วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ระดับความดังของอุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้




จำได้ว่าเคยเขียนบทความในเรื่องของการติดตั้งอุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ไป แล้ว ทั้งในส่วนของการแจ้งเหตุเพลิงไหม้ด้วยมือ และอุปกรณ์ตรวจจับเพลิงไหม้อัตโนมัติ ดังนั้นถ้าไม่พูดถึงเรื่องอุปกรณ์แจ้งเหตุ ก็คงไม่ครบถ้วน ลองมาดูกันว่าในมาตรฐานและกฎหมายมีการกำหนดระดับความดังไว้ว่าอย่างไรบ้าง

สำหรับ กฎหมายนั้น ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การป้องกันและระงับอัคคีภัยในสถานประกอบการ เพื่อความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง ระบุไว้ว่า "ระดับความดังเสียงของระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้จะต้องต้องมี ระดับความดังเสียงไม่น้อยกว่า 100 dBA วัดจากจุดกำเนิดของเสียงหนึ่งเมตรโดยรอบ"

คราวนี้มาลองดูมาตรฐานกันบ้าง โดยในมาตรฐานระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ของ วสท. ระบุค่าต่างๆ ไว้ดังนี้
  • ระดับความดังของเสียงที่จุดใดๆ ต้องไม่น้อยกว่า 65 dB และไม่เกิน 120 dB
  • ความดังของเสียงสัญญาณต้องดังกว่าเสียงรบกวนเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 15 dB เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 60 วินาที
  • สำหรับสัญญาณเสียงที่ต้องการปลุกผู้อยู่อาศัยที่กำลังหลับอยู่ ต้องมีระดับความดังของเสียงไม่น้อยกว่า 70 dB เมื่อวัดในตำแหน่งที่หลับอยู่
เรามาดูตัวอย่างเปรียบเทียบระดับเสียงจากแหล่งกำเนิดและสภาพแวดล้อมต่างๆ กัน จะได้พอจินตนาการได้ว่า ระดับเสียงที่กำหนดนั้นพอเทียบเคียงกับเสียงอะไรได้บ้าง

- 10 dBA เสียงการหายใจปกติ
- 20 dBA เสียงกระซิบที่ระยะ 5 ฟุต
- 30 dBA เสียงกระซิบเบาๆ
- 50 dBA เสียงฝน
- 60 dBA เสียงสนทนาปกติ
- 70 dBA เสียงเครื่องซักผ้า
- 85 dBA เสียงในร้านอาหารที่จอแจ
- 90 dBA เสียงตะโกนคุยกัน
- 95 dBA เสียงจักรยานยนต์
- 110 dBA เสียงขุดเจาะถนน
- 120 dBA เสียงฟ้าผ่า

ข้อมูลข้างต้นหามาจากในหลายๆ แหล่งใครอยากทราบเพิ่มเติมลองดูใน google ได้นะ แต่จะว่าไปแล้วเครื่องซักผ้าดังตั้ง 70 dBA นี่มันรุ่นไหนนะ 555......

วันนี้มีรูปมาฝากเช่นเคยเป็นรูปสัญญาณมือที่ใช้ในการสื่อสารการเปิดปิดหัวดับเพลิง เผื่อว่าจะมีใครเอาไปใช้กัน ไว้เจอกันเรื่องหน้านะครับ ตอนนี้ก็หน้าฝนแล้วระวังด้วยละ



วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

อาบน้ำฝักบัวอันตราย


วันก่อนมีโอกาสไปอ่านเจอข่าวในเวปไซด์แห่งหนึ่ง พูดถึงเรื่องว่า นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯมีความเห็นว่าการอาบน้ำจากฝักบัวอาจจะไม่ค่อยถูกอนามัยเท่าใดนัก เพราะได้พบว่า การเปิดน้ำรดหัวอาจจะปล่อยให้แบคทีเรียที่เป็นอันตรายไหลออกมาโดนเต็มหน้าผู้อาบก็ได้ ซึ่งได้มีการค้นคว้าพบว่า ฝักบัวอาบน้ำมีเชื้อแบคทีเรีย เกือบ 1 ใน 3 จากการตรวจหาเชื้อตามเมืองต่างๆ 9 เมือง ใน 7 รัฐด้วยกัน เป็นที่อยู่อาศัยของเชื้อโรค ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคปอดระดับสูง โดยผลการศึกษาระบุว่า การค้นพบอาจจะเป็นสาเหตุว่า ทำไมถึงมีผู้ป่วยปอดอักเสบ มากขึ้นในช่วง 2-3 ปีมานี้ โดยเฉพาะทั้งกับผู้ที่อาบน้ำบ่อย หรือไม่ค่อยได้อาบน้ำ น้ำที่ไหลจากฝักบัวบนหัว อาจจะปล่อยละอองน้ำที่เต็มไปด้วยแบคทีเรีย ทั้งที่มีอยู่ในอากาศ ซึ่งอาจสูดหายใจลงไปในก้นบึ้งของปอดได้โดยง่าย แต่ก็ได้มีความเห็นเสริมว่า ที่จริงคนที่แข็งแรงที่สุดอาจจะไม่ค่อยมีปัญหา แต่กับคนที่ระบบภูมิคุ้มกันโรคอ่อนแออย่างเช่น ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ หรือผู้ที่ป่วยด้วยโรคอื่นอยู่แล้ว อาจจะติดโรคได้ง่าย ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคปอดอักเสบ ที่มีอาการ เหนื่อย ไอแห้ง และหายใจหอบ


