วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ด้านดูดของเครื่องสูบน้ำดับเพลิง

หายไปซักพัก แต่กลับมาต่อเรื่องเครื่องสูบน้ำดับเพลิงกันนะครับ กะว่าจะเขียนตั้งแต่ด้านดูดของเครื่องสูบน้ำต่อจนไปถึงด้านจ่ายเลย วันนี้เลยเริ่มตั้งแต่ด้านดูดกันก่อน

สำหรับด้านดูด (Suction Line) มีข้อที่ต้องพิจารณาอยู่หลายประเด็น แต่พอสรุปได้ดังนี้

1. วาล์วที่ด้านดูดจะต้องใช้เป็น OS&Y Gate Valve ข้อนี้สำคัญนะครับ อย่าใช้ Butterfly Valve เนื่องจากเป็นการเพิ่ม Loss ให้กับระบบ รวมทั้งจะทำให้เกิดการปั่นป่วนในท่อด้านดูด (อย่างที่เห็นในรูปก็ถือว่าผิดมาตรฐานนะครับ เพราะท่อที่ต่อจากถังน้ำ นั้นเป็น Butterfly Valve)

2. ความยาวของท่อด้านดูดนั้น จะต้องไม่ยาวกว่า 10 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางของท่อด้านดูด สมมติว่าท่อด้านดูดขนาด 8" (20 cm.) ท่อด้านดูดก็ไม่ควรยาวมากกว่า 200 cm. (2 m.) ดังนั้นการออกแบบถังสำรองน้ำดับเพลิงกับเครื่องสูบน้ำก็ไม่ควรให้ห่างกันมาก เหตุผลก็เพื่อไม่ให้ Loss ทางด้านดูดสูง ถ้าสังเกตจากรูปด้านล่าง จะเห็นว่าท่อด้านดูดเดินค่อนข้างยาว


3. ห้ามติดตั้งเครื่องสูบน้ำชนิดแรงเหวี่ยงหนีศูนย์ แบบ Split-Case หรือ End Suction สูบน้ำจากแหล่งน้ำ หรือถังสำรองน้ำดับเพลิง ที่มีระดับน้ำใช้งานต่ำสุดในถัง ต่ำกว่าตัวเครื่องสูบน้ำ ในประเด็นนี้นะครับจากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่า Foot Valve ทางด้านดูด รั่วเป็นประจำสม่ำเสมอ จะทดสอบกันทีก็ต้องล่อน้ำกันตลอด

4. ท่อด้านดูดต้องติดตั้ง Anti-Vortex Plate ไว้ด้วยนะครับ ส่วนขนาดนั้นก็ให้ไม่น้อยกว่า 3 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางของท่อด้านดูด ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการดูดอากาศเข้าไปในระบบ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าการติดตั้งถูกต้องทั้งหมดแต่ไม่ได้มีการบำรุงดูแลรักษา ก็เปล่าประโยชน์ครับ เพราะว่าพอถึงเวลาจะใช้งานเครื่องสูบน้ำดับเพลิงกลับสตาร์ทไม่ได้ ผิดกับบางที่ที่ถึงแม้จะติดตั้งไม่ถูกต้อง 100% แต่ถ้ามีการดูแล ความเสี่ยงที่จะใช้งานไม่ได้ก็น้อยลง แต่ถ้าติดตั้งใหม่ๆ ก็ขอให้ยึดถือมาตรฐานเป็นหลักก็จะดีนะครับ ยิ่งถ้าทำประกันภัยด้วยแล้ว รับรองครับว่ายังไงเสียก็ต้องโดน Comment แน่นอน

พบกันเรื่องหน้านะครับ วันนี้ขอตัวทำงานต่อ รู้สึกว่าไม่ทันแล้ว 5555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น