วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2554

Safety Tips From NFPA

วันนี้ไม่ได้มีบทความที่เป็นเรื่องเฉพาะเจาะจงมาฝากนะครับ พอดีว่าวันก่อนเข้าไปที่ Facebook ของทาง NFPA เลยเห็น Safety Tips ในหลายเรื่องของทาง NFPA ซึ่งเขามาแชร์ไว้ พออ่านเสร็จรู้สึกชอบครับ เลยเอามาฝากทุกๆคน จะว่าไปแล้ว Safety Tips ลักษณะนี้ ทางหน่วยงานราชการของเราก็จัดทำขึ้นมาหลายเรื่องเหมือนกัน ถ้าใครสนใจ ลองแวะไป วสท.ดูก็ได้ครับเขามีจำหน่ายอยู่ครับ

ส่วนของวันนี้เอามาฝาก 3 เรื่อง ครับ เป็น Safety Tips สำหรับการเข้าพักตามโรงแรม, สำหรับผู้อยู่อาศัยในอาคารสูง สุดท้ายท้ายเป็นเรื่อง Home Fire Sprinklers แต่พอพูดถึง Home Fire Sprinklers ก็นึกเหนื่อยๆ อยู่ไม่น้อย ว่าต่างประเทศเขาพูดกันเรื่อง Home Fire Sprinklers กันแล้ว บ้านเราตอนนี้ไปตรวจอาคารยังเห็นผู้รับเหมาติด Heat Detector สำหรับพื้นที่ห้องนอนอยู่เลย ก็ต้องดันกันต่อไปครับ สู้ๆ (แต่ถ้าเป็นคอนโดแพงๆ หน่อยการติดตั้งก็ไม่ค่อยผิดครับ)

Hotel&Motel Safety

High-rise Apartment&Condominium Safety

Home Fire Sprinklers

 สำหรับวันนี้ลาไปนอนก่อนนะครับ รู้สึกไม่ค่อยสบาย

วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

EM BALL กับการแก้ปัญหาน้ำเสียช่วงน้ำท่วม

ช่วงวันสองวันที่ผ่านมาได้ยินมีคนถกเถียงกันเรื่องการนำ EM BALL ไปใช้ในการบำบัดน้ำเสียที่เกิดในช่วงน้ำท่วมก็เลยหาข้อมูลมาฝากกัน ขอแนะนำนะครับว่าถ้าใครอยากทราบข้อมูลจริงๆเพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะเชื่อว่ามันได้ผลหรือไม่ได้ผลให้ฟังคลิปนี้ให้จบแบบไม่มีอคติ เพราะผมสังเกตเห็นว่ามีคนไม่เห็นด้วยกับ อาจารย์ธงชัย ค่อนข้างเยอะเหมือนกันแต่พออ่านข้อคอมเม้นท์ต่างๆแล้วหลายความเห็น ผมแน่ใจว่าเขาอาจฟังไม่จบแต่ถ้าถามว่าส่วนตัวแล้วเชื่อว่ามัน WORK ไหมบอกเลยครับถ้ามัน WORK จริง! แล้วต้องใช้ปริมาณเท่าไหร่? กับปริมาณน้ำมหาศาลขนาดนี้ 
สมัยที่ควบคุมระบบำบัดน้ำเสียอยู่ก็ไม่ได้ลองใช้เลยไม่รู้จริงๆว่ามันได้ผลหรือไม่ แต่มีคนรู้จักบางท่านที่ไม่ได้เป็นแค่ผู้ใช้นะครับ แต่เป็นผู้ทำเลย ท่านก็บอกว่ามันได้ผล อาทิตย์ก่อนก็ไปเจอท่านกะว่าจะไปขอซัก 10 ลูก สรุปว่าไม่มีมีคนขนไปหมด อย่างไรก็ตามนักวิชาการบ้านเราเก่งๆทั้งนั้นยิ่งช่วงนี้จะเก่งเป็นพิเศษก็น่าจะเอาผลที่ได้มีการทดลองมาแชร์ๆ กันก็น่าจะดีนะครับโดยเฉพาะเมื่อหลายปีก่อนสมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ถ้าจำไม่ผิดเคยหยิบยกเรื่องนี้มาทำเป็นงานวิจัย แต่ไม่รู้ว่าผลเป็นอย่างไรบ้างใครที่พอมีผลการวิจัยก็่ส่งมาให้อ่านบ้างนะครับ (ขอบคุณล่วงหน้าครับผม)

สุดท้ายในช่วงวิกฤตอย่างนี้ถ้าจะพอแนะนำได้ผมว่าลองหาหนังสืออ่านอย่างอื่นที่ไม่ใช่เรื่องน้ำท่วมดูครับ (เลือกประเภทที่อ่านแล้วไว้พัฒนาตัวเองก็จะดีครับ) และที่สำคัญทำตามบทบาทหน้าที่ของตัวเอง แล้วจะรู้เลยว่าไม่มีอะไรยุ่งยากหรือซับซ้อน สู้ๆ ครับ



วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

บ่อหน่วงน้ำ (RETENTION POND)



ช่วงนี้หายไปหลายสัปดาห์ที่เดียว ไม่ใช่อะไรหรอกครับ ก็เตรียมรับมือน้ำท่วม จนถึงตอนนี้ก็กำลังวางแผนเตรียมการอพยพ ปีนี้น้ำมากจริงๆ ครับ ส่วนตัวแล้วไม่คิดว่าเมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม ที่ไปตรวจงานแถวเชียงใหม่แล้วลุยน้ำ ต้องกลับมาลุยน้ำช่วงปลายเดือนที่กรุงเทพฯ แต่จะว่าไปแล้วก็ดีครับที่ได้เจอวิกฤตแบบนี้ เพราะปีหน้า 2012 จะได้รับมือทัน... (สู้ๆครับ)

วันนี้ขอตามกระแสหน่อยนะครับ ถ้าพูดถึงน้ำท่วม ก็ต้องคิดถึงการหน่วงน้ำ ซึ่งสำหรับวิศวกรที่ออกแบบคงจะคุ้นเคยกับคำว่า "บ่อหน่วงน้ำ"