จากข้อมูลข้างต้นท่าจะว่าไปแล้วผมก็พอได้ยินข่าวมาหลายปีแล้วว่าโรคดังกล่าว หรือที่เขาเรียกกันว่า โรคลีเจียนแนร์ (Legionnaires) ที่เกิดจากเชื้อลีจิโอเนลลา (Legionella) ซึ่งในประเทศไทยก็ได้มีการเฝ้าระวังมาหลายปีแล้ว ซึ่งผมเคยเห็นผลสำรวจของกรมอนามัยพบว่าบริเวณฝักบัวอาบน้ำจากตัวอย่างที่สุ่มเก็บพบเชื้อลีจิโอเนลลาถึง 36% โดยเชื้อดังกล่าวนี้มักเจริญเติบโตได้ดีในน้ำช่วงอุณหภูมิ 35-46 องศาเซลเซียส และจะพบเชื้อดังกล่าวได้มากใน หอผึ่งระบายความร้อน(Cooling Tower),ก็อกน้ำ,อ่างอาบน้ำ,อ่างล้างหน้า และบ่อพักน้ำ เป็นต้น เมื่อพิจารณาถึงช่วงอุณหภูมิที่เชื้อลีจิโอเนลลา เจริญเติบโตได้ดีแล้ว จะเห็นว่าเป็นช่วงของอุณหภูมิน้ำอุ่นซึ่งตามโรงแรมต่างๆ ที่เราเข้าพักก็มักจะมีน้ำอุ่นให้อาบกัน ซึ่งตามฝักบัวอาบน้ำนี่แหละเป็นแหล่งเพาะพันธ์ชั้นดีของเชื้อเหล่านี้เลย แต่ถ้าเราเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอาบน้ำอุ่น (จะบอกว่าส่วนตัวก็ชอบอาบน้ำอุ่นมาก) ก็ให้ทำอย่างนี้นะครับ ลองเอาไปใช้ดู ให้เปิดน้ำร้อนฝั่งน้ำร้อนนะไม่ต้องผสม ซึ่งอุณหภูมิของฝั่งน้ำร้อนโดยทั่วไปจะตั้งไว้ที่ 55-60 องศาเซลเซียส (ถ้าออกแบบดีๆนะ เพราะเคยเจอบางที่ตั้งไว้แค่ประมาณสี่สิบกว่าองศาเซลเซียส ซึ่งก็ต้องแนะนำกันไป) เปิดทิ้งไว้ซัก 1 นาที แล้วค่อยอาบ ก็พอจะทำให้เชื้อตายได้ แต่ถ้าให้ตายสนิท ก็ต้องประมาณครึ่งชั่วโมง คงเปลืองน้ำน่าดู แต่ไม่ต้องกังวลไปหรอกครับเพราะปัจจุบันกรมอนามัยก็มีการสุ่มตรวจสถานประกอบการกันอยู่แล้ว ซึ่งถ้าพบก็ต้องแก้ไข และฝากสำหรับผู้ออกแบบไว้นะครับออกแบบระบบผลิตน้ำร้อนก็ต้องเลือกอุณหภูมิให้ไม่ต่ำกว่า 55 องศาเซลเซียส แต่ตึกใหม่ๆไม่น่าจะมีปัญหา

วันนี้มีรูปมาฝากครับไว้ดูกันเพลินๆ มีคนเอามาฝากครับถ่ายจากโรงแรมที่ฝรั่งเศส บ้านเราไม่มีบ้างนะ