วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ระดับความดังของอุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้




จำได้ว่าเคยเขียนบทความในเรื่องของการติดตั้งอุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ไป แล้ว ทั้งในส่วนของการแจ้งเหตุเพลิงไหม้ด้วยมือ และอุปกรณ์ตรวจจับเพลิงไหม้อัตโนมัติ ดังนั้นถ้าไม่พูดถึงเรื่องอุปกรณ์แจ้งเหตุ ก็คงไม่ครบถ้วน ลองมาดูกันว่าในมาตรฐานและกฎหมายมีการกำหนดระดับความดังไว้ว่าอย่างไรบ้าง

สำหรับ กฎหมายนั้น ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การป้องกันและระงับอัคคีภัยในสถานประกอบการ เพื่อความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง ระบุไว้ว่า "ระดับความดังเสียงของระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้จะต้องต้องมี ระดับความดังเสียงไม่น้อยกว่า 100 dBA วัดจากจุดกำเนิดของเสียงหนึ่งเมตรโดยรอบ"

คราวนี้มาลองดูมาตรฐานกันบ้าง โดยในมาตรฐานระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ของ วสท. ระบุค่าต่างๆ ไว้ดังนี้
  • ระดับความดังของเสียงที่จุดใดๆ ต้องไม่น้อยกว่า 65 dB และไม่เกิน 120 dB
  • ความดังของเสียงสัญญาณต้องดังกว่าเสียงรบกวนเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 15 dB เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 60 วินาที
  • สำหรับสัญญาณเสียงที่ต้องการปลุกผู้อยู่อาศัยที่กำลังหลับอยู่ ต้องมีระดับความดังของเสียงไม่น้อยกว่า 70 dB เมื่อวัดในตำแหน่งที่หลับอยู่
เรามาดูตัวอย่างเปรียบเทียบระดับเสียงจากแหล่งกำเนิดและสภาพแวดล้อมต่างๆ กัน จะได้พอจินตนาการได้ว่า ระดับเสียงที่กำหนดนั้นพอเทียบเคียงกับเสียงอะไรได้บ้าง

- 10 dBA เสียงการหายใจปกติ
- 20 dBA เสียงกระซิบที่ระยะ 5 ฟุต
- 30 dBA เสียงกระซิบเบาๆ
- 50 dBA เสียงฝน
- 60 dBA เสียงสนทนาปกติ
- 70 dBA เสียงเครื่องซักผ้า
- 85 dBA เสียงในร้านอาหารที่จอแจ
- 90 dBA เสียงตะโกนคุยกัน
- 95 dBA เสียงจักรยานยนต์
- 110 dBA เสียงขุดเจาะถนน
- 120 dBA เสียงฟ้าผ่า

ข้อมูลข้างต้นหามาจากในหลายๆ แหล่งใครอยากทราบเพิ่มเติมลองดูใน google ได้นะ แต่จะว่าไปแล้วเครื่องซักผ้าดังตั้ง 70 dBA นี่มันรุ่นไหนนะ 555......

วันนี้มีรูปมาฝากเช่นเคยเป็นรูปสัญญาณมือที่ใช้ในการสื่อสารการเปิดปิดหัวดับเพลิง เผื่อว่าจะมีใครเอาไปใช้กัน ไว้เจอกันเรื่องหน้านะครับ ตอนนี้ก็หน้าฝนแล้วระวังด้วยละ



1 ความคิดเห็น: