายและสัญลักษณ์แสดงข้อความควรระวัง และสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตรายของสารเคมี ถ้าให้ดีก็ควรมีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลให้พนักงานได้สวมใส่ให้เหมาะกับสารเคมีที่จัดเก็บสำหรับในการปฏิบัติงาน ซึ่งก็ควรต้องดูความเหมาะสมของพื้นที่ประกอบกันด้วย รวมไปถึงอาจจัดให้มีที่อาบน้ำฉุกเฉินที่ล้างตาฉุกเฉินตามความจำเป็นและความเหมาะสมกับคุณสมบัติของสารเคมี


6. เอกสารความปลอดภัย
ให้แสดงข้อมูลความปลอดภัยเกี่ยวกับสารเคมี (MSDS) ให้พนักงานที่เกี่ยวข้องทราบรายละเอียดข้อมูลของสารเคมีแต่ละชนิดในส่วนของข้อมูลพื้นฐาน,ข้อควรระวังในขณะปฏิบัติงาน,การใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล,การปฐมพยาบาลเบื้องต้น,ข้อปฏิบัติกรณีหกรั่วไหลหรือเกิดเพลิงไหม้ โดยอาจจะจัดเก็บไว้ยังบริเวณพื้นที่เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน

และที่สำคัญอีกอย่างสำหรับบริเวณพื้นที่ที่จัดเก็บสารเคมีประเภทไวไฟ ต้องติดตั้งระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดป้องกันการระเบิด (Explosion Proof)



วันนี้ก็คงแค่นี้นะครับแต่ขอแจ้งข่าวดีไว้กับทุกคนที่ติดตามอ่าน Blog กัน ตอนนี้ผมได้ติดต่อเพื่อนๆหลายๆคนให้มาช่วยเขียนบทความที่เป็นประโยชน์มาให้พวกเราได้อ่านกัน เผื่อว่าจะเบื่อผมแล้ว 555+