วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2552

อาคารเก็บสารเคมีขนาดเล็กต้องมีอะไรบ้าง

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีโอกาสไปตรวจสอบโรงงานอยู่ 3 แห่ง ก็ได้เห็นการจัดเก็บสารเคมีของแต่ละที่แตกต่างกันออกไป ก็ถือว่าดีนะ แต่ก็มีข้อแนะนำกันไปบ้างเล็กน้อย ก็เลยนำเรื่องอาคารเก็บสารเคมีมาฝากกันเสียหน่อย แต่วันนี้จะขอหยิบยก ในส่วนของสถานที่เก็บสารเคมีขนาดเล็ก สำหรับนำมาปรับใช้ เพื่อให้เห็นในภาพรวมและอุปกรณ์พื้นฐานที่จะต้องจัดให้มี ส่วนรายละเอียดที่เกี่ยวกับการเก็บรักษาสารเคมีและวัตถุอันตราย สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลกันได้ในส่วนของ (คู่มือการเก็บรักษาสารเคมีและวัตถุอันตราย) (ซึ่งเป็นประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม)

แต่ต้องขอบอกไว้ก่อนอย่างหนึ่งนะครับว่าที่จริงแล้วกรมควบคุมมลพิษ นั้นมีการจัดทำคู่มือเกณฑ์ปฏิบัติสำหรับสารเคมีสำหรับสถานที่เก็บสารเคมีขนาดเล็ก ไว้อยู่เหมือนกัน แต่ว่าคำจำกัดความของสถานที่เก็บสารเคมีขนาดเล็กในคู่มือระบุว่า " สถานที่เก็บสารเคมีขนาดเล็ก หมายถึง อาคารหรือสถานที่ที่เก็บสารเคมี เพื่อประโยชน์ในการใช้ ผลิต การจัดเก็บและการจำหน่าย ได้แก่ โกดังให้เช่า ร้านค้าส่ง และค้าปลีกสารเคมี หรือสถานที่เก็บสารเคมีขนาดเล็กที่ไม่เข้าข่ายตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 " ซึ่งจุดมุ่งหมายที่ออกคู่มือหลักเกณฑ์ขึ้นมาก็เพื่อให้ไว้เป็นเกณฑ์สำหรับอาคารที่ไม่เข้าข่ายการควบคุมตาม พ.ร.บ.โรงงาน แต่ที่ได้ศึกษาในรายละเอียดแล้วผมว่าหลายอย่างเหมือนกันนะ แต่อาจจะไม่เข้มเท่าและมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่เหมือนกันบ้างในบางรายการ ใครสนใจก็ไปหาอ่านกันได้นะครับ (คู่มือเกณฑ์ปฏิบัติสำหรับสถานที่เก็บสารเคมีขนาดเล็ก)
อย่างที่เกริ่นไว้ตั้งแต่ต้นแหละครับว่าวันนี้จะเอาเรื่องสถานที่เก็บสารเคมีขนาดเล็กมาฝาก ซึ่งสิ่งที่ต้องพิจารณาในจัดเตรียมนั้นมีรายการเบื้องต้นต่างๆ ได้แก่

1. สถานที่ตั้งและอาคารเก็บสารเคมี
โดยจะต้องเป็นสถานที่ที่สะดวกแก่การขนส่งและเข้าถึงได้เร็วเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ส่วนตัวอาคารจะต้องสร้างด้วยวัสดุไม่ติดไฟ พื้นอาคารก็จะต้องมั่นคงแข็งแรงไม่กักขังน้ำหรือลื่นซึ่งอาจเกิดอันตรายได้(ไม่อยู่ในบริเวณที่มีน้ำท่วมถึงได้)



2. การป้องกันการรั่วไหล
บริเวณพื้นที่จัดเก็บต้องมีท่อระบายน้ำทิ้งที่ระบายน้ำปนเปื้อนสารเคมีในกรณีเกิดการรั่วไหล หรือน้ำดับเพลิงที่ปนเปื้อนสารเคมีแยกออกจากท่อระบายน้ำฝน ซึ่งในเรื่องนี้เราอาจจะทำเป็นลักษณะเขื่อนกั้นและทำบ่อสูบไว้เพื่อจะได้นำเครื่องสูบน้ำมาสูบน้ำที่ปนเปื้อนไปกำจัดต่อไป สำหรับพื้นที่ที่เก็บสารเคมีที่ไม่ใช่ลักษณะอาคารปิด ก้ออย่าลืมดูแลบ่อเป็นประจำนะครับอย่าให้น้ำขังแล้วกัน เพื่อว่าจะได้พร้อมต่อการรับมือในกรณีเกิดการรั่วไหลขึ้น นอกจากนี้ต้องจัดให้วัสดุที่มีคุณสมบัติดูดซับของเหลวได้เพื่อดูดซับสารเคมีที่หกรั่วไหล เช่น ทราย หรือขี้เลื่อย เป็นต้น และที่สำคัญที่ขาดไม่ได้คือจะต้องจัดทำแผนปฏิบัติการในกรณีเกิดการรั่วไหลและฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง






3. การระบายอากาศ
ต้องมีการระบายอากาศที่เหมาะสมโดยพิจารณาการจัดเตรียมช่องระบายอากาศหรือพัดลมระบายอากาศแล้วแต่กรณีซึ่งกรณีที่ใช้พัดลมระบายอากาศจะเลือกอัตราการระบายอากาศอยู่ที่ 15-20Air Change และวัสดุของพัดลมควรใช้เป็นPVCเพื่อป้องกันการกัดกร่อนต่างๆ แต่ถ้าใช้เป็นแบบช่องระบายอากาศก็ให้มีพื้นที่เปิดของช่องระบายอากาศไม่น้อยกว่า15%ของพื้นที่อาคาร


4. อุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัย
ต้องติดตั้งเครื่องดับเพลิงและสารดับเพลิงที่เหมาะสมกับสารเคมีที่จัดเก็บ







5. ป้ายและอุปกรณ์ความปลอดภัย
บริเวณประตูทางเข้าภายในพื้นที่ต้องติดเครื่องหมายและสัญลักษณ์แสดงข้อความควรระวัง และสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตรายของสารเคมี ถ้าให้ดีก็ควรมีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลให้พนักงานได้สวมใส่ให้เหมาะกับสารเคมีที่จัดเก็บสำหรับในการปฏิบัติงาน ซึ่งก็ควรต้องดูความเหมาะสมของพื้นที่ประกอบกันด้วย รวมไปถึงอาจจัดให้มีที่อาบน้ำฉุกเฉินที่ล้างตาฉุกเฉินตามความจำเป็นและความเหมาะสมกับคุณสมบัติของสารเคมี


6. เอกสารความปลอดภัย
ให้แสดงข้อมูลความปลอดภัยเกี่ยวกับสารเคมี (MSDS) ให้พนักงานที่เกี่ยวข้องทราบรายละเอียดข้อมูลของสารเคมีแต่ละชนิดในส่วนของข้อมูลพื้นฐาน,ข้อควรระวังในขณะปฏิบัติงาน,การใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล,การปฐมพยาบาลเบื้องต้น,ข้อปฏิบัติกรณีหกรั่วไหลหรือเกิดเพลิงไหม้ โดยอาจจะจัดเก็บไว้ยังบริเวณพื้นที่เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน

และที่สำคัญอีกอย่างสำหรับบริเวณพื้นที่ที่จัดเก็บสารเคมีประเภทไวไฟ ต้องติดตั้งระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดป้องกันการระเบิด (Explosion Proof)



วันนี้ก็คงแค่นี้นะครับแต่ขอแจ้งข่าวดีไว้กับทุกคนที่ติดตามอ่าน Blog กัน ตอนนี้ผมได้ติดต่อเพื่อนๆหลายๆคนให้มาช่วยเขียนบทความที่เป็นประโยชน์มาให้พวกเราได้อ่านกัน เผื่อว่าจะเบื่อผมแล้ว 555+

8 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ9/25/2553 8:02 ก่อนเที่ยง

    เป็นประโยชน์มาก ขอบคุณครับ
    ชัยพฤกษ์

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ2/19/2554 11:45 ก่อนเที่ยง

    ด้วยกฎหมายบ้านเรากำหนดให้มีบ่อเก็บรวบรวมน้ำดับเพลิงที่ปนเปื้อนสารเคมี

    ผมอยากทราบว่ามีกฎหมายที่ระบุให้บริเวณรอบๆอาคารเก็บสารเคมีต้องเทพื้นคอนกรีตด้วนรึปล่าวครับ

    ขอบคุณครับ
    มนัส

    ตอบลบ
  3. To คุณมนัส

    กฎหมายที่กำหนดพื้นที่โดยรอบต้องเทพื้นคอนกรีตเท่าที่ทราบ ผมยังไม่เคยเจอนะครับ มีแต่แค่บอกว่าพื้นโรงเก็บสารเคมีจะต้องทนน้ำและสารเคมี แต่ถ้าทำก็ดีนะครับ เพราะถ้า Auditor ไปตรวจ อาจจะมีข้อเสนอแนะให้ทำ เนื่องจากป้องกันการปนเปื้อนสู่ดิน

    ประมุข

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ9/17/2557 2:28 หลังเที่ยง

    มีรายชื่อโกดังที่ให้เช่าบ้างไหมคะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ไม่ทราบว่าต้องการแถวไหนหรือครับ จะได้แนะนำได้ถูก

      ประมุข

      ลบ
    2. แถวบางนา ถนนศรีนคริทร์อ่ะค่ะ หรือไม่ก็ใกล้เคียงกับพื้นที่ที่ได้ระบีไป

      ลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ12/25/2557 2:28 หลังเที่ยง

    รบกวนขอรายชื่อสถานที่ให้เช่าเพื่อเก็บสารเคมีที่เป็นวัตถุไวไฟ ที่ถูกต้องตามเกณฑ์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม แถวลำลูกกา ปทุมธานี

    ขอบคุณค่ะ
    ปิยาภัสร์

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ต้องลองติดต่อนิคมอุตสาหกรรม ดูนะครับ
      ถามคนที่รู้จักที่ให้เช่าคลังสินค้า เขาไม่รับ
      (ระบบไม่พร้อม)

      ประมุข

      ลบ