บ่อหน่วงน้ำ ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจง่าย ก็คือบ่อสำหรับรองรับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมายังพื้นที่ ก่อนที่จะระบายลงสู่ระบบระบายน้ำสาธารณะ แต่ถ้ายังไม่เข้าใจ ขอยกตัวอย่าง อย่างนี้แล้วกันครับ สมมติว่าผมมีที่ดินอยู่แปลงหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นดินแล้วมีต้นไม้ขึ้นปกคลุม อยู่มาวันหนึ่งผมจะนำที่ดินผืนดังกล่าวไปสร้างเป็นคอนโดมิเนียม ซึ่งการพัฒนาโครงการลักษณะนี้จะส่งผลต่อระบบการระบายน้ำในพื้นที่ กล่าวคือ ในปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าว เมื่อฝนตก น้ำจะสามารถซึมลงดินได้ประมาณ 70% แต่เมื่อมีการสร้างอาคารก็จะส่งผลทำให้น้ำซึมลงดินได้แค่ 30% โดยส่วนต่างของปริมาณน้ำฝนก็ไม่ได้ไปไหนครับ ก็จะไหลลงสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะ  
(สำหรับสัมประสิทธิ์การไหลนองของน้ำฝนในพื้นที่กำหนดค่าเบื้องต้นตามตาราง)



ลองนึกภาพดูนะครับ ว่าถ้ามีโครงการขึ้นซัก 100 โครงการ คุณคิดว่าท่อระบายน้ำจะรับไหวหรือเปล่า ลักษณะปัญหาดังกล่าวจึงมีการบังคับให้โครงการที่เข้าข่ายที่จะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดสรรที่ดิน จะต้องมีการจัดเตรียมบ่อหน่วงน้ำไว้ ซึ่งการคำนวณหาขนาดบ่อหน่วงน้ำ นั้นยอมรับครับว่าในปัจจุบันบริษัทที่ปรึกษาที่จัดทำรายงาน EIA แต่ละบริษัทก็จะมีแนวคิดและวิธีคิดที่แตกต่างกัน จากประสบการณ์จะมีวิธีคิดอยู่ 3 แบบ (ผมทำเป็นไฟล์ excel ไว้ใครอยากเอาไปศึกษาก็ e-mail มาขอได้นะครับ)

สำหรับหลักการคำนวณ ผมจะพิจารณาจากปริมาณน้ำสะสมในโครการกับปริมาณน้ำที่ระบายออกนอกโครงการมาเป็นข้อมูลในการคำนวณหาขนาดของบ่อหน่องน้ำ โดยปริมาณการระบายน้ำออกจากโครงการจะต้องเท่าเดิม (ถ้าเห็นต่างก็แย้งกันได้นะครับ)

นอกจากการคำนวณหาขนาดแล้ว ลักษณะของบ่อก็สำคัญ โดยส่วนตัวแล้วจากที่เคยทำมา (อาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด) ผมก็จะสร้างบ่อหน่วงน้ำด้วยคอนกรีตแล้วใช้เครื่องสูบน้ำเป็นตัวกำหนดอัตราการไหลของน้ำที่ไหลออกจากพื้นที่ โดยก่อนและหลังการพัฒนาโครงการ อัตราการระบายจะต้องเท่ากัน

แต่มาในช่วงหลังๆ กรรมการ EIA มักจะไม่ให้ผ่าน เลยเกิดแนวคิดเรื่องการหน่วงน้ำในเส้นท่อแทน ซึ่งจะทำการควบคุมการระบายน้ำโดยให้ท่อระบายน้ำที่ออกจากโครงการมีขนาดที่เล็กๆ แต่ก็ยังคงวัตถุประสงค์เดิม คือปริมาณการระบายจะต้องไม่เพิ่มจากเดิม ซึ่งวิธีนี้เป็นเหมือนการอั้นน้ำไว้ให้กักไว้ในท่อไม่ให้ระบายออกเต็มที่ ถามว่าใช้ได้ไหมก็ใช้ได้ครับ แต่ผมก็ยังเกรงเรื่องปัญหาการสะสมตะกอนในเส้นท่อ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วลองนึกดูนะครับว่า บ้านคุณขุดลอกท่อครั้งล่าสุดเมื่อไหร่

ส่วนวิธีที่ดีที่สุด ผมคงตอบไม่ได้ แต่ถ้าจะให้เสนอ ผมมองว่าการออกแบบระบบระบายน้ำคงไม่ใช่เพียงวิศวกรเป็นผู้จัดทำ แต่ควรเริ่มตั้งแต่การวาง Concept ของสถาปนิก และการเลือกวัสดุที่ใช้ในโครงการ ซึ่งจะต้องพิจารณาร่วมกับวิศวกร โดยมุ่งเน้นออกแบบให้โครงการมีค่าสัมประสิทธิ์การไหลนองของน้ำฝน ไม่ต่างไปจากเดิมมากนัก สำหรับส่วนที่เหลือก็ทำบ่อหน่วงน้ำ ซึ่งขนาดบ่อก็จะไม่ใหญ่

ตอนนี้ที่เคยเห็นก็เป็นคอนกรีตปูทางเดินที่น้ำซึมผ่านได้ ในอนาคตก็อาจจะมีนววัตกรรมใหม่ๆเข้ามา

สุดท้ายของวันนี้ แม้วิศวกรออกแบบมาอย่างดีก็ตามแต่พอเวลาสร้างจริงๆ เจ้าของโครงการต้องการประหยัดงบ แล้วตัด คุณบ่อหน่วงน้ำออก ซึ่งถ้าเป็นกรณีอย่างนี้มีหน่วยงานไหนบ้างครับ ที่จะมาบอกว่า ทำแบบนี้ไม่ได้นะ ผิดนะ ต้องแก้ไข หุหุ...

