วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2552

อาคารเขียวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในช่วงปีนี้ถือว่ากระแสของการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมค่อนข้างจะได้รับความสนใจค่อนข้างมากทีเดียวส่วนหนึ่งคงมาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอีกครั้งและปัญหาของภาวะโลกร้อนที่หลายฝ่ายวิตกกังวลกัน รวมถึงภาครัฐและเอกชนหันมาให้ความสำคัญด้านการใช้พลังงานและใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น อันจะสังเกตได้จากในปีที่ผ่านมามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องออกมาในหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นกฎกระทรวงพลังงานในเรื่องการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งอาคารหากมีขนาดพื้นที่รวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกันตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 7 ประเภทอาคารจะต้องออกแบบโดยพิจารณาในเรื่องการอนุรักษ์พลังงานด้วย (สำหรับรายละเอียดสามารถเข้าไปดูได้ที่ กฎกระทรวงในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน) รวมถึงประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในเรื่องการแก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติมการกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน ที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยได้มีการปรับปรุงในรายละเอียดของโครงการบางโครงการ เช่น อาคารประเภทโรงแรม เดิมกำหนดให้โรงแรมที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไปต้องจัดทำรายงานฯ แต่ในประกาศกระทรวงฉบับนี้ได้เพิ่มเงื่อนไขโดยถ้าโรงแรมมีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 4,000 ตารางเมตรขึ้นไปก็จะต้องจัดทำรายงานฯ ด้วยเช่นกัน ซึ่งประกาศกระทรวงฉบับนี้ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เหล่านี้เป็นต้น และนอกจากนี้เมื่อต้นปี วิศวกรรมกรรมสถานแห่งประเทศไทยร่วมกับสมาคมสถาปนิกสยามได้ร่วมกันจัดตั้งสถาบันอาคารเขียวและได้ทำหลักเกณฑ์การประเมินอาคารเขียวซึ่งปัจจุบันยังเป็นฉบับร่างอยู่ ก็เลยถือโอกาสนำหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินมาเล่าสู่กันฟังพอสังเขป ดังนี้

สำหรับหลักเกณฑ์การประเมินอาคารเขียวนั้นเบื้องต้นเราใช้ต้นแบบมาจาก LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์อาคารเขียวของสภาอาคารเขียวสหรัฐอเมริกา,กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และกรมควบคุมมลพิษ

โดยเกณฑ์ในการประเมินนั้นจะมองตั้งแต่การออกแบบในตอนเริ่มโครงการและตลอดช่วงของการก่อสร้าง ซึ่งจะพิจารณาในรายละเอียดต่างๆตั้งแต่การเลือกพื้นที่ก่อสร้าง การเตรียมพื้นที่ก่อสร้าง ประสิทธิภาพของการใช้น้ำ พลังงานและบรรยากาศโดยรอบ การเลือกวัสดุและแหล่งที่มา รวมไปจนถึงคุณภาพของสิ่งแวดล้อมภายในอาคารและการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการประเมิน 8 หมวดด้วยกันคือ

หมวดที่ 1 การบริหารจัดการอาคาร (Building Management)

หมวดที่ 2 ผังบริเวณและภูมิทัศน์ (Site and Landscape)

หมวดที่ 3 การอนุรักษ์น้ำ (Water Conservation)

หมวดที่ 4 การใช้พลังงานและบรรยากาศ (Energy and Atmosphere)

หมวดที่ 5 วัสดุและทรัพยากรในการก่อสร้าง (Material and Resources)

หมวดที่ 6 คุณภาพของสภาวะแวดล้อมภายในอาคาร
(Indoor Environmental Quality)

หมวดที่ 7 การป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection)

หมวดที่ 8 นวัตกรรม (Green Innovation)

ซึ่งในแต่ละหมวดหมู่จะมีหัวข้อแยกย่อยออกไปและมีคะแนนให้ตามแต่ละหัวข้อ สำหรับระดับคะแนนที่อาคารจะขอรับการรับรองนั้นตามร่างที่ได้มายังไม่เห็นระบุไว้นะครับคงต้องติดตามกันต่อไป (สำหรับเกณฑ์การประเมินอาคารเขียว (ร่าง) โหลดดูจากหน้า Blog ได้เลยครับ) แต่คิดว่าน่าจะมีระดับคะแนนแล้วระบุขั้นว่าเป็นขั้นไหน เช่น ระดับ Silver, Gold หรือ Platinum อะไรทำนองนี้

หวังว่าในอนาคตเราคงได้เห็นอาคารเขียวเกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน แต่ทั้งนี้คงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ถ้าผู้ประกอบการภาคเอกชนทำดีภาครัฐก็ควรให้การสนับสนุนเพื่อที่ว่าจะได้มีแรงจูงใจในการปฏิบัติ วันนี้ผมเลยขอนำรูปอาคารบางอาคารที่ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมสีเขียวดีเด่น ASA Green Award 2009 ซึ่งประกาศผลไปเมื่อไม่นานมานี้ มาฝากกันให้ชมเพื่อเป็นการเรียกน้ำย่อยกันหน่อย สำหรับจุดเด่นของอาคารที่ได้รับรางวัลทั้งหมดในครั้งนี้สามารถดูได้จากเวปไซด์ของสมาคมสถาปนิกสยาม http://www.asa.or.th/?q=node/99809 นะครับ แล้วพบกันใหม่ตอนต่อไป

ธนาคารกสิกรไทย สาขาแจ้งวัฒนะ


โรงงาน Interface Modernform



The Avenue รัชโยธิน Siam Future

(ภาพของอาคารที่แสดงข้างต้นนำมาจากส่วนหนึ่งของเวปบอร์ดสมาคมสถาปนิกสยาม)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น