และฝนคราวนี้อาจจะต้องกำหนดเกณฑ์ออกแบบกันใหม่เลยทีเดียว จากที่คำนวณที่ฝน 5 ปี ผมว่า 10 ปี ไปเลย ก็ดีนะครับ แต่ยังไงก็ดูเรื่องราคาค่าก่อสร้างด้วยแล้วกัน

พบกันใหม่เรื่องหน้า เดี๋ยวเก็บของเตรียมตัวอพยพก่อนนะครับ

วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

สารกรองน้ำซีโอไลต์


ช่วงนี้บ้านเราฝนตกน้ำท่วม กันหลายจังหวัด ปีนี้ก็หวั่นๆ ว่ากรุงเทพฯ ก็อาจจะไม่รอด แต่ขอให้โชคดีเหมือนปีก่อน ซึ่งฝนไม่ตกหนักในช่วงน้ำเหนือไหลลงมา สำหรับคนที่เจออุทกภัยตอนนี้ก็ขอให้น้ำลดเร็วๆนะครับ สู้ๆครับ พอพูดถึงเรื่องน้ำ ก็เลยหยิบเรื่องการทำน้ำให้สะอาดมาฝากกัน ซึ่งการทำน้ำให้สะอาดวิธีการและขั้นตอนก็มีด้วยกันหลายวิธี แต่วิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ วิธีการกรองน้ำ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีพื้นฐานที่ใช้กันมา สำหรับผมจำได้ว่าตอนเด็กๆ อาจารย์ยังสอนให้ทำเครื่องกรองน้ำจำลอง โดยใช้วัสดุพวกทราย ถ่าน และชั้นสุดท้ายเป็นสำลี ไม่รู้ใครพอจำกันได้ไหม (อาจจะนานมากแล้ว 555..)

ซึ่งการทำน้ำให้สะอาดด้วยวิธีการกรองน้ำ ถ้าจะให้สรุปง่ายๆ ก็คือ ถ้าสิ่งสกปรกหรือสิ่งปนเปื้อนที่ติดมากับน้ำมีขนาดใหญ่กว่าสารกรอง สิ่งเหล่านั้นก็จะติดอยู่ที่ชั้นกรอง (สำหรับใครอยากจะศึกษาข้อมูลทางด้านวิชาการ เพิ่มเติม ก็เข้าไปอ่านได้ตาม Link www.tistr.or.th/ed/images/stories/engineer/article/rodrinkingwater.pdf  นะครับ)


สำหรับวันนี้ขอหยิบยกสารกรองชนิดน้ำชนิดซีโอไลต์ มาฝากกัน โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่าสารกรองชนิดนี้ตอบโจทย์ ในหลายๆ ข้อในด้านการออกแบบได้ดีทีเดียว โดยเฉพาะปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำดิบที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เรามาทำความรู้จักสารกรองน้ำซีโอไลต์กันดีกว่า


สารกรองน้ำซีโอไลต์ เป็นหินภูเขาไฟที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ สามารถทำการกรองและดูดซับได้พร้อมกัน โดยมีคุณสมบัติ ในการบำบัดน้ำได้แก่
1. สามารถดักจับสารแขวนลอย ละอองฝุ่นตะกอนได้ถึง 10 ไมครอน (0.01 mm.)
2. มีน้ำหนักเบากว่าทราย 25% ซึ่งจะลดปริมาณน้ำที่ใช้ทำการ Back Wash
3. ดูดซับแอมโมเนีย และลดกลิ่นคลอรีนในน้ำ
4. ทำให้สภาพน้ำอ่อนขึ้น ลดปริมาณหินปูน
(แต่ถ้าน้ำกระด้างมากคงต้องใช้ร่วมกับสารกรองประเภท Resin)
5. ลดปริมาณสนิมในน้ำ
6. ลดปริมาณของกลิ่นไข่เน่า


(ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้จาก www.waterco.com)

สำหรับบ้านเราที่หาข้อมูลได้มีบริษัทนำเข้ามาขายกันแล้ว แต่ไม่แน่ใจเรื่องยี่ห้อว่ามีมากน้อยแค่ไหน คิดอยู่ว่าถ้ามีงานออกแบบโครงการหน้าว่าจะลองใช้เสียหน่อย และที่ชอบอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องของระยะเวลาในการ Regenerate (การฟื้นฟูสารกรอง) และการเปลี่ยนสารกรอง ซึ่งมีอายุที่ค่อนข้างนานคือ 3 และ 10 ปี ตามลำดับ แต่ทั้งนี้ก็คงต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพของน้ำดิบด้วย เลยมองว่าสำหรับบ้านที่น้ำประปายังเข้าไม่ถึง นำเครื่องกรองชนิดนี้ไปใช้ก็จะเหมาะมาก 


คิดไปแล้วยิ่งช่วงน้ำท่วม น้ำสะอาดหายาก เรานำชุดผลิตน้ำเคลื่อนที่ไปตั้งไว้ยังหมู่บ้านที่ประสบปัญหาอุทกภัย ชาวบ้านจะได้มีน้ำสะอาดใช้กัน ก็คงดีไม่น้อย เพราะถ้าดูข่าวจะได้ยินเสมอว่าน้ำท่วมทีไรขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ทุกปี


ไว้พบกันเรื่องหน้านะครับ

วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พื้นที่ครอบครองสำหรับการออกแบบ Sprinkler



ตั้งใจจะเขียนบทความเรื่องใหม่มาหลายวันแล้ว แต่ช่วงนี้วุ่นๆ กับเรื่องคอนโดฯ ที่เพิ่งไหม้มาไม่กี่วันนี้ ก็พยายามสืบหาข้อมูลเท่าที่จะหาได้ โชคดีได้ไปดูที่เกิดเหตุ แต่อย่างไรขอรอผลสรุปจากหน่วยงานราชการก่อนดีกว่า ช่วงนี้ไม่ค่อยอยากออกความเห็นอะไร บอกตรงๆ นะครับว่าสงสัยอยู่สองสามเรื่อง แต่คิดว่าได้คำตอบแล้ว เหลือแค่ให้ผู้เชี่ยวชาญดูให้ว่าผมสัณนิษฐานถูกไหม วันนี้เลยหาอะไรมาคั่นก่อน เอาเรื่องพื้นๆนี่แหละครับแต่ก็ถือว่าเป็น โจทย์แรกเลยสำหรับผู้ออกแบบระบบ Sprinkler นั่นคือประเภทของพื้นที่ครอบครอง

พื้นที่ครอบครอง หมายถึง การกำหนดประเภทของพื้นที่ ที่มีลักษณะการใช้งานคล้ายคลึงกันและมีความเสี่ยงในการติดไฟและลามไฟใกล้เคียงกัน เพื่อความมุ่งหมายในการจัดระบบป้องกันอัคคีภัยตามมาตรฐานที่กำหนด

โดยพื้นที่ครอบครองจัดจำแนกเป็น 3 ประเภทดังนี้

1. พื้นที่ครอบครองอันตรายน้อย (Light Hazard Occupancies)

2. พื้นที่ครอบครองอันตรายปานกลาง (Ordinary Hazard Occupancies)


3. พื้นที่ครอบครองอันตรายมาก (Extra Hazard Occupancies)


ซึ่งในแต่ละประเภทการกำหนดจำนวนหัว Sprinkler ก็จะแตกต่างกันออกไป คงไม่ลงในรายละเอียดนะครับ

แต่ให้รู้เบื้องต้นว่าถ้าพื้นที่ไหนอันตรายมาก จำนวนหัว Sprinkler ก็จะต้องติดตั้งมากขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้เพื่อควบคุมไฟที่เกิดขึ้น ต้องย้ำนะครับว่า Sprinkler ทั่วไปที่ติดตั้งอยู่ ไม่ใช่ว่าเมื่อหัว Sprinkler ทำงานจะดับไฟได้เลย (ยกเว้น Sprinkler ชนิดพิเศษที่ทำหน้าที่ในการดับไฟ) แต่ว่า Sprinkler จะทำหน้าที่ควบคุมความร้อนที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ โดยอุณหภูมิจะค่อยๆลดลงจนกระทั่งไฟดับ เป็นการตัดวงจรของการเกิดไฟไหม้ ดังนั้นการติดตั้งหัว Sprinkler จะต้องคำนึงถึงจำนวนที่ครอบคลุม พื้นที่ป้องกัน ไม่อย่างนั้นก็อาจจะควบคุมไฟที่เกิดไม่ได้

ตามมาตรฐานแล้วจะมีการระบุตัวอย่างลักษณะของอาคาร ว่าจัดจำแนกอยู่ในประเภทพื้นที่ครอบครองอะไร เช่น พื้นที่ครอบครองอันตรายน้อย ได้แก่
โรงแรม, อาคารที่พักอาศัยรวม (เฉพาะส่วนห้องพัก), สำนักงานทั่วไป ที่ไม่ใช่อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่, สโมสร, โรงพยาบาล (ควบคุมวัสดุตามมาตรฐานโรงพยาบาล)

สำหรับหลายๆคนอาจสงสัยว่าถ้า อาคารเป็นคอนโดมิเนียม ห้องพักห้องหนึ่งมีพื้นที่ประมาณ 300 ตารางเมตรละ ยังถือว่าเป็นพื้นที่ครอบครองอันตรายน้อยหรือเปล่า

สำหรับประเด็นนี้ ตามที่ได้มีโอกาศตรวจคอนโด มาหลายตึก พบว่าถ้ายิ่งห้องใหญ่วัสดุติดไฟเยอะมากครับ สารพัดเลยก็ว่าได้
ผมจึงมองว่า ถ้าให้ Safe นะครับ ผู้ออกแบบ ออกแบบเป็นพื้นที่ครอบครองอันตรายปานกลางก็น่าจะเหมาะสมกว่าในกรณีนี้ (ถ้าใครมองต่างออกไปก็ ลองเสนอความเห็นดูนะครับ)

สั้นๆครับวันนี้ แต่มีคลิปมาฝากกัน ผมไปโหลดมาจาก Youtube เป็นเหตุการณ์ไฟไหม้อาคารหลังหนึ่งซึ่ง อาคารหลังดังกล่าวมีระบบ Sprinkler และผมก็เชื่อว่า Sprinkler ทำงานแน่นอนครับ เพราะระบบท่อน้ำดับเพลิงเชื่อมต่อกับถังน้ำประปาในชั้นหลังคา ซึ่งมีแรงดันเพียงพอกับการทำงานของ Sprinkler แต่ถ้าดูจากคลิปแล้ว มันดูเหมือนว่าระบบจะควบคุมไฟที่เกิดไม่ได้ (เอาไว้ได้ความชัดเจนแล้วจะเขียนบทความภาคต่อของเรื่องนี้แล้วกันนะครับ) แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งความเสียหายที่เกิด เกิดขึ้นในวงจำกัดเฉพาะห้องต้นเพลิง ซึ่งถ้าไม่มี Sprinkler ผมว่าความรุนแรงที่เกิดน่าจะมีมากกว่าที่เห็น หรือว่า Sprinkler มันได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว ลองเอาไปคิดดูนะครับ ถ้าว่างจะลองทำ Model ดูเสียหน่อย ไว้เจอกันเรื่องหน้านะครับ


วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2554

บอกเล่าประสบการณ์ซ้อมหนีไฟประจำปี


เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมาได้มีโอกาสได้ร่วมซ้อมหนีไฟ กับคนพักอาศัยในคอนโดฯ จะว่าไปแล้วนานเหมือนกันที่ไม่ซ้อมแบบนี้ แต่คราวนี้หนีไฟไม่เหนื่อยเพราะเดินจากชั้น 2 ไม่เหมือนคราวนู้นที่ต้องหนีไฟจากชั้น 28 รอบนี้เลยมาถึงจุดรวมพลเป็นคนแรกๆ จากนั้นก็เฝ้าดู การจำลองสถานการณ์การเกิดเพลิงไหม้ของอาคาร ถือว่าภาพโดยรวมซ้อมได้สมจริง และเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยมีทั้งรถดับเพลิง,รถกระเช้าและรถพยาบาลมาร่วมสนับสนุนในการซ้อม นอกจากนี้ขอชมเชยเลยว่า วิทยากรจาก กองบรรเทาสาธารณภัย อธิบายและนำซ้อมได้ดีมาก ชัดเจน เข้าใจง่าย และที่สำคัญคนที่เข้ารับการอบรมดับเพลิงเบื้องต้น ก็ได้มีโอกาสได้ฝึกปฏิบัติกัน ถ้าจะนับเป็นคะแนนงานนี้ผมให้ 8 เต็ม 10 ถือว่าเกรด A อยู่นะ

สำหรับครั้งนี้มุมมองในฐานะผู้ตรวจสอบอาคาร แล้วผมมีข้อเสนอแนะมาฝากกัน แต่ต้องบอกว่าเป็นมุมมองของผมเท่าที่เห็นนะครับ อาจจะไม่ใช่อย่างที่คิดก็ได้ เพราะถือว่าครั้งนี้เป็นแค่ผู้ร่วมสังเกตการณ์ บางเรื่องก็เป็นข้อสังเกตเล็กๆน้อยๆ 555... เริ่มกันเลยดีกว่า

1. ประเด็นนี้เริ่มจากจุดรวมพล ส่วนตัวนะครับ ไม่แน่ใจว่าตำแหน่งที่กำหนดในปัจจุบันเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากอยู่ด้านหลังอาคาร ในบริเวณสนามฟุตซอล ซึ่งก็ไม่ห่างจากตัวอาคารมากนัก โดยไม่น่าจะห่างเกิน 20 เมตร รวมทั้งในสภาวะปกติสนามฟุตซอล ก็จะถูกปิดล็อคไว้ด้วย สำหรับขนาดของพื้นที่ก็คงต้องไปเช็คดู (ส่วนตัวก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ห้องของโครงการมีกี่ห้อง) เพราะตามมาตรฐานระบุไว้พื้นที่จุดรวมพลต้องมีพื้นที่อย่างน้อย 0.25 ตารางเมตรต่อคน

2. สำหรับเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กน้อยๆ แต่สำคัญเช่นกัน ในระหว่างที่รถดับเพลิงทำการสูบน้ำดับเพลิงผ่านทางหัวรับน้ำดับเพลิง ผมสังเกตเห็นว่าเหมือนข้อต่อจะต่อไม่สนิท ก็ได้ยินจากเจ้าหน้าที่แจ้งว่าเทปพันเกลียวของข้อต่อหัวรับน้ำดับเพลิง ทางช่างอาคารพันไว้มากเกินไป จนเกินเกลียว ทำให้เวลาข้อต่อสวมเร็วของรถดับเพลิงมาสวมเลยไม่พอดี ซึ่งเรื่องนี้ถ้าไม่ได้ซ้อม ก็คงไม่ทราบ จึงต้องขอชมเชยทางนิติบุคคลฯ ที่กำหนดรูปแบบการซ้อมแบบสมจริงสมจัง


3. สำหรับโครงการ พื้นที่จอดรถดับเพลิง ในสภาวะปกติ จะเป็นที่จอดรถยนต์ของลูกบ้าน ทำให้รถดับเพลิงก็ต้องจอดกลางถนน ประเด็นนี้ต้องระวังให้ดีนะครับ ในเรื่องการจัดการจราจร เพราะในเหตุการณ์เพลิงไหม้ จริงๆ ทุกคนก็จะเป็นห่วงทรัพย์สิน ยังไงก็ต้องมีการเคลื่อนย้ายรถจากอาคารจอดรถออกมา แน่นอน ลองนึกภาพดูนะครับ รถของโครงการก็จะออก รถดับเพลิงก็จะเข้า แถมยังไม่มีการจัดสัดส่วนในการจอดให้ มันจะวุ่นวายกันแค่ไหน แต่ในวันซ้อมก็ยังถือว่าจัดการได้ดีอยู่ครับ เพราะรถไม่เยอะ



4. เรื่องสุดท้าย อันนี้ไม่ค่อยแน่ใจ ถือว่าเป็นความรู้สึกส่วนตัวแล้วกันครับ ผมว่าบทบาทของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะดูน้อยไปนิดนะครับ เห็นแต่เจ้าหน้าที่ของนิติบุคคลฯ แต่ถ้าว่าไปแล้วในเหตุการจริง รปภ. ถือว่ามีบทบาทสำคัญเลยนะครับ เพราะอยู่กันตลอด 24 ชั่วโมง และสำหรับโครงการนี้ รปภ. แต่ละคนขยันขันแข็งมากครับ ผมว่าทุกคนพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่


เอาเป็นประเด็นๆ หลักๆ แค่นี้แล้วกันนะครับ แต่ภาพรวมผมก็ยังบอกว่าประทับใจนะครับสำหรับการซ้อมในครั้งนี้ ไว้วันหลังไปตรวจโรงงานแล้วมีโอกาสได้ไปสังเกตการณ์ การซ้อมอพยพหนีไฟ ก็จะเอามาฝากกันอีก
สำหรับวันนี้ฝากไว้เป็นรูปกิจกรรมการซ้อมในครั้งนี้กันนะครับ ไว้เจอกันเรื่องหน้า



วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อุปกรณ์ตรวจจับแก๊สรั่ว สำหรับ LPG Gas Station




ตามประกาศกระทรวงพลังงาน "เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการในการเก็บรักษา การกำหนดบุคลากรที่รับผิดชอบและการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 สำหรับสถานที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ที่กรมธุรกิจพลังงานรับผิดชอบ พ.ศ. 2554"
กำหนดให้สถานที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ที่มีปริมาณการเก็บก๊าซปิโตรเลียมเหลวรวมกันเกิน 500 กิโลกรัม ต้องติดตั้งเครื่องส่งเสียงดังเมื่อก๊าซรั่วไว้ที่บริเวณที่ตั้งก๊าซหุงต้ม หรือถังเก็บและจ่ายก๊าซ อย่างน้อยบริเวณละหนึ่งเครื่อง

วันนี้เลยขอหยิบยกเรื่องการตั้งค่าการแจ้งเตือนของอุปกรณ์ตรวจจับแก๊สรั่ว (Gas Leak Detector) ฝากกัน เพราะที่ผ่านมา จากประสบการณ์ที่ตรวจสอบอุปกรณ์ดังกล่าว พบว่า การตั้งค่าระดับการแจ้งเตือนยังไม่สอดคล้องกับคุณสมบัติของ LPG Gas ซึ่งพบอยู่หลายที่เลย

สำหรับค่าขีดจำกัดการติดไฟ ของ LPG จะมีค่าอยู่ระหว่า 2-12 Vol% ดังนั้นการตั้งค่าการแจ้งเตือนของ Gas Detector จะต้องตั้งไว้ในช่วงดังกล่าว (แต่ถ้าดูใน MSDS ของ ปตท. ค่าจะอยู่ระหว่าง 2-9 Vol%)

เพราะปริมาณก๊าซที่รั่วไหล ถ้ามากหรือน้อยกว่าช่วง นี้แล้ว ก็จะไม่เกิดการระเบิด

ก็ลองตรวจเช็คกันดูนะครับว่าอาคารของเราตั้งค่ากันถูกหรือเปล่า และสำหรับการตรวจวัดใช้ก๊าซของไฟแช็คก็พอได้นะครับ แต่ถ้าจะใช้แก๊สจริงๆ ปล่อยออกมาเลยก็ต้องระวังด้วยนะครับ


วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ระบบการจัดการพลังงาน ISO 50001


ช่วงนี้มาตรฐานการจัดการพลังงาน (ISO 50001) เริ่มมีการขอการรับรองกันแล้ว ส่วนกฎหมายวิธีการจัดการพลังงาน ของกระทรวงพลังงานก็มีผลบังคับใช้ไปแล้ว โดยโรงงานควบคุมส่วนใหญ่ ก็ได้มีการส่งรายงานไปเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ที่ผ่านมา สำหรับในเบื้องต้นแล้ว ตามที่ได้ดูเนื้อหา ในการจัดทำทั้งสองส่วน (ISO 50001 VS กฎหมายวิธีการจัดการพลังงาน) ภาพโดยรวมถือว่าใกล้เคียงและสอดคล้องกัน จะบอกว่าเหมือนกันก็ไม่เชิงนะครับ เพราะยังมีบางส่วนที่แตกต่างกัน วันนี้เลยหยิบยกบางส่วนมาฝากกัน

เอาตั้งแต่นโยบายกันดีกว่า สำหรับกฏกระทรวง เรื่องกำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการพลังงาน ในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม 2552 กำหนดนโยบายว่าอย่างน้อยต้องมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

1. ข้อความระบุว่าการอนุรักษ์พลังงานเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของเจ้าของโรงงานควบคุมหรืออาคารควบคุม

2. นโยบายอนุรักษ์พลังงานที่เหมาะสมกับลักษณะและปริมาณพลังงานที่ใช้ในโรงงานควบคุมหรืออาคารควบคุม


3. การแสดงเจตจำนงที่จะปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และการจัดการพลังงาน


4. แนวทางในการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง


5. แนวทางในการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพในการดำเนินการตามวิธีการจัดการพลังงาน


ให้เจ้าของโรงงานควบคุมและเจ้าของอาคารควบคุมจัดให้มีการเผยแพร่นโยบายอนุรักษ์พลังงาน โดยปิดประกาศไว้ในที่ซึ่งเห็นได้ง่ายในโรงงานควบคุมหรืออาคารควบคุม หรือโดยวิธีการอื่นที่เหมาะสม เพื่อให้บุคลากรของโรงงานควบคุมหรืออาคารควบคุมทราบและปฏิบัติตามนโยบายอนุรักษ์พลังงานได้


คราวนี้มาดูข้อกำหนดของ ISO 50001 กันบ้างว่าเป็นอย่างไร (ตัวนี้เป็น Draft นะครับ แต่คงไม่ต่างจากที่ประกาศใช้)



จะเห็นว่าภาพโดยรวมนั้นถือว่าใกล้เคียงกัน โดยบางข้อของนโยบายตาม ISO 50001 ไม่ได้อยู่ในหมวดของนโยบายตามกฎกระทรวง แต่อยู่ในหมวดเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานด้านการจัดการพลังงาน

แต่มีอยู่ข้อหนึ่งที่แตกต่างคือเรื่อง การจัดซื้อ โดยตามมาตรฐาน ISO 50001 กำหนดให้อาคารหรือโรงงาน จะต้องทำการจัดซื้อ จัดหาเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์การผลิต และบริการอื่นๆ ที่จำเป็น โดยต้องพิจารณาถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์หรือบริการดังกล่าว รวมทั้งจะต้องพิจารณาการออกแบบเพื่อการปรับปรุงสมรรถนะด้านพลังงานด้วย

ก็ลองพิจารณาดูนะครับ แต่ถ้าให้ดีกำหนดนโยบายตาม ISO 50001 ก็จะครอบคลุมครับ

วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ป้ายบ่งชี้อันตรายสำหรับ LPG Gas Station





เมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงาน ได้ออกประกาศกระทรวงมาฉบับหนึ่ง เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการในการเก็บรักษา การกำหนดบุคลากรที่รับผิดชอบ และการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 สำหรับสถานที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ที่กรมธุรกิจพลังงานรับผิดชอบ พ.ศ. 2554

โดยประกาศกระทรวงฉบับนี้ก็จะใช้เป็นกฎเกณฑ์ ในการปฏิบัติสำหรับสถานประกอบการต่างๆ ซึ่งจะว่าไปแล้วผมก็คิดอยู่ว่ากฎเกณฑ์ประมาณนี้จะออกมาเมื่อไหร่ เพราะทุกวันนี้เวลาตรวจก็จะอ้างกฎหมายฉบับเก่า ซึ่งจะว่าไปก็เก่านะ เพราะประกาศใช้ตั้งแต่ 2524

วันนี้เลยขอหยิบยกเนื้อหาบางจุดมาฝากกัน เอาพอเป็นน้ำจิ้มแล้วกัน ส่วนเนื้อหาทั้งหมดก็ลองไปหาอ่านกันนะครับ น่าจะมีให้โหลดกันแล้ว โดยวันนี้ขอยกในส่วนของป้ายบ่งชี้อันตราย และป้ายคำเตือนต่างๆ ที่จะต้องมีติดไว้ในบริเวณทางเข้ารั้ว ว่าจำเป็นต้องมีข้อความใดบ้าง

สำหรับข้อความบังคับ นะครับ ต้องประกอบด้วยข้อความดังนี้

" อันตราย 1. ห้ามสูบบุหรี่
2. ห้ามก่อประกายไฟ
3. ห้ามบุคคลภายนอกเข้า

4. ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ
"



โดยข้อความในป้ายต้องเขียนด้วยตัวอักษรสีแดงบนพื้นสีขาว มีขนาดที่เห็นได้ชัดเจนและอ่านได้ง่าย โดยมีความสูงของตัวอักษรไม่น้อยกว่า 5 เซนติเมตร และต้องติดป้ายไว้ในที่ที่เห็นได้ง่าย

สำหรับข้อความที่เพิ่มจากเดิม คงเป็นข้อความห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ

สำหรับการยื่นขออนุญาตนั้นให้กระทำภายใน 1 ปีหลังจากที่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ (พฤษภาคม 2555)
แล้ววันหลังจะหาเนื้อหาเรื่องการตรวจสอบสถานีแก๊สมาฝากกันนะครับ

วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

รหัสสีของหัวกระจายน้ำดับเพลิง


ระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิง จัดว่าเป็นระบบดับเพลิงอัตโนมัติที่มีใช้กันอย่างแพร่หลาย และหัวกระจายน้ำดับเพลิง หรือ หัว Sprinkler นั้นถือว่าเป็นหัวใจของระบบดับเพลิงชนิดนี้ และถ้าใครสังเกตจะเห็นว่าที่บริเวณหัว Sprinkler จะมีกระเปาะแก้วบรรจุของเหลวที่มีสีแตกต่างกันไป ตามการติดตั้งของพื้นที่ วันนี้เลยจะขอกล่าวถึง รหัสสีของ หัว Sprinkler ว่าแต่ละสีมีความแตกต่างกันอย่างไร เพื่อที่จะได้เลือกใช้ได้อย่างถูกต้องตามพื้นที่ที่จะทำการติดตั้ง

รหัสสีของหัว Sprinkler นั้นจะเป็นตัวบอกถึงอุณหภูมิทำงาน หรืออุณหภูมิที่หัว Sprinkler จะแตก
ซึ่งถ้าเป็นหัว Sprinkler ชนิดที่มีกระเปาะแก้ว (Glass Bulb) ทั่วไปจะมีอยู่ 5 สี โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. สีส้ม หรือ สีแดง จะมีอุณหภูมิทำงานอยู่ที่ 57-77 องศาเซลเซียส และให้ติดตั้งในบริเวณที่เพดานมีอุณหภูมิสูงสุดไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส


2. สีเหลือง หรือ สีเขียว จะมีอุณหภูมิทำงานอยู่ที่ 79-107 องศาเซลเซียส และให้ติดตั้งในบริเวณที่เพดานมีอุณหภูมิสูงสุดไม่เกิน 66 องศาเซลเซียส


3. สีน้ำเงิน จะมีอุณหภูมิทำงานอยู่ที่ 121-149 องศาเซลเซียส และให้ติดตั้งในบริเวณที่เพดานมีอุณหภูมิสูงสุดไม่เกิน 107 องศาเซลเซียส

4. สีม่วง จะมีอุณหภูมิทำงานอยู่ที่ 163-191องศาเซลเซียส และให้ติดตั้งในบริเวณที่เพดานมีอุณหภูมิสูงสุดไม่เกิน 149 องศาเซลเซียส

5. สีดำ จะมีอุณหภูมิทำงานอยู่ที่ 204-246 องศาเซลเซียส และให้ติดตั้งในบริเวณที่เพดานมีอุณหภูมิสูงสุดไม่เกิน 191 องศาเซลเซียส

6. สีดำ จะมีอุณหภูมิทำงานอยู่ที่ 260-302 องศาเซลเซียส และให้ติดตั้งในบริเวณที่เพดานมีอุณหภูมิสูงสุดไม่เกิน 246 องศาเซลเซียส


สำหรับหัว Sprinkler ที่เราเห็นอยู่ทั่วไป ก็ได้แก่ รหัสีส้มหรือแดง ที่ใช้กับพื้นที่ทั่วๆไป และรหัสสีเขียว ที่ใช้กับพื้นที่ที่เป็นห้องครัว ส่วนสีอื่นๆ ที่เคยเห็นอยู่ก็จะใช้กับกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม

ไม่เจอกันนานวันนี้เลยไปหาของฝากมาให้ เป็นโปรแกรมสำหรับใช้ออกแบบระบบ Sprinkler ด้วยวิธี Hydraulic Calculation มีน้องที่รู้จักกันแนะนำมาบอกว่าใช้ได้ดีทีเดียว ถึงแม้ว่าจะเป็นโปรแกรมฟรี ก็ถ้าใครอยากได้มาลองใช้ก็หาใน Google แล้วพิมพ์ว่า

Program FREESHP หรือถ้าหาไม่เจอก็ส่งเมล์มาขอได้นะครับ แล้วอีกซักแป๊บจะทำคู่มือการใช้เป็นภาษาไทยมาฝากอีกทีแล้วกันนะครับ เจอกันเรื่องหน้านะครับ

วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2554

การคำนวณขนาดความจุแบตเตอรี่



ต้องบอกว่าบทความวันนี้ไม่ได้ คิดเองนะครับ แต่บังเอิญว่าลูกค้าที่ผมไปตรวจสอบ ส่งรายการคำนวณของไฟแสงสว่างฉุกเฉินมาให้ช่วยพิจารณา ซึ่งพอดูแล้วผมว่ามันน่าจะมีประโยชน์กับทุกคนนะครับ เผื่อว่าตอนที่เราจะเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับไฟแสงสว่างฉุกเฉิน เราจะได้เลือก Spec. ที่ถูกต้องกัน

สำหรับรายการคำนวณนี้เป็นของ ริษัท ซี-ทีแอล คอร์ปอเรชั่่น จำกัด

ซึ่งจำหน่ายอุปกรณ์ด้านไฟแสงสว่างฉุกเฉินและป้ายทางหนีไฟ ใครสนใจก็เข้าไปเวปไซด์เขาได้นะครับ
www.c-tl.com ที่ต้องสาธยายเยอะหน่อยไม่ใช่ว่าได้ค่าโฆษณานะครับ แต่ว่าเพื่อให้เกียรติกันนิด
และเหมือนที่บอกครับบล็อคของผมต้องการที่จะเผยแพร่ความรู้โดยไม่ได้หวังผลกำไรอะไร ดังนั้นเช่นเดียวกันถ้าใครเอาบทความจากบล็อคของผมไปลงในเวปไซด์ใดก็แล้วแต่ อย่างน้อยก็บอกที่มานะครับว่ามาจาก

http://www.safetyenvi.blogspot.com/ เผื่อเดี๋ยวจะมีคนงง ว่าผมไปลอกบทความจากคนอื่นมา 5555

เข้าเรื่องดีกว่า สำหรับ การคำนวณขนาดความจุแบตเตอรี่

ข้อกำหนด

ดวงโคมฉุกเฉินขนาด 35 วัตต์ (ปกติถ้าผมแนะนำก็จะให้ใช้หลอด 35 หรือ 55 วัตต์)
จำนวนดวงโคม 2 ดวง
ระยะเวลาการใช้งาน 2 ชั่วโมง
แรงดันไฟฟ้าของแบตเตอรี่ 12 โวลท์

การคำนวณ

กำลังไฟฟ้าที่จ่ายดวงโคม (Power), P = 2 x 35 วัตต์
= 70 วัตต์

กระแสไฟฟ้าที่จ่ายดวงโคม (I) = P/V

= 70/12

= 5.83 แอมแปร์(A)

ระยะเวลาการใช้งาน = 2 ชั่วโมง(h)

ดังนั้นกระแสไฟฟ้าที่จะต้องจ่ายดวงโคม = 5.83 x 2
= 11.66 Ah

คิดเผื่อไว้ 25% (ตามมาตรฐาน IEEE 1184-1994)

ดังนั้นกระแสไฟฟ้าที่จ่ายดวงโคมทั้งหมด = 11.66 x 1.25

= 14.57 Ah.

ดังนั้นจะเลือกใช้แบตเตอรี่ 12 Volt 15 Ah.

ผมว่าถึงแม้จะเป็นรายการคำนวณที่เป็นพื้นฐานทางไฟฟ้า แต่สำหรับผมที่ไม่ค่อยได้คำนวณเรื่องไฟฟ้าแล้ว ผมว่าโอเคเลยนะครับ ก็ลองเอาไปใช้ดูนะครับ สั่งแบตเตอรี่รอบหน้า จะได้ตอบได้ถ้ามีใครถามว่าทำไมต้องสั่งแบบนี้ ไว้เจอกันเรื่องหน้านะครับ

วันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เครื่องหมายและฉลากบนถังดับเพลิงมือถือ

เรื่องที่จะบอกกล่าวกันวันนี้ ตั้งใจจะเขียนมานานแล้วเหมือนกัน แต่ยังไม่ได้ฤกษ์เสียที พอดีตรุษจีนเลยเขียนเสียหน่อย (เกี่ยวกันไหมเนี๊ยะ) และเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจเหมือนกันว่าทำไมบริษัทที่รับบรรจุเคมีสำหรับถังดับเพลิงมือถือถึงไม่ได้ทำกัน ซึ่งจะว่าไปแล้วเรื่องพวกนี้ระบุอยู่ในมาตรฐาน มอก. อยู่แล้ว

อยากให้ลองสังเกตกันนะครับว่าเวลาเรานำถังดับเพลิงมือถือไปบรรจุสารเคมีใหม่ จะพบว่าเมื่อบรรจุเสร็จแล้วทางบริษัทผู้บรรจุ ได้ติดฉลากใหม่ให้เราหรือเปล่า ถ้าไม่ได้ติดนะครับ วันหลังถ้าอย่างไรแนะนำว่าให้เขาติดฉลากใหม่มาด้วยนะครับ ไม่อย่างนั้น เราคงไม่รู้ว่าเมื่อบรรจุใหม่แล้ว คุณสมบัติต่างๆของถังดับเพลิงมือถือของเรายังเหมือนเดิมหรือไม่ โดยอย่างน้อยๆ ระบุ ในส่วนของ ขนาดบรรจุ และ Fire Rating ก็ยังดีครับ และถ้าเป็นถังดับเพลิงมือถือชนิด คาร์บอนไดออกไซด์ ก็ต้องระบุน้ำหนักถังเปล่า รวมทั้งน้ำหนักของสารดับเพลิงรวมน้ำหนักของถังเปล่าด้วยนะครับ วันนี้เลยเอาตัวอย่างฉลากมาให้ดูเป็นตัวอย่างซัก 2 แบบนะครับ


ตัวอย่างฉลากสำหรับถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง



ตัวอย่างฉลากสำหรับถังดับเพลิงชนิดคาร์บอนไดออกไซด์


สำหรับเนื้อหาของมาตรฐาน มอก. สำหรับถังดับเพลิงมือถือ ชนิดผงเคมีแห้ง ดูได้ตามลิ้งค์นี้นะครับ
http://www.scribd.com/doc/48205399/TIS332-2537

อาทิตย์หน้าอยู่เชียงใหม่ทั้งสัปดาห์ แล้วจะหาเรื่องดีๆ มาฝากกันนะครับ

วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2554

การติดตั้ง Flow Meter สำหรับระบบเครื่องสูบน้ำดับเพลิง




วันนี้ก็กลับเข้าสู่ซีรี่ของเครื่องสูบน้ำดับเพลิงตามปกติ ซึ่งคาดว่าหมดเรื่องนี้แล้วจะ ก็จะเปลี่ยนซีรี่ ไปเขียนเรื่องอื่นสลับกันบ้าง เดี๋ยวจะเบื่อกันก่อน สำหรับวันนี้จะกล่าวถึงตำแหน่งการติดตั้ง Flow Meter สำหรับเครื่องสูบน้ำดับเพลิง โดยตำแหน่งการติดตั้งนั้น ให้ติดหลังจากที่ผ่าน Check Valve ไปแล้ว และที่สำคัญท่อในส่วน Flow Test Line นี้ ก็ต้องไม่ต่อกับท่อในส่วนอื่นใด นั่นคือต้องแยกเป็นอิสระ และสำหรับขนาดที่จะใช้นั้นจะต้องมีขนาดอย่างน้อยตามตารางที่กำหนดในมาตรฐานของ NFPA หรือมาตรฐาน วสท. ตามตารางข้างล่าง


และในส่วนที่จะต้องพิจารณาเพิ่มเติมนั้น ได้แก่

1. ขนาดของ Flow Meter จะต้องอ่านได้ไม่น้อยกว่า 175% ของขนาด Fire Pump ที่ออกแบบ

2. ระยะห่างของการติดตั้งวาล์วบริเวณด้านหน้าและด้านหลัว Flow Meter นั้นจะต้องเป็นไปตามคำแนะนำของผู้ผลิต


3. วาล์วบริเวณด้านหลัง Flow Meter ผมแนะนำให้ใช้เป็น Butterfly Valve เนื่องจากวาล์วชุดนี้จะเป็นชุดที่ไว้สำหรับปรับอัตราการไหล ในกรณีที่เราทำการทดสอบระบบเครื่องสูบน้ำดับเพลิง เนื่องจากจะปรับอัตราการไหลได้ง่ายกว่า OS&Y Gate Valve

โอเคนะครับไว้เจอกันเรื่องหน้า สำหรับช่วงนี้ใครพอจัดเวลาได้แวะไปไหว้ครูบ้างก็ดีนะครับ